กำไรแบงก์ Q2 ยังอู้ฟู่! อานิสงส์ดอกเบี้ยขาขึ้น ชดเชยค่าต๋งหด

29 มิ.ย. 2561 | 05:27 น.
290661-1213 appTP13-3182-A

บิ๊กกรุงไทยยอมรับสินเชื่อรายไตรมาสยังพลาดเป้า รอลุ้นปลายปี เหตุสินเชื่อเริ่มกลับมาขยายตัวดีขึ้น ขณะที่ นักวิเคราะห์มองดอกเบี้ยขาขึ้นจะเป็นปัจจัยบวกต่อกำไรไตรมาส 2 คาดออกมาไม่แย่อย่างที่คิด

ผลการยกเลิกค่าธรรมเนียมออนไลน์ของธนาคารพาณิชย์ เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้มองว่า ผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 2 ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ จะปรับลดลง รวมถึงค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้นและส่วนต่างดอกเบี้ยที่จะลดลงจากอัตราผลตอบแทนสินเชื่อรายใหญ่ที่ลดลงด้วย

 

[caption id="attachment_293316" align="aligncenter" width="310"] คุณผยง 3 ผยง ศรีวณิช[/caption]

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานไตรมาส 2 ว่า สินเชื่อรายไตรมาสมีโอกาสน้อยที่จะขยายตัวตามเป้าหมาย ต้องลุ้นปลายปีที่จะได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ขยายตัว 6-7% เพราะภาพรวมสินเชื่อหลัง 5 เดือนแรกของปี เริ่มกลับมาขยายตัวค่อนข้างดีเมื่อเทียบเดือนต่อเดือน โดยความต้องการสินเชื่อจะมาจากเอสเอ็มอีขนาดกลางและรายย่อย ส่วนสินเชื่อเอสเอ็มอีขนาดเล็กกำลังจะกลับมาเติบโต หลังจากไตรมาส 1/2561 สินเชื่อหดตัวไป 0.5% เนื่องจากสินเชื่อสหกรณ์ในอดีตได้ลดลงเหลือแค่ 7 หมื่นล้านบาท จากเดิมที่เคยสูงถึง 1.2 แสนล้านบาท ทำให้เป้าหมายสินเชื่อปีนี้มีความท้าทายมากขึ้น ส่วนกันสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญนั้น น่าจะใกล้เคียงไตรมาสที่ผ่านมา

น.ส.อุษณีย์ ลิ่วรัตน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส จำกัด (มหาชน) หรือ ASP กล่าวกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า แนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้นจะเป็นประโยชน์ต่อกลุ่มธนาคาร เนื่องจากโครงสร้างเงินให้สินเชื่อของธนาคารสัดส่วน 70% เป็นดอกเบี้ยลอยตัว จึงได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยรับที่ปรับขึ้นในทันที ขณะที่ ต้นทุนเงินฝากเป็นดอกเบี้ยคงที่มีสัดส่วน 50%


app12994452_s

ทั้งนี้ การเติบโตของกลุ่มรายได้ดอกเบี้ยที่เป็นธุรกิจหลัก คิดเป็นสัดส่วนถึง 77% ของรายได้รวม จะช่วยบรรเทาผลกระทบจากรายได้ค่าธรรมเนียมที่ลดลง โดยปี 2561 ที่ประเมินว่าจะหดตัวลงจากปี 2560 ผลกระทบจากการลดลงของค่าธรรมเนียมฯ ที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกรรมรายย่อย ประเภทการโอนเงินและชำระเงินผ่านบริการอิเล็กทรอนิกส์

ทั้งนี้ คาดว่ากำไรสุทธิกลุ่มธนาคารในปี 2561 เติบโตเพียง 7.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งต่ำกว่าคาดการณ์อัตราการเติบโตของกำไรสุทธิ (EPS) ของตลาดฯ ที่เติบโตราว 12.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เชื่อว่า ราคาหุ้นกลุ่มธนาคารตอบรับผลกระทบดังกล่าวไปมากแล้ว โดยเฉพาะทิศทางผลการดำเนินงานไตรมาส 2 ที่อ่อนตัว จึงมองเป็นโอกาสในการสะสมหุ้นที่แข็งแกร่งได้


