บีบแบงก์อุ้มเอสเอ็มอี! ธปท. สั่งเปิดต้นทุนจูงใจซื้อประกันความเสี่ยงค่าเงิน

28 มิ.ย. 2561 | 11:13 น.
280661-1755

ธปท. จี้แบงก์เปิดต้นทุนป้องกันความเสี่ยงค่าเงิน จูงใจเอสเอ็มอีรายเล็ก ตัดสินใจปิดเสี่ยงค่าเงิน หลังผลวิจัยชี้ 69% ไม่ทำ Hedging เหตุต้นทุนแพง เข้าถึงสินเชื่อยาก แจงแต่ละแบงก์ไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงลูกค้า

แนวโน้มตลาดการเงินที่มีความผันผวนจากการดำเนินนโยบายการเงินต่างประเทศและปัญหาสงครามการค้า ส่งผลให้ค่าเงินมีความผันผวนสูง ซึ่งกระทบต่อผู้ส่งออก แต่จากการศึกษาของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ หรือ PIER ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่า ปริมาณธุรกรรมและผู้ประกอบการเอสเอ็มอียังทำป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน (Hedging) น้อย โดยปี 2560 เอสเอ็มอีผู้ส่งออกรายเล็กกว่า 69% ไม่ทำ FX Hedging และทำน้อยมีสัดส่วน 19% ทำระดับกลางมี 6% และทำสูงประมาณ 6% ธปท. จึงหารือกับธนาคารพาณิชย์ เพื่อเปิดเผยข้อมูลต้นทุนการป้องกันความเสี่ยง เพื่อให้ผู้ประกอบการตัดสินใจป้องกันความเสี่ยงได้ดีขึ้น


appTP11-3143-A

รายเล็กไม่ทำ Hedging
นายธีธัช เชื้อประไพศิลป์ ผู้วิเคราะห์อาวุโส ส่วนวิเคราะห์และพัฒนาตลาดการเงิน ฝ่ายตลาดการเงิน ธปท. และนักวิจัย PIER เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาพบว่า เอสเอ็มอี โดยเฉพาะรายเล็ก ไม่ทำป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนหรือทำน้อย เพราะต้นทุนสูงเมื่อเทียบกับรายใหญ่ และยังมีข้อจำกัดในการเข้าถึงวงเงินสินเชื่อในการป้องกันความเสี่ยงด้วย เพราะเอสเอ็มอีรายเล็กประมาณ 70% จะใช้บริการธนาคารเดียว ทำให้ไม่มีอำนาจต่อรองเมื่อเทียบกับผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ใช้หลายธนาคาร รวมถึงปริมาณธุรกรรมที่มีจำนวนสูง ทำให้ต้นทุนที่ได้รับถูกลงเมื่อเทียบกับรายเล็ก ดังนั้น การเปิดเผยข้อมูลต้นทุนการป้องกันความเสี่ยงจะช่วยให้ผู้ประกอบการรายเล็กสามารถใช้เป็นตัววัดในการตัดสินใจทำป้องกันความเสี่ยงได้

ทั้งนี้ ธปท. จะนำต้นทุนการป้องกันความเสี่ยงของแต่ละธนาคาร มาหาค่าเฉลี่ยที่เป็นแกนกลาง เพื่อให้ผู้ประกอบการได้ตัดสินใจว่า การป้องกันความเสี่ยงมีต้นทุนที่ได้รับไม่แพงเกินไป หากต้องการทำป้องกัน อย่างไรก็ตาม ต้นทุนการป้องกันความเสี่ยงอาจจะไม่เท่ากันในแต่ละสถาบันการเงิน เนื่องจากลูกค้ามีความแตกต่างกัน ซึ่งขึ้นกับความเสี่ยงของลูกค้าแต่ละราย


1+-+Copy

พบ 75% ทำไม่ต่อเนื่อง
ด้าน นายณัฐพงศ์ รุจิรวนิช ผู้วิเคราะห์ ทีมวิเคราะห์เงินตราต่างประเทศ ฝ่ายตลาดการเงิน ธปท. และนักวิจัย PIER กล่าวว่า หากดูตัวเลขผู้ส่งออก แบ่งตามความสม่ำเสมอในการทำ FX Hedging พบว่า ผู้ส่งออกรายเล็ก 75% ไม่ทำป้องกันความเสี่ยงเลย เมื่อเทียบกับรายใหญ่ที่ไม่ทำ มีสัดส่วน 60% และหากดูไส้ในของผู้ส่งออกรายใหญ่ที่ไม่ทำนั้น จะเห็นว่า ใช้เครื่องมืออื่นป้องกันความเสี่ยง เช่น การฝากบัญชี FCD หรือป้องกันความเสี่ยงแบบธรรมชาติ (Natural Hedge) ซึ่งต่างจากรายเล็กที่ไม่ทำผ่านเครื่องใด ๆ เลย โดยหลัก ๆ มาจากลักษณะของผู้ส่งออก ข้อจำกัดการเข้าถึงเครื่องมือและต้นทุน ความอ่อนไหวต่อความผันผวนของค่าเงินและประสบการณ์

