เกษตรฯจัดงานแมชชิ่ง “ชิโนเคม” โผล่ขอรื้อฟื้นสัญญาซื้อขายยางใหม่

28 มิ.ย. 2561 | 12:55 น.
เกษตรฯจัดงานแมชชิ่ง “ชิโนเคม” โผล่ขอรื้อฟื้นสัญญาซื้อขายยางใหม่

Mr. YANG YU ผู้จัดการ บริษัท ซิโนเคม อินเตอร์เนชั่นแนล คอร์เปอเรชั่น จำกัด บริษัทในเครือชิโนเคมกรุ๊ป เปิดเผยการเข้าร่วมงานโครงการสร้างเสริมศักยภาพเพื่อขยายตลาดคู่ค้ายางพาราไทย ที่จังหวัดกระบี่นั้น โดยก่อนหน้านี้ได้มีการพูดคุยเรื่องการซื้อขายยางกับ กยท. ทั้งการรับซื้อยางใหม่และยางเก่าอยู่ในระหว่างการเจรจายังไม่สรุปเรื่องปริมาณ ยอมรับว่าโครงการที่ล่มก่อนหน้านี้เป็นเรื่องการซื้อขายยางผูกกับโครงการร่วมมือสร้างทางรถไฟไทย-จีน

rub

แหล่งข่าวจากการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากกรณีการซื้อขายผลิตภัณฑ์ยางระหว่างการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กับเครือชิโนเคม ตามบันทึกความเข้าใจ(MOU)ระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลจีน ว่าด้วยความร่วมมือการค้าสินค้าเกษตรลงนามเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2557 วัตถุประสงค์เพื่อความสัมพันธ์อันดีระหว่าง 2 รัฐบาลและเป็นการเริ่มต้นโครงการความร่วมมือสร้างทางรถไฟ-จีน ในปี 2558 โดยจีนพร้อมที่จะซื้อผลิตภัณฑ์ยางที่มีปริมาณรวม 2 แสนตันจากประเทศไทยนั้น โดยจีนมีการสั่งชะลอการรับมอบยางออกไปโดยไม่มีกำหนด คาดว่าเบื้องต้นจะมาจากการที่รัฐบาลจีนไม่พอใจรัฐบาลไทย จากเดิมที่จะกู้เงินจากรัฐบาลจีนทั้งหมดกว่า 5 แสนล้านบาทมาลงทุนโครงการความร่วมมือสร้างทางรถไฟไทย-จีน

พร้อมกันนี้จีนขอสิทธิการใช้ประโยชน์พื้นที่ตลอดแนวสองข้างทางรถไฟ แต่ภายหลังรัฐบาลไทยประกาศจะลงทุนเองทั้งหมด แต่ยังเปิดช่องในการใช้เงินกู้จากจีน (หากเงื่อนไขจีนดีที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับแหล่งเงินอื่น) ส่วนการเดินรถนั้นไทยจะตั้งบริษัทเอง ขณะที่เทคโนโลยีต่างๆ ยังเป็นของจีนตามข้อตกลง จากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจึงส่งผลมาถึงการซื้อขายยางได้หยุดชะงัก ดังข้อความตอนหนึ่งของการเจรจาว่า "การกำหนดรับมอบรัฐบาลจีนเป็นผู้สั่งการ"
rub1 วันนี้ (28 มิ.ย.61) นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวในโอกาสเป็นประธานพิธีเปิดงานโครงการสร้างเสริมศักยภาพเพื่อขยายตลาดคู่ค้ายางพาราไทย ณ โรงแรมดุสิตธานี กระบี่ บีช รีสอร์ท จังหวัดกระบี่ ว่า การจัดการในครั้งนี้ถือเป็นอีกหนึ่งมาตรการสำคัญในการส่งเสริมการตลาดยางพารา โดยเฉพาะประเทศคู่ค้ายางรายใหม่ๆ ผ่านการชี้แจงนโยบาย แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น การศึกษาดูงานการผลิต การแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางตลอดระยะเวลาการจัดงานตั้งแต่วันที่ 28 – 30 มิ.ย. ที่ไทยจะได้แสดงศักยภาพความเป็นผู้นำของไทยในฐานะผู้ผลิตยางคุณภาพและการส่งออกยางพารารายใหญ่ของโลก

