'เจมาร์ท' ผุดบิ๊กดาต้า! นำร่องปล่อยกู้ผ่าน FB

26 มิ.ย. 2561 | 13:02 น.
260661-1944

'เจมาร์ท' เดินตามรอย 'อาลีบาบา โมเดล' สะสมบิ๊กดาต้า ใช้วิเคราะห์ปล่อยเงินกู้รายย่อยยุคดิจิตอล ล่าสุด นำร่องเปิดเพจ คนแห่กู้วันละ 1,000 คน อนุมัติกู้ 49 คน ล่าสุด ดึง MFEC ร่วมพัฒนาระบบ DLP คาดเสร็จเปิดบริการ ต.ค. นี้ เล็งให้วงเงินลูกค้าฟลายนาว

นายธนวัฒน์ เลิศวัฒนารักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจเวนเจอร์ส จำกัด หรือ JVC ในกลุ่มเจมาร์ท เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่บริษัทได้ทดลองระบบ JFIN Decentralized Digital Lending Platform (DDLP) หรือ ระบบปล่อยกู้รายย่อยแบบดิจิตอลไม่มีตัวกลาง ผ่านช่องทางหน้าเฟซบุ๊ก 'สินเชื่อ เจมันนี่ j money เจฟินเทค สมัครได้ทั่วประเทศ' มีผู้สนใจสอบถามข้อมูลผ่านระบบตอบรับถามตอบอัตโนมัติ 'แชตบอต' ประมาณ 10,000 ราย มีผู้สนใจขอสินเชื่อเข้ามาวันละประมาณ 1,000 คน ได้รับการอนุมัติประมาณ 49 คน หรือ 4.9%


28471454_1943989849248594_5323510273430400094_n

สำหรับการพิจารณาช่วงนำร่องการให้สินเชื่อผ่านทางเฟซบุ๊กนั้น จะพิจารณาจากศึกษาข้อมูลและวิเคราะห์พฤติกรรมต่าง ๆ ของผู้ขอสินเชื่อที่เกิดขึ้นบนเฟซบุ๊ก เริ่มตั้งแต่การตั้งชื่อ การสนทนา ลงลึกไปถึงการดูจำนวนเพื่อนที่อยู่ในเฟซบุ๊ก ซึ่งเหล่านี้มีผลต่อการวัดเครดิตสกอริ่งของผู้ขอสินเชื่อ ซึ่งเมื่อผ่านการพิจารณาแล้ว เงินจะถูกโอนเข้าไปในกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือ อี-วอลเล็ต ของผู้ขอสินเชื่อ

นายธนวัฒน์ กล่าวต่อไปว่า ในการพัฒนาระบบ JFIN Decentralized Digital Lending Platform (DDLP) หรือ ระบบปล่อยกู้รายย่อยแบบดิจิตอลไม่มีตัวกลาง นั้น ล่าสุด ได้ลงนามความร่วมมือกับ บริษัท เอ็ม เอฟ อี ซี จำกัด (มหาชน) หรือ MFEC ผู้พัฒนาระบบชำระเงิน หรือ เพย์เมนต์เกตเวย์ ที่เป็นส่วนสำคัญของระบบ JFIN Decentralized Digital Lending Platform (JFIN DDLP) เพื่อพัฒนาระบบดังกล่าว