"การป้องกันความเสี่ยงของรายเล็กจะทำมากขึ้นและแกว่งตามค่าเงินที่ผันผวน เหมือนในช่วงต้นปี 2556 ที่เงินบาทแข็งค่า และปี 2558 ที่เงินบาทอ่อนค่า ที่ทำสม่ำเสมอ แต่เฉลี่ยแล้วทำเพียง 3-6 เดือน ซึ่งส่วนใหญ่ทำผ่าน Forward และ Spot ส่วน Option มีน้อย ประมาณ 2% เพราะเป็นโปรดักต์ที่ซับซ้อนเข้าใจยาก"

 

[caption id="attachment_293738" align="aligncenter" width="503"] ตรรก บุนนาค ประธานคณะเจ้าหน้าที่ ด้านโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ตรรก บุนนาค
ประธานคณะเจ้าหน้าที่ ด้านโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)[/caption]

ต้นทุนขึ้นกับความเสี่ยง
นายตรรก บุนนาค ประธานคณะเจ้าหน้าที่ ด้านโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ธนาคารได้รับเชิญจาก ธปท. ให้ร่วมพูดคุยการเสริมสร้างการทำ Hedging ให้ดีขึ้น โดยเอสเอ็มอีจะดูเรื่อง FX Option และเพิ่มเติมในส่วนของ Forward ด้วย ส่วนต้นทุนการป้องกันความเสี่ยงขึ้นกับแต่ละธนาคาร จะมีวิธีคำนวณแตกต่างกัน แต่โดยทฤษฎีจะเป็นส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของ 2 สกุลเงิน เช่น เงินดอลลาร์-บาทบวกต้นทุนความเสี่ยงของลูกค้า แต่ละรายไม่เท่ากัน ซึ่งช่วงที่ค่าเงินผันผวน หรือ อยู่ในระดับที่เป็นจุดเสี่ยง จะเห็นผู้ประกอบการป้องกันความเสี่ยงค่าเงินต่อเนื่อง

นายศิริเดช เอื้องอุดมสิน รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า แนวโน้มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มียอดขาย 5-10 ล้านบาทต่อเดือน ส่วนใหญ่จะป้องกันความเสี่ยง เพราะมีประสบการณ์มาแล้วในช่วงค่าเงินที่มีความผันผวน ประกอบกับ ช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา ค่าเงินผันผวนแรง เฉลี่ย 1 บาท ดังนั้น เชื่อว่าต้นทุนการทำป้องกันไม่น่าจะเป็นประเด็นสำคัญสำหรับลูกค้าที่ต้องทำอยู่แล้ว เพราะถือว่าอยู่ในระดับที่รับได้เมื่อเทียบกับความผันผวน ซึ่งธนาคารแนะนำทั้ง FX Option และเครื่องมืออื่น ๆ ที่เหมาะสมกับลูกค้า

 

[caption id="attachment_293739" align="aligncenter" width="336"] พิศิษฐ์ เสรวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) พิศิษฐ์ เสรวิวัฒนา
กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.)[/caption]

ด้าน นายพิศิษฐ์ เสรวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) กล่าวว่า เอสเอ็มอีสนใจเข้าร่วมโครงการเพิ่มขีดความสามารถและส่งเสริมเอสเอ็มอีที่เป็นสมาชิกของ สสว. น้อยมาก หลังจากเริ่มโครงการเมื่อเดือน ก.ย. 2560 ทั้งที่เป็นโครงการที่รัฐสนับสนุนให้เงินฟรี 3 หมื่นบาทต่อกิจการ เพื่อให้เอสเอ็มอีที่มีรายได้ไม่เกิน 400 ล้านบาทต่อปี เข้าอบรมความรู้เรื่องป้อกงันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนด้วย FX Option หรืออื่น ๆ เพื่อจำเป็นต่อการดำเนินธุรกิจ ซึ่งหลังอบรมเอสเอ็มอีจะได้รับสิทธิ์ทดลองซื้อ FX Option ฟรีในวงเงิน 3 หมื่นบาทต่อกิจการ โดยจะสิ้นสุดโครงการใน 31 มิ.ย. 2561


GP-3378_180628_0020

……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,378 วันที่ 28-30 มิ.ย. 2561 หน้า 01-02

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
สสว.เผยงานแฟร์ฮ่องกงเอสเอ็มอีไทยคว้าธุรกิจ200ล้าน
พณ.ดัน "Thaitrade.com" สู่ "National e-Marketplace" หนุนเอสเอ็มอีผงาดโลกค้าออนไลน์


e-book-1-503x62