เคล็ดลับนักบริหารการลงทุน "โฟกัสให้ชัด หาแฟคเตอร์ความสำเร็จให้เจอ"

29 มิ.ย. 2561 | 14:07 น.
ต้นปีที่ผ่านมา สิงห์ คอร์เปอเรชั่น ได้เปิดตัว สิงห์เวนเจอร์ส (Singha Ventures) เข้ามาทำหน้าที่ลงทุนในธุรกิจสตาร์ตอัพ โดย 1 ในทีมผู้บริหารที่เปิดตัว ก็คือ คนหนุ่มไฟแรง 'คุณอ๊อด จักรมนต์ นิติพน' กรรมการบริษัทและผู้อำนวยการสายการลงทุน Singha Ventures ที่เคยผ่านงานวาณิชธนากร หรือ ที่ปรึกษาทางการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ รวมทั้งการเป็นที่ปรึกษาธุรกิจในองค์กรขนาดใหญ่อย่าง บอสตัน คอนซัลติ้ง กรุ๊ป มาแล้ว

คุณอ๊อด เล่าประสบการณ์ให้ฟังว่า เขาจบวิศวกรรมอุตสาหการจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนที่จะต่อโทด้านการเงินทันที่ ที่คณะบัญชี จุฬาฯ และได้เริ่มงานที่ปรึกษาด้านธุรกิจกับ บริษัท ดีลอยท์ คอนซัลติ้ง จำกัด ก่อนไปต่อเอ็มบีเอที่สแตนฟอร์ด สหรัฐอเมริกา เมื่อกลับมาจึงได้ทำงานที่ธนาคารไทยพาณิชย์และบอสตัน คอนซัลติ้ง กรุ๊ป และเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ก็ได้เข้ามาร่วมงานกับสิงห์ ได้ดูแลคอนซูเมอร์โปรดักส์ทั้งหมด จนกระทั่งได้ย้ายเข้ามารับผิดชอบงานที่สิงห์เวนเจอร์ส


96D51580-6C9E-4886-B67D-01B3FA8870B6

"สิงห์เวนเจอร์สถือเป็นหน้าใหม่ในตลาด การสร้างตัวเองจึงมองไปที่อีโคซิสเต็ม เราเข้าไปเวิร์คกับกองทุนที่ลงทุนในสตาร์ตอัพอยู่แล้ว ทำงานกับผู้จัดการกองทุน แล้วเอามาใช้กับธุรกิจของเรา ซึ่งเริ่มต้นเน้นไปที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก่อน โดยเริ่มต้นด้วยการเข้าไปลงทุนใน 2 กองทุน คือ Kejora Ventures แพลตฟอร์มระบบนิเวศทางเทคโนโลยี และ Vertex Ventures จากสิงคโปร์"

เป้าหมายต่อไป จากสายตานักลงทุนคนนี้ คือ การมองไปที่อีโคซิสเต็มที่พัฒนามาก ๆ ทั้งในจีน สหรัฐอเมริกา อิสราเอล ด้วยการทำงานกับกองทุนในท้องถิ่นเป็นหลัก เพื่อลดความเสี่ยงในการลงทุน ซึ่งสเต็ปต่อไปที่เขามอง ก็คือ สหรัฐอเมริกา ต่อจากนั้นจะเริ่มไปลงทุนในจีน

นักลงทุนคนนี้ บอกว่า เป้าหมายของสิงห์เวนเจอร์สไม่ใช่แค่หวังผลตอบแทนด้านการเงิน หรือ จำนวนของการลงทุน แต่เน้นที่คุณภาพ โดยมีโจทย์หลัก 2 ส่วน คือ ผลตอบแทนเรื่องการลงทุนและผลตอบแทนเรื่องกลยุทธ์ ที่จะเข้ามาช่วยให้ธุรกิจหลักสิงห์แข็งแรงและเติบโตได้ดีขึ้น ซึ่งบางอย่างวัดเป็นตัวเงินไม่ได้ โดยมุ่งเน้นไปที่กลุ่มคอนซูเมอร์ก่อนเป็นเป้าหมายหลัก ส่วนเป้าหมายรอง คือ เรื่องของเทคโนโลยีในการจัดการห่วงโซ่การผลิต (Supply Chain) ด้านการขนส่งและการจำหน่ายสินค้า และการลงทุนในระบบหรือโปรแกรมต่าง ๆ เพื่อช่วยในการทำงานขององค์กร (Enterprise Solutions)