MP24-3378-A

ด้าน บทวิเคราะห์ บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ระบุว่า แม้จะเริ่มเห็นสัญญาณดอกเบี้ยขาขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่ออัตราส่วนต่างดอกเบี้ย หรือ NIM ของธนาคารในระยะยาว แต่ปัจจัยลบจากแนวโน้มผลประกอบการที่ลดลงในไตรมาส 2 จะยังคงเป็นปัจจัยถ่วงอยู่ โดยคาดว่า กำไรไตรมาส 2 จะลดลงประมาณ 6-10% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการที่รายได้ค่าธรรมเนียมธุรกรรมลดลง ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเพิ่มขึ้น และการตั้งสำรองหนี้เสียในระดับสูง

ทั้งนี้ จากงบดุลธนาคารเดือน พ.ค. 2561 พบว่า สินเชื่อขยับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นเพียง 0.4% เมื่อเทียบจากเดือนก่อน และเพิ่มขึ้น 1.1% เทียบตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน และเพิ่มขึ้น 4.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยสินเชื่อของธนาคารกรุงศรีอยุธยาเติบโตสูงที่สุดในกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่และกลางที่ 1.8% เมื่อเทียบจากเดือนก่อน และขยายตัวเพิ่มขึ้น 3% จากสิ้นปีที่แล้ว


app12994465_l

"นอกจากสินเชื่อจะซบเซาแล้ว ฐานเงินฝากก็เปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย ยกเว้นของกรุงไทย แต่อย่างไรก็ตาม กรุงศรีฯ และธนาคารขนาดเล็ก ทั้งเกียรตินาคิน ธนชาต และทิสโก้ การระดมเงินฝากเพิ่มเพื่อล็อกต้นทุนเงินฝากที่ถูกเอาไว้ก่อน สะท้อนถึงความคาดหมายว่า จะมีการขึ้นดอกเบี้ยในอนาคต"

นายพรเทพ ชูพันธุ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ไทยพาณิชย์ จำกัดฯ กล่าวกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า เทรนด์ดอกเบี้ยขาขึ้น ทำให้ธนาคารพาณิชย์เป็นกลุ่มที่ได้รับประโยชน์โดยตรงจาก NIM ที่เพิ่มขึ้น ส่วนที่เคยกังวลว่า การยกเว้นค่าธรรมเนียมออนไลน์จะกระทบผลประกอบการไตรมาส 2 แต่ผลกระทบจริง ๆ ไม่ได้มากอย่างที่กังวล

 

[caption id="attachment_293908" align="aligncenter" width="335"] ประกิต สิริวัฒนเกตุ ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์ บล.กสิกรไทยฯ ประกิต สิริวัฒนเกตุ
ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์ บล.กสิกรไทยฯ[/caption]

นายประกิต สิริวัฒนเกตุ ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์ บล.กสิกรไทยฯ กล่าวว่า หลังประกาศผลประกอบการไตรมาส 2 เชื่อว่าแรงกดดันกลุ่มธนาคารจะเบาลง ตอนนี้กังวลกันไปก่อนว่า กำไรจะปรับลงกว่าไตรมาส 1 แรก แต่คาดว่าจะไม่เป็นเช่นนั้น ขณะที่ เรื่องมาตรฐานบัญชีใหม่ IFRS คาดว่าจะมีการเลื่อนใช้ IFRS ออกไปก่อน จากเดิมที่จะเริ่มใช้ปี 2562


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,378 วันที่ 28-30 มิ.ย. 2561 หน้า 24+23

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
บีบแบงก์อุ้มเอสเอ็มอี! ธปท. สั่งเปิดต้นทุนจูงใจซื้อประกันความเสี่ยงค่าเงิน
ทางออกนอกตำรา : อำลา ธนราชัน ‘บอสชาตรี’  ถึงเวลา‘โทนี่’นำแบงก์กรุงเทพ


e-book-1-503x62