ทางออกนอกตำรา : อำลา ธนราชัน ‘บอสชาตรี’ ถึงเวลา‘โทนี่’นำแบงก์กรุงเทพ

28 มิ.ย. 2561 | 11:08 น.
 

26265

นับเป็นการสูญเสียบุคคลสำคัญในวงการเงินการธนาคาร และพี่ใหญ่ในวงการเศรษฐกิจของเมืองไทย เมื่อ เจ้าสัวชาตรี โสภณพนิช ประธานกรรมการ ธนาคารกรุงเทพ จากไปในวัย 85 ปี

ผมรู้จักกับคุณชาตรีเมื่อเจ้านายคือ คุณชลิต กิตติญาณทรัพย์ บรรณาธิการใหญ่ นสพ.ประชาชาติธุรกิจ โยกย้ายมาดูแลงานข่าวด้านการเงินการคลัง การธนาคาร เมื่อปลายปี 2538 ตอนนั้นยังเป็นนักข่าวภาคสนามตัวน้อย คอยดักซัก ดักถามหน้าบันได หน้าลิฟต์ และลานจอดรถ

ดักถามข่าวที่ลานจอดรถด้านข้างธนาคารกรุงเทพ ฝั่งซอยละลายทรัพย์ ทุกวันเช้ายันค่ำ จนเจ้าสัวชาตรีและคณะผู้บริหาร 14 อรหันต์ อันประกอบด้วย บอสชาตรี เป็นพี่ใหญ่ คุณดำรงค์ กฤษณามระ พี่รอง คุณปีเตอร์-ปิติ สิทธิอำนวย พี่สาม นายเด-เดชา ตุลานันท์ พี่สี่ คุณวิระ รมยะรูป พี่ห้า คุณวิชิตสุรพงษ์ชัย พี่หก คุณโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ พี่เจ็ด คุณธีระ อภัยวงศ์ พี่แปด คุณประสงค์ อุทัยแสงชัย พี่เก้า คุณสาธิต อุทัยศรี พี่สิบ คุณโทนี่-ชาติศิริ โสภณพนิช พี่สิบเอ็ด ชาญศักดิ์ เฟื่องฟู พี่สิบสอง คุณสุวรรณ แทนสถิตย์ พี่สิบสาม และพี่สิบสี่ คือ คุณบุญส่ง บุณยะสาระนันท์ เห็นหน้าก็ชิงถามก่อนทุกครั้งว่า มีอะไร ถามมา ก่อนจะลากขึ้นลิฟต์ หรือไม่ก็ยืนชี้แจงอธิบายกันตรงทางออกยาวเหยียด

[caption id="attachment_293733" align="aligncenter" width="503"] ชาตรี โสภณพนิช ชาตรี โสภณพนิช[/caption]

บอสชาตรี ถือเป็นคนมากไมตรี มีจิตใจโอบอ้อมอารีย์ มีอารมณ์ขัน จะแซวคนโน้น แซวคนนี้ ด้วยสีหน้าเปื้อนยิ้มตลอด

ไม่เคยถือโทษโกรธใคร ยามมีข่าวไม่ดีมากระทบต่อธนาคารก็จะพยายามอธิบายชี้แจง ทั้งในนามคณะผู้บริหาร ทั้งในนามผู้ถือหุ้นใหญ่

ต้องบอกว่า ความคิดเห็นของบอสชาตรีในเรื่องนโยบายเศรษฐกิจนั้นมีผลรุนแรงต่อการกำหนดนโยบายของรัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่งมิใช่น้อย

เพราะอะไรนะหรือ เพราะธนาคารกรุงเทพคือ ธนาคารพาณิชย์ที่เป็นสัญลักษณ์ของประเทศ เป็นท่อส่งผ่านเงินลงไปหล่อเลี้ยงในระบบธุรกิจ อุตสาหกรรม แทบจะทั่วประเทศ

รากฐานการทำงานที่บอสชาตรีสร้างสมถักทอมานั้น ได้สร้างโอกาส สร้างเศรษฐี สร้างเถ้าแก่ สร้างชีวิตที่ดีให้กับนักธุรกิจในประเทศนี้จำนวนมาก เรียกได้ว่า คนไทยกว่า 60-70% เป็นลูกค้าธนาคารแห่งนี้ที่ประกาศตนว่า เป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน

ผมมีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษบอสชาตรีมาตลอดอย่างน้อยปีละ 1-2 ครั้งต่อเนื่องยาวนานเป็นสิบๆ ปี

ถามบอสชาตรีถึงเคล็ดลับความสำเร็จในการทำงาน..การสร้างคน เพราะตัวเองเป็นคนไม่รู้ องค์ความรู้ด้านเศรษฐกิจมาจากการสัมภาษณ์ พูดคุย ศึกษาจากวิธีคิด วิธีการทำงาน

[caption id="attachment_293735" align="aligncenter" width="503"] ชาตรี โสภณพนิช ชาตรี โสภณพนิช[/caption]

ผมจำได้แม่นจนบัดนี้ บอสชาตรีบอกผมว่า “อาบากบั่ง ลื้อต้องเป็นคนขยัน ต้องทำงานหนัก ต้องทุ่มเทตลอดเพื่องาน แต่การทำงานที่ทุ่มเทไม่พอ ต้องรู้จักหามองช่องทางจะได้ประโยชน์ ต้องรู้จักหาผลตอบแทนจากการลงทุน ธุรกิจก็เช่นเดียวกัน ต้องคิดหาช่องทางใหม่เสมอ”

ผมเคยถามว่า นี่บอสพูดถึงผม ชื่อผม หรือการทำธุรกิจ บอสบอกว่า “นี่คือแนวคิดการทำธุรกิจให้ประสบผลสำเร็จ”

