พบ SMEs ตกสำรวจ 2.7 ล้านราย

21 ก.ค. 2561 | 22:22 น.
เอสเอ็มอีแบงก์จับมือม.หอการค้าไทย สำรวจเอสเอ็มอีทั่วประเทศ พบเอสเอ็มอีจิ๋ว ตกสำรวจ สูงถึง 2.7 ล้านรายจาก 5.2 ล้านราย พร้อมเต็มเติมช่องว่าง วงเงินสูงสุด 1 ล้านบาทต่อราย ผ่านสินเชื่อ 1%ต่อปี ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยฯร่วมกับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย(ธพว.)สำรวจจำนวนผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม(SMEs)ไทยพบว่า ยังมีผู้ประกอบการรายย่อยหรือ เอสเอ็ม อีจิ๋ว ไม่มีจดนับในสำมะโนธุรกิจและอุตสาหกรรมอีก 2.76 ล้านราย แบ่งเป็น กลุ่มผู้ค้า-แผงค้าในตลาด 1.29 ล้านราย กลุ่มหาบเร่หรือแผงลอย 564,039 ราย กลุ่มรถจำหน่ายอาหารเคลื่อนที่ Food Truck + รถพุ่มพวง 90,437 ราย กลุ่มร้านค้าออนไลน์ 412,004 ราย กลุ่มร้านแฟรนไชส์ 4,900 ราย กลุ่มผู้ค้าสลากกินแบ่งรัฐบาลรายย่อย 170,938 ราย และผู้ประกอบการอื่นๆ 231,315 ราย

ดังนั้นเมื่อรวมกับข้อมูลการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.)และข้อมูลสำมะโนธุรกิจและอุตสาหกรรม พ.ศ. 2560 ซึ่งมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย มีประมาณ 2.49 ล้านราย จะทำให้ปัจจุบันผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยมีมากกว่าถึง 5.25 ล้านราย

จากข้อมูลข้างต้น ยังพบว่า กลุ่มเอสเอ็มอีจิ๋วที่ไม่ได้จดทะเบียนสามารถเข้าถึงแหล่งทุนผ่านสถาบันการเงินในระบบปกติได้เพียง 20.86% เท่านั้น ส่วนใหญ่ใช้ทุนส่วนตัวถึง 39.61% โดยสาเหตุหลักเพราะไม่อยากเป็นหนี้ 38.14% ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน 20.75% ไม่ผ่านการพิจารณา 12.80% ขั้นตอนเยอะไม่ทันต่อความต้องการ และไม่รู้จะกู้อย่างไร 11.86% และยังพบว่า เอสเอ็มอีจิ๋วมีหนี้สินในระบบ 49.30% และหนี้นอกระบบ คิดเป็น 50.70% จากแหล่งเงินกู้นอกระบบและญาติพี่น้องคนสนิท

นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธพว.กล่าวว่า ผลสำรวจพบว่า เอสเอ็มอีจิ๋ว 44.59% ต้องการกู้เงินกู้ในระบบ แต่ยังไม่มีสถาบันการเงินเข้าไปดูแลวงเงินกู้ไม่เกิน 1 ล้านบาท ดังนั้นธนาคารพร้อมจะเข้าไปสนับสนุนผ่านสินเชื่อเถ้าแก่ 4.0 สำหรับนิติบุคคล คิดอัตราดอกเบี้ย1% ต่อปี ตลอดอายุสัญญา 7 ปี ไม่ต้องใช้หลักประกัน ปลอดชำระเงินต้น 3 ปี และสามารถรู้ผลได้ในเวลา 7 วันเท่านั้น

หน้า 23-24 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,379 วันที่ 1 - 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2561