ผลสำรวจเรื่อง “บัตรแมงมุม บัตรร่วมโดยสาร เดินทางได้ทุกระบบของคนกรุงเทพฯ”

27 มิ.ย. 2561 | 05:01 น.
ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 52.9 ได้รับความยุ่งยากในการใช้บัตรโดยสารสาธารณะในกรุงเทพฯ ที่มีความหลากหลายและใช้ร่วมกันไม่ได้ ทั้ง MRT ,BTS, Airport Rail Link โดยร้อยละ 65.1 เชื่อว่า หาก“บัตรแมงมุม”ทำได้ครอบคลุมทั้งระบบ จะทำให้การเดินทางของคนในกรุงเทพฯ สะดวกสบายขึ้น แต่ทั้งนี้การเปิดใช้บัตรแมงมุมในช่วงแรก ประชาชนร้อยละ 52.7 ระบุว่า จะสะดวกเฉพาะกับผู้ที่ใช้รถไฟฟ้าสายสีม่วง MRT Airport Rail Link เท่านั้น โดยร้อยละ 37.8 กังวลว่าระบบขนส่งบางประเภทอาจไม่เชื่อมต่อ หรืออุปกรณ์ติดตั้งไม่พร้อม ทำให้ใช้ประโยชน์จากบัตรแมงมุมได้ไม่เต็มที่

เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน ที่ผ่านมา มีการเปิดตัวและแจก “บัตรแมงมุม” เพื่อนำร่องใช้สำหรับรถไฟฟ้าฟ้าสายสีม่วงและสายสีน้ำเงิน จำนวน 200,000 ใบ ให้กับประชาชน ในทุกสถานีของรถไฟฟ้าสายสีม่วงจนกว่าจะหมด กรุงเทพโพลล์โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ จึงดำเนินการสำรวจความคิดเห็นเรื่อง “บัตรแมงมุม บัตรร่วมโดยสาร เดินทางได้ทุกระบบของคนกรุงเทพฯ ” โดยเก็บข้อมูลจากประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ที่ใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะในกรุงเทพฯ รวมทั้งสิ้น 1,184 คน มีผลสำรวจดังนี้
bkpol ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 52.9 ระบุว่า ปัจจุบันมีความยุ่งยากในการใช้บัตรโดยสารขนส่งสาธารณะในกรุงเทพฯ ที่มีความหลากหลายและใช้ร่วมกันไม่ได้ เพราะต้องพกบัตรทีละหลายใบทั้ง MRT, BTS, Airport Rail Link ฯลฯ รองลงมาร้อยละ 24.7 ระบุว่า ต้องเสียเวลาต้องต่อคิวซื้อตั๋วใหม่เวลาเปลี่ยนประเภทการเดินทาง และร้อยละ 22.4 ระบุว่า ไม่มีปัญหาเพราะเคยชินแล้ว

เมื่อถามว่าทราบหรือไม่ว่ารัฐบาลมีโครงการจัดทำ“บัตรแมงมุมหรือ ตั๋วร่วมเดินทางได้ทุกระบบ” ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 53.6 ระบุว่าทราบ ขณะที่ร้อยละ 46.4 ระบุว่าไม่ทราบ

ส่วนเรื่องการแจก “บัตรแมงมุม” เพื่อนำร่องใช้สำหรับรถไฟฟ้าฟ้าสายสีม่วงและสายสีน้ำเงินก่อน จำนวน 200,000 ใบ ให้กับประชาชน ในทุกสถานีของรถไฟฟ้าสายสีม่วงจนกว่าจะหมดนั้น ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 67.4 ระบุว่ายังไม่ทราบ ขณะที่ร้อยละ 32.6 ระบุว่าทราบแล้ว

ทั้งนี้การที่บัตรแมงมุมในช่วงแรกใช้ได้เฉพาะรถไฟฟ้าสายสีม่วง-สายสีน้ำเงินในเดือน มิถุนายน โดยจะขยายไปใช้ร่วมกับ แอร์พอร์ตเรลลิ้งค์และรถเมล์ ในเดือนตุลาคมนั้น ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 52.7 ระบุว่า คนที่ใช้บริการเฉพาะรถไฟฟ้าสายสีม่วง MRT Airport Rail Link และรถเมล์ จะสะดวกขึ้น รองลงมาร้อยละ 26.7 ระบุว่าอาจจะยังไม่ได้รับการตอบรับเท่าที่ควรเพราะยังไม่ครอบคลุมทุกการเดินทาง และร้อยละ 20.2 ระบุว่าการเดินทางเหมือนเดิมเพราะใช้ BTS เป็นหลัก
web-01-ad หากบัตรแมงมุม สามารถทำได้ครอบคลุมระบบขนส่งสาธารณะทุกประเภทในกรุงเทพฯ ชีวิตคนกรุงเทพฯ จะเป็นเช่นไรนั้น ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 65.1 ระบุว่า การเดินทางสะดวกสบายขึ้นเพราะไม่ต้องพกบัตรหลายใบ/ต่อแถวซื้อตั๋วบริเวณจุดเชื่อมต่อ รองลงมาร้อยละ 21.8 ระบุว่า เหมาะกับยุคสมัยที่อนาคตจะเป็นสังคมไร้เงินสด มีบัตรเดียวใช้ได้กับขนส่งสาธารณะทุกระบบ และร้อยละ 12.2 ระบุว่า จะทำให้คนกรุงเทพฯ จะหันมาใช้บริการขนส่งสาธารณะมากขึ้น

สำหรับเรื่องที่ห่วงหรือกังวลมากที่สุดหากมีการใช้ “บัตรแมงมุม” พบว่าร้อยละ 37.8 กังวลว่าจะใช้ประโยชน์ได้ไม่เต็มที่เพราะระบบขนส่งบางประเภทอาจไม่เชื่อมต่อหรืออุปกรณ์ติดตั้งไม่พร้อม รองลงมาร้อยละ 28.2 กังวลว่าระบบการชำระเงินหรือตัดยอดเงินไม่พร้อมและมีปัญหาการใช้งานเมื่อเปลี่ยนประเภทการเดินทาง และร้อยละ 24.7 กังวลเรื่องความเข้าใจของประชาชนในการใช้บัตรแมงมุม

e-book-1-503x62