'โรงงาน-โรงแรม' อ่วม! เซ่น 'พ.ร.บ.น้ำ' ใหม่

29 มิ.ย. 2561 | 10:48 น.
290661-1737

เช็กลิสต์ 25 ลุ่มน้ำ พบโรงงาน-โรงแรมกว่า 4 หมื่นแห่ง ต้องจ่ายค่าน้ำสาธารณะตาม พ.ร.บ.ใหม่ หลังใช้ฟรีมานาน ... บิ๊กธุรกิจในนิคมฯ ผวารัฐบีบช่วยแจกจ่ายน้ำในฤดูแล้ง ... สทนช. เตรียมกฎหมายลูกกว่า 40 ฉบับ พ่วงเสนอ สนช. ลุ้นโหวตคว่ำ หรือ ผ่าน

งวดเข้ามาทุกขณะสำหรับการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. ... ซึ่งจะเป็นกฎหมายแม่บทในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำสาธารณะฉบับแรกของประเทศ ซึ่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้รับหลักการมาตั้งแต่วันที่ 2 มี.ค. 2560 และขยายเวลาการพิจารณามาแล้วหลายครั้ง โดยครั้งที่ 7 จะครบกำหนดในวันที่ 24 ก.ค. นี้ ขณะที่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ระบุ ต้องผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย ทำให้ที่ผ่านมา ทางคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายนี้ ได้ลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นครอบคลุม 54 จังหวัด ใน 25 ลุ่มน้ำ มีผู้แทนองค์กร หน่วยงาน และบุคคลทั่วไปกว่า 2,000 คน เข้าร่วม รวมถึงยังเปิดเว็บไซต์รับฟังความคิดเห็นด้วย ล่าสุด มีความคืบหน้าตามลำดับ

 

[caption id="attachment_294071" align="aligncenter" width="503"] พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. ... พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์
ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. ...[/caption]

พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. ... เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ทางคณะกรรมาธิการฯ จะประชุมนัดสุดท้ายในวันที่ 27 มิ.ย. 2561 หลังจากนั้นจะส่งร่างให้รัฐบาลพิจารณาให้ความเห็นชอบอีกครั้ง แต่หากรัฐบาลเห็นควรให้ตัด ปรับปรุง หรือ แก้ไขในมาตราใด ทางคณะกรรมาธิการฯ ก็ยังสามารถกลับมาพิจารณาทบทวนได้ ทั้งนี้ สาเหตุที่ใช้ระยะเวลาพิจารณานาน เนื่องจากมีหลายปัจจัย อาทิ รัฐบาลใช้คำสั่ง คสช. ม.44 ตั้งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) มาบริหารเรื่องน้ำของประเทศแทนกรมทรัพยากรน้ำ ก็ต้องกลับไปแก้กฎหมาย พอใกล้จะเสร็จก็มีเรื่องผังน้ำ พื้นที่น้ำหลาก ก็ต้องบรรจุไว้ในกฎหมาย เพื่อให้รองรับกับกฎหมายผังเมือง เป็นต้น

สำหรับสาระสำคัญของร่างกฎหมาย การใช้น้ำสาธารณะประเภทที่ 1 น้ำเพื่อการดำรงชีพและการอุปโภคบริโภคในครัวเรือน ไม่เก็บค่าน้ำ ส่วนการใช้น้ำประเภทที่ 2 ได้ตัดคำว่า การเกษตร-ปศุสัตว์ เพื่อการพาณิชย์ออกไป เพราะแยกกันไม่ออก ส่วนการใช้น้ำเพื่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เช่น ในโรงแรมรีสอร์ต และการใช้น้ำประเภทที่ 3 จัดเป็นการใช้น้ำในปริมาณมากและส่งผลกระทบอย่างกว้างขวาง จะต้องมีการขออนุญาตใช้น้ำและจะถูกจัดเก็บค่าน้ำแน่นอน ซึ่งการเก็บประเภท 2 และ 3 ให้ทาง สทนช. ไปศึกษาอัตราการจัดเก็บ แต่ทั้งนี้ หลังจากกฎหมายมีผลบังคับใช้แล้วจะผ่อนปรนยังไม่มีการจัดเก็บค่าน้ำ 2 ปี และจะเปิดรับฟังความเห็นสาธารณะอีกครั้ง แต่ถ้าใช้น้ำของกรมชลประทาน/กรมทรัพยากรน้ำบาดาล บริษัทต่าง ๆ เหล่านี้ ยังต้องเสียค่าน้ำตามปกติไปพลางก่อน