ผมเคยถามว่า นอกจากขยัน ทำงานหนัก ทุ่มเทแล้วมีอะไรอีก จึงจะสร้างอาณาจักรธุรกิจให้ยิ่งใหญ่เหมือนธนาคารกรุงเทพที่บอสชาตรีสร้างขึ้นมา “บอสชาตรี” บอกว่า “ต้องรู้จักสร้างคอนเนกชัน สร้างเครือข่าย รู้จักใช้คน ที่สำคัญกว่านั้นต้องรักษามันไว้ และรู้จักตอบแทนมัน”

ผมบันทึกคำสัมภาษณ์นี้ตั้งแต่ปี 2552 วันนี้มีโอกาสนำมาบอกกล่าวว่า บอสชาตรีที่เรารู้จักนั้น มิใช่เจ้าสัวที่แค่มีเงินถุงเงินถังแล้วรอรับสตางค์ แต่บอสนั้นถือเป็นคนขยันขันแข็งตัวฉกาจ มาทำงานเช้า กลับบ้านค่ำ ขยัน ทุ่มเท และรักษาคำมั่นสัญญายิ่งนัก

ผมยังเคยถามบอสชาตรี ในปี 2542 หลังจากแต่งตั้ง อาจารย์โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ เป็นประธานกรรมการบริหารแทน คอยประคองคุณโทนี่-ชาติศิริ โสภณพนิช ที่เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ว่าคิดอย่างไร บอสบอกว่า โลกในอนาคตที่เปิดกว้างขึ้นกลายเป็นโลกของคนรุ่นใหม่ เป็นโลกของการนำเอาหลักคิดมาประยุกต์ใช้ คนรุ่นเก่าทำได้แค่ประคับประคอง ต้องกล้าปล่อยให้คนรุ่นใหม่เขาตัดสินใจ

[caption id="attachment_293740" align="aligncenter" width="334"] ชาติศิริ โสภณพนิช ชาติศิริ โสภณพนิช[/caption]

บอสบอกว่า คุณโทนี่เขาตัดสินใจเก่ง เขารู้ว่าอะไรได้ อะไรเสีย และเขาเป็นคนสกัดข้อดี ข้อเสีย ออกจากกันก่อนตัดสินใจ

แต่คนรุ่นเก่า มักคิดถึงหน้าตา คิดถึงมิตรภาพ คิดถึงความสัมพันธ์เก่าก่อน

บอสเคยบอกว่า คอยดูนะว่าหลังจากนี้อีกไม่เกิน 5 ปี แบงก์ไทยจะเล็กลง แบงก์กรุงเทพก็จะเล็กลง จึงต้องขยายออกไปในภูมิภาคโดยเฉพาะจีน ฮ่องกง เซี่ยงไฮ้ ไต้หวัน และเอเชีย ใครที่ปิดตัว ปิดสาขาหลังจากวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 เพราะหมดทุน หมดตัว คิดผิดหมด...วันนี้เป็นจริงดั่งที่บอสชาตรีว่า

ผมเคยถามบอสชาตรีว่า ปี 2540 ถือเป็นวิกฤติหนักของระบบเจ้าสัวเมืองไทยและเจ้าของแบงก์ไทย แบงก์กรุงเทพจะเป็นอย่างไร

“บอสชาตรี” บอกผมว่า “ในที่สุดแบงก์กรุงเทพจะเป็นของมหาชน มิใช่โสภณพนิชอีกต่อไป เพราะกฎกติการนำมาซึ่งการเพิ่มทุน และในที่สุดผู้ก่อตั้งจะลดสัดส่วนหุ้นลงไปเรื่อยๆ ทุนนอกจะเพิ่มมาเรื่อยๆ เจ้าของเดิมจึงต้องเพิ่มทักษะในการบริหารจัดการ และสร้างความเชื่อมั่น สร้างความสัมพันธ์ และรักษามันไว้”

วันที่ 28 มิถุนายน 2561 บอสชาตรีจากโลกไปสู่สรวงสวรรค์ ทิ้งไว้แต่ความทรงจำในความดีงาม คุณูปการทางเศรษฐกิจ สังคมที่ได้สร้างสมไว้

ธนาคารกรุงเทพยุคต่อไปอยู่ในมือ โทนี่-ชาติศิริ เต็มรูปแบบ โดยมีคนเก่า “นายเด”-คุณปีเตอร์ คุณชาญศักดิ์ คุณสุวรรณ คุณสิงห์ ตังทัตสวัสดิ์ คอยประคับประคอง

ต้องติดตามว่า ยุคของโทนี่ที่มีความสุภาพ เรียบร้อย แต่ขยันขันแข็ง อดทน จะนำพาธนาคารที่มีรากฐานแข็งแกร่ง ฝ่าลมมรสุมทางการเงิน การเมืองที่ร้อนแรงไปได้ไกลกว่า ธนราชัน บอสชาตรี โสภณพนิช แค่ไหน

เขาบอกว่า ลูกไม้ต้องหล่นไม่ไกลต้น

บอสชาตรีสร้างธนาคารมาให้เติบใหญ่เกินกว่าที่ เจ้าสัวชิน โสภณพนิช ผู้ก่อตั้งจะคาดคิด

โทนี่-ชาติศิริ ย่อมสามารถสร้างธนาคารอันดับ 1 ของประเทศให้ก้าวขึ้นสู่เวทีโลกได้ยืนยาวเช่นกัน


|คอลัมน์ : ทางออกนอกตำรา
|โดย : บากบั่น บุญเลิศ
|หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ หน้า 6 ฉบับ 3378 ระหว่างวันที่ 28-30 มิ.ย.2561
e-book-1-503x62