จากการที่เป็นเด็กสแตนฟอร์ด แหล่งคลังของเหล่าสตาร์ตอัพมือดีของโลก คุณอ๊อด บอกว่า ถือเป็นโชคดีที่ทำให้เขาได้กลับไปเยี่ยมสถาบันและได้มีโอกาสติดต่อคุยงานกับเพื่อน ๆ ที่ตอนนี้มีหลายคนที่ทำงานเป็นผู้จัดการกองทุน แต่นอกเหนือจากความโชคดี คือ ความท้าทายใหม่ ๆ จากการเป็นที่ปรึกษาทางการเงินและแผนธุรกิจ เมื่อเข้ามาทำงานกับสิงห์ ซึ่งมีหลายหน่วยงาน ทำให้เขาต้องโฟกัสงานให้ชัด ดูว่าต้องเริ่มต้นจากตรงไหนก่อนและควรเข้าไปที่จุดไหน ต้องมองหาสตาร์ตอัพลักษณะไหน จึงจะสามารถมาต่อยอดธุรกิจของสิงห์ให้เติบโตแข็งแรงขึ้นได้

"โอกาสมันมีเยอะ ถ้าเราเดินออกไปหามัน เราต้องดูว่า เราจะทำอะไรก่อน และทำอะไรที่สร้างประโยชน์ ไม่ใช่แค่เรา แต่หมายถึงพาร์ทเนอร์ทั้งหมด นโยบายของสิงห์ คือ Long Term Partnership สิงห์ได้ สตาร์ตอัพต้องได้ พาร์ทเนอร์คนอื่น ๆ ก็ต้องได้ประโยชน์ด้วยเช่นกัน เราต้องเติบโตไปด้วยกัน"

การที่มานั่งทำงานในหน้าที่ตรงนี้ คุณอ๊อด บอกว่า สิ่งสำคัญ คือ การมองภาพภาพกว้างให้เข้าใจ มองบิซิเนสโมเดลให้ออก ก่อนที่จะนำไปเชื่อมต่อกับสตาร์ตอัพต้องประสานงานได้ทั้งภายในและภายนอก สิ่งสำคัญ คือ เมื่อเข้าใจแล้ว ก็ต้องนำมาสื่อสารให้คนภายในองค์กรเข้าใจ ซึ่งตรงนี้ คือ สิ่งสำคัญที่จะทำให้งานเดินหน้า ดังนั้น จึงต้องใช้ทักษะทั้งที่เป็นฮาร์ดสกิล คือ ความเข้าใจในธุรกิจ การวิเคราะห์ธุรกิจ และยังต้องเข้าใจในการสื่อสาร บริหารความเข้าใจกับทุก ๆ ฝ่าย ให้ได้


B25B38E3-DC8B-45D1-9242-463FE3630829

จากความรู้พื้นฐานด้านการเงินที่ผ่านมา ทำให้เขาได้เปรียบในการวิเคราะห์และมองภาพใหญ่ของธุรกิจ เคล็ดลับที่ใช้ในการวิเคราะห์ของผู้บริหารคนนี้ คือ การทำความเข้าใจกับโจทย์ยาก ๆ ตีออกมาให้เป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น เริ่มจากวิเคราะห์ที่จุดตั้งต้นของธุรกิจ อะไรเป็นปัจจัยหลักที่จะทำให้ธุรกิจเติบโตในอนาคต ทำความเข้าใจปัจจัยแห่งความสำเร็จนั้น แล้วตั้งคำถาม ... วิเคราะห์ไปถึงต้นตอปัญหา 5 Why ถามไป 5 ครั้ง ก็จะไปถึงต้นตอปัญหา แต่หลัก คือ ต้องเข้าใจให้ได้ว่า ซัคเซสแฟคเตอร์ มันอยู่ตรงไหน ที่ทำให้ธุรกิจเติบโตได้

เป้าหมายของนักบริหารหนุ่มคนนี้ คือ การตอบโจทย์ที่ว่า ทำอย่างไรให้สิงห์เวนเจอร์สเติบโต แข็งแรง เป็น 1 ในกองทุนที่น่าทำงานด้วย และสิงห์เวนเจอร์สต้องสามารถไปเสริมให้กลุ่มธุรกิจของสิงห์ เติบโตและแข็งแรงได้อย่างยั่งยืน ต่อไปจากที่อยู่มา 85 ปีแล้ว สามารถอยู่และเติบโตต่อไปได้อีกเรื่อย ๆ

'จักรมนต์ นิติพน' บอกว่า เขาเองไม่ได้มองที่เงื่อนเวลา แต่มองที่เป้าหมายที่ต้องทำให้สำเร็จมากกว่า


……………….
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ไทยเปิดประตูอ้าซ่า! "ลงทุนผลิตอาวุธ" เว้นภาษีให้ 8 ปี
เปิดทางลูกจ้างลงทุนกบช. ‘วรวรรณ’เดินหน้าค้านตั้งสำนักงาน


e-book-1-503x62