Screen Shot 2561-06-29 at 17.40.05

"มั่นใจว่า กฎหมายฉบับนี้จะไม่ถูกคว่ำกลางสภา พร้อมกับกฎหมายลูกที่มีกว่า 40 ฉบับ ที่ สทนช. จะต้องพ่วงเข้าไปด้วยก่อนเข้าสู่การพิจารณาของ สนช. ส่วนเกษตรแปลงใหญ่ รัฐมีนโยบายไม่เก็บค่าน้ำอยู่แล้ว ขอให้สบายใจได้"


เล็งรีดค่าน้ำ รง.-รร.
ด้าน นายสุรจิต ชิรเวทย์ กรรมาธิการวิสามัญฯ กล่าวว่า จากการตรวจสอบธุรกิจเอกชนที่อยู่ในข่ายต้องจ่ายค่าน้ำสำหรับการใช้น้ำประเภทที่ 2 และ 3 พบมีโรงงานอุตสาหกรรมกว่า 1 หมื่นแห่ง และโรงแรมที่จดทะเบียนกว่า 2 หมื่นแห่ง และไม่จดทะเบียนกว่า 1 หมื่นแห่ง รวมแล้วกว่า 4 หมื่นแห่ง ที่อยู่ในข่ายต้องจ่ายค่าน้ำสาธารณะ ยังไม่นับรวมร้านอาหาร ดังนั้น ต้องให้เวลา สทนช. ไปศึกษาการเก็บค่าน้ำแต่ละลุ่มน้ำว่า ควรจะเก็บอัตราเท่าไร เช่นเดียวกันกับของกรมชลประทานและกรมน้ำบาดาล จะต้องเป็นมาตรฐานเดียวกัน ส่วนเงินที่เก็บค่าน้ำ เบื้องต้น จะส่งเข้าคลังกลางและอีกส่วนหนึ่งมอบให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อใช้เป็นค่าบำรุงรักษาลุ่มน้ำในแต่ละปี

 

[caption id="attachment_294073" align="aligncenter" width="335"] หาญณรงค์ เยาวเลิศ กรรมาธิการวิสามัญ หาญณรงค์ เยาวเลิศ
กรรมาธิการวิสามัญ[/caption]

กันพื้นที่สำรองน้ำเก็บ
นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ กรรมาธิการวิสามัญ กล่าวว่า ต่อไปนี้การใช้น้ำประเภท 2 และ 3 ไม่เพียงแค่ขอใบอนุญาต จะต้องกันพื้นที่ไว้เพื่อสำรองน้ำเก็บด้วย ไม่ใช่จะมาขอใช้น้ำเพียงอย่างเดียว และกลุ่มนี้อาศัยช่องกฎหมายใช้น้ำฟรีมานานแล้ว ดังนั้น จำเป็นต้องเก็บไม่ละเว้น แต่ก็มีกลุ่มโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมภาคตะวันออกเกรงว่าจะไม่เป็นธรรมต่อภาคธุรกิจ หากรัฐมนตรีหรือผู้ซึ่งรัฐมนตรีมอบหมายมีอำนาจสั่งให้นำน้ำในส่วนที่เกินมาใช้สอบเพื่อประโยชน์สาธารณะ กรณีรัฐมนตรีประกาศภาวะน้ำแล้งอย่างรุนแรง โดยผู้นั้นไม่สามารถเรียกร้องค่าเสียหายใด ๆ ได้ แต่ในกรณีเช่นนี้ ผู้เก็บกักน้ำมีสิทธิได้รับค่าตอบแทน


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,378 วันที่ 28-30 มิ.ย. 2561 หน้า 15

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
กมธ. ชงสภาฯ โหวต 'พ.ร.บ.น้ำ' สิ้นเดือนรู้ผล
ฐานเศรษฐกิจวาระพิเศษ | ชำแหละ พ.ร.บ.น้ำ ประชาชนรับกรรม?


e-book-1-503x62