ปภ. เตือน 31 จังหวัด! รับมือฝนตกหนักถึง 30 มิ.ย

27 มิ.ย. 2561 | 11:37 น.
นายกอบชัย บุญอรณะ รองอธิบดี กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" จากการที่กรมอุตุนิยมวิทยารายงานว่า ช่วงนี้ไปจนถึงวันที่ 30 มิ.ย. 2561 ประเทศไทยตอนบนจะมีฝนลดลง ส่วนภาคใต้ยังคงมีฝนกระจายต่อเนื่องและอาจมีฝนตกหนักบางพื้นที่ ซึ่งปริมาณฝนตกสะสมต่อเนื่องอาจส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำท่วมขังในระยะเวลาอันสั้น ๆ โดยมีจังหวัดที่ต้องเฝ้าระวังและเตรียมพร้อมรับมือ 31 จังหวัด ดังนี้

ภาคเหนือ 14 จังหวัด ได้แก่ จ.เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ พิจิตร กำแพงเพชร สุโขทัย และตาก , ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5 จังหวัด ได้แก่ อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร และนครพนม , ภาคกลาง 9 จังหวัด ได้แก่ นครนายก ปราจีนบุรี จันทบุรี ตราด กรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคใต้ 3 จังหวัด ได้แก่ ระนอง พังงา และภูเก็ต คลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนคลื่นสูงประมาณ 1-2 เมตร

นายกอบชัย กล่าวว่า ขอให้ประชาชนติดตามข้อมูลสภาพอากาศ สภาพน้ำท่า ลักษณะการเปลี่ยนแปลงทางภายภาพของพื้นที่ ภาวะคลื่นลมแรง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อชายฝั่งและการเดินเรือ รวมทั้งเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์และปฏิบัติตามคำแนะนำจากทางราชการอย่างใกล้ชิด

ขณะที่ ศูนย์เมขลา ศูนย์ป้องกันวิกฤติน้ำ กรมทรัพยากรน้ำ มีรายงานปริมาณฝนสะสมตั้งแต่ปี 2561 ถึงวันที่ 24 มิ.ย. 2561 รวม 606.6 มากกว่าค่าเฉลี่ย 85.1 มม. คิดเป็น 16 % อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ กรมชลประทานมีปริมาณน้ำเก็บกักรวม 4.29 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร มากกว่าปีที่แล้ว 6% (3,908 ล้าน ลบม.) ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง มีปริมาณน้ำเก็บกักรวม 2,916 ล้านลูกบาศก์เมตร (57%) มากกว่าปีที่แล้ว 14 ล้านลูกบาศก์เมตร

ด้าน นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า จากการวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์น้ำในภาพรวมขณะนี้อยู่ในเกณฑ์ที่ควบคุมได้ โดยพื้นที่ที่เป็นลุ่มต่ำที่จะได้รับผลกระทบจากน้ำหลากจากฝนที่ตกเฉพาะพื้นที่ ทุกหน่วยงานได้มีการเตรียมการไว้ล่วงหน้า โดยเฉพาะข้อสั่งการคณะอนุกรรมการวิเคราะห์ติดตามสถานการณ์และบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ) เป็นประธาน ได้แก่ 1.การจัดทำแผนการบริหารจัดการน้ำระดับจังหวัด เช่น จ.เชียงใหม่ ขณะนี้ได้จัดทำแผนการเฝ้าระวังจุดเสี่ยงประสบภัยจากน้ำหลาก ได้แก่ พื้นที่เทศบาล นครเชียงใหม่ โรงพยาบาลลานนา และตัวอำเภอสันกำแพง แผนการกำจัดวัชพืชกีดขวางทางน้ำแม่น้ำปิง ตรวจสอบอาคารควบคุมน้ำมีความพร้อมใช้งาน 56 แห่ง ติดตั้งเครื่องสูบน้ำจำนวน 33 จุด เป็นต้น

2.การแก้ไขปัญหาและผลกระทบจากรับน้ำเข้าพื้นที่ลุ่มต่ำเมื่อปีที่ผ่านมา ให้ทันก่อนการรับน้ำหลาก โดยกรมชลประทานมีการวางแผนงานปรับปรุงซ่อมแซมอาคารชลประทาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพทุ่งรับน้ำ 13 ทุ่ง จำนวน 187 โครงการ ได้รับงบประมาณแล้ว 28 โครงการ กรมทางหลวงชนบท ดำเนินการแก้ไขผลกระทบ จำนวน 4 สายทาง ได้รับการแก้ไขแล้ว 1 สายทาง , 3.การเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำ ณ จุดสำคัญ , 4.การกำหนดผู้รับผิดชอบอ่างเก็บน้ำและแผนปฏิบัติการกรณีวิกฤติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น , 5.บริหารจัดการน้ำอ่างเก็บน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม พร้อมจัดทำแผนบริหารจัดการน้ำในยามวิกฤติ โดยสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำเกิน 80% ของความจุอ่างฯ ขณะนี้ ลดลงเหลือเพียง 30 อ่างฯ เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลปริมาณน้ำในเขื่อน ณ วันที่ 1 พ.ค. ที่มีอยู่จำนวน 60 อ่างฯ , 6.ซ่อมแซมอาคารควบคุมน้ำให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน และเตรียมความพร้อมเครื่องจักรเครื่องมือในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม และ 7.กำจัดสิ่งกีดขวางทางระบายน้ำให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 มิ.ย. 2561

