9 มีนาฯ 59 ฉลองใหญ่ ร้อยปีชาตกาล ‘อ.ป๋วย’

08 ก.พ. 2559 | 07:00 น.
หลังจากสถาบัน หน่วยงาน องค์กร หรือกลุ่มบุคคลต่างๆ ได้ทยอยจัดกิจกรรมหลากรูปแบบต่อเนื่องมาทั้งปีแล้ว ยิ่งใกล้วันที่ 9 มีนาคม 2559 นี้ ที่จะเป็นวันครบรอบ 100 ปีชาตกาล อ.ป๋วย ผู้เกี่ยวข้องต่างจดจ่อเพื่อจะได้มีโอกาสร่วมในวาระพิเศษนี้

[caption id="attachment_30011" align="aligncenter" width="395"] ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ประธานคณะกรรมการจัดงานฉลอง "100 ปี ชาตกาล ศาสตราจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ บุคคลสำคัญของโลก" ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล
ประธานคณะกรรมการจัดงานฉลอง "100 ปี ชาตกาล ศาสตราจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ บุคคลสำคัญของโลก"[/caption]

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ประธานคณะกรรมการจัดงานฉลอง "100 ปี ชาตกาล ศาสตราจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ บุคคลสำคัญของโลก" เล่าว่า ทุกคนขอกันมาเยอะ ได้พยายามบรรจุรายการต่าง จึงจัดเป็น 2 วันเต็ม คือ วันแรกพุธที่ 9 มีนาคมฉลองที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และถัดมาวันที่ 10 ธันวาคม มีงานที่แบงก์ชาติ เนื่องจากปีนี้นอกจากครบ 100 ปีชาตกาลแล้ว อ.ป๋วย ยังได้รับการยกย่องจากยูเนสโก ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกด้วย

[caption id="attachment_30015" align="aligncenter" width="500"] รูปปั้นอาจารย์ป๋วย รูปปั้นอาจารย์ป๋วย[/caption]

วันแรกรำลึกที่ธรรมศาสตร์

โดยงานวันแรก 9 มีนาคม หลังเสร็จพิธีสงฆ์ช่วงเช้าแล้ว จะเริ่มด้วยการเปิดอนุสาวรีย์อ.ป๋วย อีกชิ้น ที่คณะเศรษฐศาสตร์ ได้ขอทางครอบครัวแล้ว เป็นรูปปั้นเล็กขนาดเท่าคนจริง ยืนบนแท่นเล็ก ๆ แต่งตัวธรรมดา ง่ายๆ สไตล์ อ.ป๋วย โดยจะจัดบรรยากาศเป็นสวนริมน้ำเจ้าพระยา ดูแล้วเป็นกันเองกับเด็ก ๆ มีนายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นประธานเปิด

จากนั้นเป็นการพูดถึง อ.ป๋วย ที่หอประชุมศรีบูรพา(หอประชุมเล็ก) มีการกล่าวเปิดงานและอ่านคำประกาศยูเนสโก ที่มีมติให้ อ.ป๋วยเป็นบุคคลสำคัญของโลก อย่างเป็นทางการ โดย นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมช.กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เสนอเรื่องไปยูเนสโก

ต่อจากนั้นจะเชิญคนที่รู้จัก อ.ป๋วยในอดีตมาพูด "อ.ป๋วยที่ข้าพเจ้ารู้จัก" ที่เตรียมไว้มี 3 คน คนแรกคือ อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เป็นเพื่อนรุ่นน้องที่เรียนจากอังกฤษด้วยกัน นับถือและเคารพวัตรปฏิบัติของ อ.ป๋วยมาก

มี ดร.อรัญ ธรรมโน ซึ่งเป็นทั้งลูกศิษย์ อ.ป๋วย ตอนเรียนธรรมศาสตร์ และมาทำงานที่กระทรวงคลังก็เป็นลูกน้อง อ.ป๋วย อ.ป๋วยส่งไปเรียนเมืองนอกกลับมาทำงานต่อจนเป็นปลัดคลัง ทำงานรับลูก อ.ป๋วยอย่างฉับไว ท่านจะใกล้ชิดและรักมาก

คนที่ 3 อยากได้ที่เป็นศิษย์เก่า ก็เลือกกันได้ รศ.วิทยากร เชียงกูล เป็นนักศึกษาเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ หลักสูตรใหม่ที่ อ.ป๋วยเป็นคนเขียน ที่เป็นการสร้างมาตรฐานหลักสูตรเศรษฐศาสตร์ใหม่ และมหาวิทยาลัยแห่งอื่น ๆ นำไปพัฒนาต่อมา "ผมเสียดายเป็นเศรษฐศาสตร์ มธ.หลักสูตรเก่ารุ่นสุดท้ายที่เรียนง่ายมาก แต่ก็ตามไปนั่งฟังทุกวิชาที่ อ.ป๋วยสอน" ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าว