Screen Shot 2561-06-26 at 19.46.51

โดยตามแผนเบื้องต้น คาดว่าสามารถพัฒนาเฉพาะในส่วนของระบบปล่อยกู้รายย่อยแบบดิจิตอล Digital Lending Platform (DLP) แล้วเสร็จในเดือน ต.ค. 2561 และสามารถเปิดให้บริการได้ทันที ซึ่งโมเดลความร่วมมือกับ MFEC นั้น จะอยู่ในรูปแบบการแบ่งรายได้จากการทำธุรกรรม ส่วนระบบ Decentralized Digital Lending Platform (DDLP) บนเทคโนโลยี Blockchain ที่มีความปลอดภัยสูง รองรับกระบวนการแบบครบวงจร ตั้งแต่การระบุตัวตน (KYC) กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ ประเมินเครดิต การอนุมัติสินเชื่อ และการตามหนี้สิน เพื่อสนับสนุนและพัฒนาการบริการสินเชื่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงรองรับระบบ P2P Lending ระบบตลาดสินเชื่อออนไลน์ที่เชื่อมต่อให้ผู้กู้มีศักยภาพสามารถกู้เงินได้โดยตรง ไม่ต้องผ่านธนาคาร หรือ สถาบันการเงิน จะแล้วเสร็จตามกำหนด คือ เดือน ต.ค. 2562

นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างการหาพันธมิตรที่มีฐานลูกค้า หรือ มีระบบสมาชิกเข้ามาร่วม อาทิ ฟลายนาว (FN) ที่มีเอาต์เลตตามหัวเมืองใหญ่ และมีระบบบัตรสมาชิก ในการให้สินเชื่อ หรือ วงเงินการซื้อสินค้าของฟลายนาว คาดว่าในการเปิดให้บริการระบบปล่อยกู้รายย่อยแบบดิจิตอลนั้น จะมีพันธมิตรเข้าร่วมในระบบ 2-3 ราย


app12994452_s

รวมถึงยังมองการให้สินเชื่อไปยังกลุ่มที่ธนาคารไม่ได้ให้ความสนใจ อาทิ กลุ่มคนขับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง หรือ คนขับรถแท็กซี่ ซึ่งการพิจารณาการให้สินเชื่อของกลุ่มเหล่านี้ อาจพิจารณาจากพฤติกรรมการใช้มือถือ โดยขณะนี้ เจมาร์ทมีฐานลูกค้าอยู่ราว 6 ล้านราย นอกจากนี้ ยังมี เจเอ็มที ซึ่งเป็นบริษัทรับทวงหนี้ อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า การให้สินเชื่อของนอนแบงก์ อาจมีความเสี่ยงสูงกว่าแบงก์ โดยมีความเสี่ยง NPL แบงก์อาจอยู่ที่ 5% แต่นอนแบงก์ความเสี่ยง NPL อยู่ที่ 10%

"เจมาร์ทมีแอ็กเซสที่สำคัญ คือ ข้อมูลฐานลูกค้าและเครือข่ายร้านรีเทล แต่ที่ผ่านมา เราไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์ ตอนนี้เรากำลังเดินตาม ‘อาลีบาบา โมเดล’ แปลงแอ็กเซสมาใช้ประโยชน์ โดยใช้บิ๊กดาต้าในการวิเคราะห์พฤติกรรมเพื่อให้สินเชื่อรายย่อย ซึ่งความร่วมมือกับ MFEC ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยี เพย์เมนต์ เกตเวย์ บล็อกเชน บิ๊กดาต้า จะทำให้การพัฒนาระบบรวดเร็วขึ้น โดยเราไม่ได้เอาต์ซอร์ซให้ MFEC เข้ามาพัฒนาระบบให้ แต่อินซอร์ซจะดึงเข้ามาในเจมาร์ท โดยเจมาร์ทมีบริษัทในตลาด 4 บริษัท มีบริษัทในเครือ คือ ซิงเกอร์ ส่วน MFEC มีบริษัทในเครือ 14 บริษัท ซึ่งหลังจากลงนามความร่วมมือจะมาดูกันว่า สามารถซินเนอร์ยีธุรกิจ หรือ ใช้ข้อมูลร่วมกันอย่างไรได้บ้าง"


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,377 วันที่ 24-27 มิ.ย. 2561 หน้า 01+15

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
‘เจมาร์ท’ผนึกเครือ ต่อยอด‘เจพีประกัน’
‘เจมาร์ท’ชูแคมเปญ ซื้อมือถือฟรีประกัน


e-book-1-503x62