ขณะเดียวกัน ที่ประชุมมีมติเห็นชอบกระบวนการติดตามบริหารจัดการน้ำหลาก จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดย สทนช. ได้กำหนดจุดติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ พร้อมจัดตั้งเกณฑ์การเฝ้าระวังจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย 1.จุดเฝ้าระวังน้ำท่า โดยคัดเลือกสถานีตรวจวัดระดับน้ำ ตามสถิติการเกิดน้ำท่วมรายจังหวัด 96 แห่ง รวมถึงติดตามเฝ้าระวังสถานีตรวจวัดระดับน้ำที่มีการใช้แบบจำลองพยากรณ์ระดับน้ำ จำนวน 44 แห่ง , 2.จุดเฝ้าระวังคุณภาพน้ำ ใน 4 ลุ่มน้ำ ได้แก่ เจ้าพระยา ท่าจีนปราจีน–บางปะกง แม่กลอง

3.การเฝ้าระวังดินโคลนถล่ม โดยใช้เกณฑ์ความเสี่ยงดินถล่มของกรมทรัพยากรน้ำและกรมทรัพยากรธรณี แบ่งเป็น 2 กรณี จุดสีเขียว ถ้ามีปริมาณฝนตกมากกว่า 150 มิลลิเมตร ภายใน 12 ชั่วโมง ให้เฝ้าระวังจุดดังกล่าว กรณีจุดสีม่วง ถ้ามีปริมาณฝนตกมากกว่า 180 มิลลิเมตร ภายใน 12 ชั่วโมง ให้เฝ้าระวังจุดดังกล่าว ทั้งนี้ ข้อมูลทั้งหมดจะถูกประมวลมายังศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ สทนช. ซึ่งจะรายงานต่อไปยังคณะอนุกรรมการติดตามสถานการณ์น้ำและนายกรัฐมนตรีอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ หากมีแนวโน้มสถานการณ์ที่เข้าขั้นวิกฤต จะมีการยกระดับตั้งเป็นศูนย์อำนวยการน้ำเฉพาะกิจเพื่อแก้ไขปัญหาได้ทันต่อเหตุการณ์ต่อไป โดยประชาชนสามารถติดตามสถานการณ์และการคาดการณ์ผ่าน Application ต่าง ๆ ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแบบ Real time ด้วย

อย่างไรก็ตาม เพื่อสร้างการรับรู้มาตรการเตรียมการรับมือสถานการณ์น้ำหลากล่วงหน้า ตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่มอบหมายให้ สทนช. เป็นหน่วยงานหลักในการสร้างการรับรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำในฤดูฝนปี 2561 ที่ประชุมได้เห็นชอบแผนการลงพื้นที่สร้างการรับรู้สถานการณ์น้ำหลากในการเสวนาเรื่อง "การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในระดับพื้นที่" ซึ่งเป็นการต่อยอดงานที่จัดในส่วนกลางไปเมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2561 ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมลงพื้นที่ด้วยจำนวน 4 ครั้ง ครั้งแรกจัดในภาคเหนือ วันที่ 29 มิ.ย. 2561 ณ จ.เชียงใหม่ ครอบคลุมพื้นที่ 17 จังหวัด ครั้งที่ 2 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจัดวันที่ 5 ก.ค. 2561 จ.ขอนแก่น ครอบคลุมพื้นที่ 20 จังหวัด ครั้งที่ 3 จัดที่ภาคกลางในวันที่ 26 ก.ค. 2561 จ.พระนครศรีอยุธยา ครอบคลุมพื้นที่ 26 จังหวัด และ ครั้งที่ 4 ภาคใต้ในวันที่ 2 ส.ค. 2561 จ.สงขลา ครอบคลุม 17 จังหวัด


……………….
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ภาคเหนือ ภาคอีสานและภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีฝนตกหนักบางแห่ง กทม.มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่
ภาคเหนือและภาคอีสานมีฝนตกหนักบางแห่ง กทม.มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30 ของพื้นที่


e-book-1-503x62