ขณะเดียวกัน ยังเป็นการแสวงหาพันธมิตรคู่ค้าใหม่ในตลาดยางพารา ให้เชื่อมั่นต่อคุณภาพ มาตรฐานและความหลากหลายของการใช้ยางพาราในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ของไทย โดยการจัดการครั้งนี้มีผู้ประกอบการรายใหม่กว่า 50 บริษัทจาก 10 ประเทศที่มีการนำเข้ายางเพื่อใช้ในประเทศในปริมาณมาก เช่น จีน ญี่ปุ่น อินเดีย เม็กซิโก อิหร่าน เป็นต้น รวมถึงกระทรวงเกษตรฯ ยังได้เชิญคณะทูตานุทูตที่ประจำอยู่ที่ประเทศไทย กว่า 20 คน จาก 15 ประเทศ ซึ่งประเทศเป้าหมายส่วนใหญ่ ยังไม่เคยมีการนำเข้ายางพาราจากไทยหรือยังมีปริมาณที่ไม่มากนัก เช่น รัสเซีย ตุรกี ฟินแลนด์ เม็กซิโก และบราซิล เป็นต้น
rub2 ดังนั้น หากคณะทูตานุทูตประเทศต่างๆ ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องในเรื่องการผลิตยางของไทย ก็จะสามารถให้ข้อมูลกับผู้นำเข้าหรือผู้ประกอบการยางได้อีกทางหนึ่งด้วย โดยประเด็นสำคัญที่ไทยได้นำเสนอในครั้งนี้ คือ การชี้แจงถึงนโยบายรัฐที่มุ่งเน้นการผลิตสินค้ายางพาราที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน และมีความหลากหลาย โดยเกษตรกรในฐานะผู้ผลิต ต้องใส่ใจดูแลการปลูกไปจนถึงการเก็บเกี่ยวผลผลิต ตามหลักวิชาการและได้มาตรฐานสากล เช่น มาตรฐาน FSC และ PEFC โดยมีการยางแห่งประเทศไทย ทำหน้าที่ดูแลและบริหารจัดการด้านยางพาราของไทยอย่างครบวงจร ในการสร้างความร่วมมือและอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการยางพาราจากนานาประเทศ

ขณะเดียวกัน กยท.ยังเป็นหน่วยงานสำคัญในการกำกับดูแลและตรวจสอบคุณภาพผลผลิตยางพารา และผลิตภัณฑ์ยางพาราที่มีการส่งออกไปยังตลาดโลกอย่างเข้มงวด ส่งผลให้เกิดการพัฒนาจนได้มาตรฐานการผลิตมาอย่างต่อเนื่อง และมีคุณภาพสูงเป็นที่ยอมรับจากทั่วโลก ตลอดจนขับเคลื่อนศักยภาพการพัฒนาการผลิตยางพาราและอุตสาหกรรมยางพาราในประเทศอย่างต่อเนื่องและครบวงจร จนทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยางพาราธรรมชาติที่มีคุณภาพได้มาตรฐานและมีความหลากหลาย ซึ่งมีศักยภาพอย่างยิ่งในการนำไปใช้กับอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเป็นผลผลิตจากพื้นที่ปลูกยางพาราที่อยู่ในทุกภูมิภาคของประเทศ ในพื้นที่รวม 25 ล้านไร่ ซึ่งปลูกและดูแลโดยเกษตรกรชาวสวนยางพารา จำนวน 1.65 ล้านคน ส่งผลให้ปัจจุบันประเทศไทยมีกำลังการผลิตยางธรรมชาติได้มากถึง 4.5 ล้านตันต่อปี

นับเป็น 1 ใน 3 ของผลผลิตยางรวมกันทั้งโลก และก้าวขึ้นมาเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกอันดับ 1 ของโลก สามารถส่งออกไปจำหน่ายในตลาดต่าง ๆ ด้วยสินค้าที่มีความหลากหลาย มีคุณภาพได้มาตรฐานสากล ทั้งน้ำยางข้น ยางแท่ง และยางแผ่นรมควัน รวมถึงผลิตภัณฑ์จากยางพาราชนิดต่าง ๆ อาทิ ถุงมือยาง ยางพาหนะ และชิ้นส่วนยานยนต์ที่ทำมาจากยางพารา สามารถสร้างรายได้จากการส่งออกสูงเป็นอันดับ 3 ของการส่งออกสินค้าทั้งหมดของประเทศด้วยมูลค่าที่มากกว่า 5 แสนล้านบาท
โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6 ปัจจุบันประเทศไทยมีการส่งเสริมการลงทุนด้านอุตสาหกรรมยางพาราจากต่างประเทศ โดยมอบสิทธิประโยชน์พิเศษตามหลักเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ และยังมีการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมยางพารา หรือ Rubber City ขึ้น ที่ จ.สงขลา พื้นที่ 1,218 ไร่ ที่มีศักยภาพพร้อมรับการลงทุนทั้งอุตสาหกรรมนวัตกรรมยางพารา อุตสาหกรรมจากน้ำยางข้น อุตสาหกรรมยางคอมปาวด์ และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ที่สำคัญประเทศไทยเปิดกว้างอย่างเต็มที่ในการแสวงหาเพื่อสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรคู่ค้าการตลาดยางพาราระดับนานาชาติ เพื่อร่วมกันสร้างให้ไทยได้กลายเป็นประเทศผู้รับจ้างผลิตในรูปแบบ OEM

ทั้งนี้ความพร้อมและศักยภาพอย่างครบวงจรทั้งหมดนี้ ประเทศไทยพร้อมที่จะเป็นศูนย์กลางในการรับผลิตยางพาราตามความต้องการของผู้ประกอบการยางพาราและผู้นำเข้ายางจากทั่วโลก ซึ่งท้ายที่สุดแล้วจะส่งผลต่อเสถียรภาพราคายางพาราได้” นายกฤษฎา กล่าว

e-book-1-503x62