ลุ้น! 6 ตลาดกลางยางพารา ราคาเดียว ล่มหรือไม่ล่ม?

01 ก.ค. 2561 | 08:11 น.
วันพรุ่งนี้ดีเดย์ 2 ก.ค. เปิด 6 ตลาดราคาเดียว ผู้บริหารตลาดกลางยาง สุราษฎร์ ลุ้นตัวโก่ง หวั่นตลาดล่ม พ่อค้า–ผู้ส่งออกไม่มาซื้อขาย 'เยี่ยม' ไม่ง้อพ่อค้า ยันมี 6 โรงงานช้อนรับซื้อแทน ออกตัวราคาตั้งเป็นธรรมทุกห่วงโซ่ 'อุทัย' เผย 250 ล้าน อยู่ได้ 2 วัน ตลาดกลางเจ๊ง ซ้ำรอยบัฟเฟอร์ ฟันด์

จากการที่ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) จะมีการกำหนดราคายางพาราแผ่นดิบ และยางแผ่นรมควันชั้น 3 ราคาเดียวทั้ง 6 ตลาดกลางนั้น โดยคณะกรรมการราคากลาง ที่จะประกาศราคารับซื้อในเวลา 09.00 น. ของทุกวัน โดยในวันแรกจะเริ่มในวันที่ 2 ก.ค. 2561 นั้น แต่ละภาคส่วนคิดเห็นอย่างไร


appIMG_0125-696x385-1

นายญาณกิตติ์ ฮารุดีน หัวหน้าสำนักงานตลาดกลางยางพาราจังหวัดสุราษฎร์ธานี เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า จากการที่ทางผู้บริหารจะมีนโยบายใหม่ ทางสำนักงานได้มีการประชาสัมพันธ์และเชิญขวนให้กับผู้ซื้อกว่า 10 ราย ได้รับทราบและให้เข้ามาซื้อขายกันปกติ แต่อีกด้านหนึ่งก็หวั่นตลาดล่ม เพราะไม่ทราบเลยว่า ทางพ่อค้า นายหน้า และผู้ส่งออกจะมาซื้อขายหรือไม่ แล้วถ้าไม่มาซื้อขาย ตลาดก็จะมีแต่ผู้ขายอย่างเดียว ก็เป็นไปไม่ได้ วันนั้นก็ต้องยกเลิกไปโดยปริยาย

ส่วนเงิน 250 ล้านบาทที่ใช้ใน 6 ตลาดนั้น เป็นเงินหมุนเวียนที่จะใช้สำรอง ในกรณีที่การซื้อขายสำเร็จแล้วทางตลาดกลางจะให้เกษตรกรไปก่อน ไม่ใช่เงินซื้อยางพาราโดยตรง แต่หากจะใช้หน่วยธุรกิจ หรือบียูเข้ามาซื้อก็เป็นไปได้ แต่ถ้าซื้อ 6 ตลาดพร้อมกัน จะต้องใช้เงินจำนวนมาก ปัจจุบัน (ต.ค. 60 ถึงปัจจุบัน) มีการซื้อขายยางพาราผ่านตลาดกลางยางพารา จ.สุราษฎร์ธานี จำนวน 2.5 หมื่นตัน  เฉลี่ยเดือนละ 3.57 พันตัน เฉลี่ยมีการซื้อขายยางพาราวันละกว่า 100 ตัน

 

[caption id="attachment_294319" align="aligncenter" width="503"] เยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ รักษาการผู้ว่า กยท. เยี่ยม ถาวโรฤทธิ์
รักษาการผู้ว่า กยท.[/caption]

ขณะที่ นายเยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ รักษาการผู้ว่า กยท. กล่าวว่า หากผู้ส่งออก พ่อค้าไม่มาซื้อ ทาง กยท. มีแผนรองรับที่จะให้ 6 โรงงาน ที่อยู่ในภาคใต้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ใช้เป็นเครื่องมือในการซื้อ เพื่อที่จะส่งออก เนื่องจากทาง กยท. ได้มีการทำสัญญาซื้อขายยางระหว่างผู้ส่งออกกว่า 6 แสนตัน จะช่วยทำให้ยางมีช่องทางการระบายอีกด้านหนึ่ง ไม่ใช่เก็บสต็อกเช่นในอดีต จะมาซื้อมาขายไป

ด้าน นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานสภาเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง (สยยท.) กล่าวว่า หากผู้ส่งออก พ่อค้าไม่เล่นด้วย อยู่ได้แค่ 2 วัน ตลาดเจ๊งแน่นอน เพราะเงินแค่ 250 ล้านบาท เป็นแค่เงินหมุนเวียน ไม่ใช่เงินรับซื้อยางมาเก็บไว้ในสต็อก จำนวนเงินน้อยมาก เฉลี่ยตลาดละ 40 กว่าล้านบาท แล้วสุดท้ายจะซ้ำรอยโครงการบัฟเฟอร์ฟันด์ สต็อกเพียบ เกษตรกรเข้าไม่ถึงโครงการ ชี้หากจะทำจริงควรจะศึกษาให้รอบคอบ ให้ดูโมเดลตลาดกลางยางพารา จ.ระยอง จะมีการซื้อขายโดยที่เกษตรกร สถาบันเกษตรกรไม่ต้องขนยางพารามาซื้อขายในตลาด ทั้ง 2 ฝ่าย ซื้อขายผ่านอิเล็กทรอนิกส์ แล้วให้ผู้ซื้อไปรับยางพาราจากสถาบันนั้น ๆ เลย ได้ราคาที่สูงกว่า แต่เกษตรกรจะต้องทำให้สินค้ามีคุณภาพก่อน แต่ถ้าไปกำหนดราคาซื้อขายก่อนนั้นผิดหลักการ เป็นไปได้ยาก


326-e1418714408927-3

ด้าน นายไชยยศ สินเจริญกุล นายกสมาคมยางพาราไทย เผยว่า การกำหนดราคาขายยางพาราใน 6 ตลาดกลางยางพาราของ กยท. เป็นกลไกลใหม่ จะต้องพิจารณาว่า ราคาที่ กยท. กำหนดเป็นราคาเท่าไร ถ้ากำหนดราคาขายสูงเกินไป ก็จะมีปัญหาในการส่งออก เพราะไทยไม่ใช่ประเทศเดียวที่เป็นผู้ผลิตยาง ดังนั้น อาจจะทำให้คู่ค้าหันไปซื้อประเทศอื่นแทนที่ราคาถูกกว่า ต้องรอว่าวันพรุ่งนี้ กยท. จะประกาศราคาอยู่ที่เท่าไร จะซื้อได้หรือไม่ต้องพิจารณาเป็นรายวัน


……………….
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
‘รองเท้ายางพารา’บูม GROWY รุกขึ้นห้างชูจุดขายผลิตภัณฑ์สุขภาพ
‘กายอ’ พรมละหมาดยางพารา ขยายส่งออกเอเชีย-ตะวันออกกลางดันรายได้พุ่ง80%


e-book-1-503x62