ต่อด้วยกิจกรรม "ปาฐกถาพิเศษ ป๋วย อึ๊งภากรณ์" ครั้งที่ 15 ของคณะเศรษฐศาสตร์ มธ. โดยปีนี้ได้แก่ นพ.วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร เป็นรางวัล "ป๋วย เลคเชอร์ ซีรีส์" ที่ธรรมศาสตร์คัดเลือกจากสานุศิษย์ ที่นำแนวคิด อ.ป๋วยมาใช้ ซึ่งคุณหมอจะได้มาเล่าแถลงถึงสิ่งที่ทำให้ฟัง

กิจกรรมภาคบ่ายวันนี้เป็นของโครงการตำราของ อ.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เป็นการเสนอบทวิจัยของอาจารย์ธรรมศาสตร์ ชุดที่ 1 โดยรศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล หัวข้อประชาธิปไตย ดร.เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว ด้านสิทธิมนุษยชน ดร.จันจิรา สมบัติพูนศิริ เรื่องสันติวิธี

ชุดสอง ผช.ดร.อภิชาต สถิตนิรมัย เรื่องเทคโนแครต ดร.ธร ปิติดล การพัฒนาชนบท และดร.วัชรฤชัย บุญธินันท์ ด้านการศึกษา

ปิดท้ายเย็นวันแรกด้วย "งิ้วธรรมศาสตร์"

[caption id="attachment_30012" align="aligncenter" width="377"] ตำระลึกอาจารย์ ป๋วย ตำระลึกอาจารย์ ป๋วย[/caption]

อีกวันฉลองที่แบงก์ชาติ

วันที่ 2 พฤหัสบดีที่ 10 มีนาคม 2559 ย้ายไปจัดที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตั้งแต่เช้า 08.30 น. เช่นกัน เริ่มด้วยการอ่านคำประกาศรางวัลยูเนสโกอีกครั้ง โดย ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ประธานคณะกรรมการจัดงานฉลอง 100 ปี ชาตกาล อ.ป๋วยฯ

เสวนาภาคเช้าในเรื่องที่ทุกคนอยากฟัง หัวข้อแรก "แนวคิดทางการศึกษาของ อ.ป๋วย" โดยอาจารย์ธรรมศาสตร์ที่เก่งเรื่องการศึกษา มี ศ.เกริกเกียรติ พิพัฒน์เสรีธรรม อดีตอธิการบดี มธ. รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ และรศ.ดร.อนุชาติ พวงสำลี

ต่อด้วยเสวนาหัวข้อ" อ.ป๋วยกับการพัฒนาชนบท" ได้ทาบทามคุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ ผศ.ดร.จิตติ มงคลชัยอรัญญา และคุณพิศิษฐ์ ชาญเสนาะ ที่ต่างเคยทำงานพัฒนาชนบท เป็นอดีตบัณฑิตอาสาสมัคร เคยร่วมงานกับ อ.ป๋วย มาคุยให้ฟัง

ภาคบ่ายเข้าเรื่องของแบงก์ชาติ ก็เห็นกันว่าควรเชิญคนที่เคยเป็นนักเรียนทุนแบงก์ชาติที่ อ.ป๋วยเริ่มไว้ และได้เป็นถึงผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย สรุปว่าที่เหมาะที่สุดคือ ดร.ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ จะมาเดี่ยวไมโครโฟนหัวข้อ "ดร.ป๋วยกับธนาคารแห่งประเทศไทย"

จากนั้นเป็นการแจกรางวัลธรรมาภิบาลดีเด่นของสถาบันป๋วย ซึ่งมีทั้งรางวัลเอสเอ็มอีดีเด่นด้านธรรมาภิบาล รางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนดีเด่น รวมถึงรางวัลประกวดเรียงความเกี่ยวกับ อ.ป๋วย เป็นต้น

ปิดท้ายจะเป็นกิจกรรมประมูลของที่ทำให้เราระลึกถึง อ.ป๋วย จะมีคนนำจดหมายเก่าๆ ที่อ.ป๋วยเคยเขียนถึง อะไรพวกนี้ มาให้ประมูล โดยหลังประมูลเสร็จจะนำของประมูลเหล่านี้เก็บเข้าพิพิธภัณฑ์ โดยจัดแสดงให้ชมพร้อมติดป้ายไว้ว่าของชิ้นนี้ใครเป็นผู้ประมูลแล้วมอบไว้ให้ ก็เป็นการหารายได้เพื่อนำมาทำงานกุศลกัน

-นายธนาคารกลางทั่วเอเชียร่วมด้วย

ไม่เพียงการจัดฉลองในเมืองไทย รางวัลบุคคลสำคัญของโลกที่ยูเนสโกประกาศนั้น ในการพิจารณามีข้อกำหนดหนึ่งว่า ต้องเป็นคนทำประโยชน์โดยทั่วไป ไม่เฉพาะในประเทศผู้เสนอชื่อเท่านั้น ต้องไปทำข้างนอกและเป็นที่ยอมรับด้วย ก็น่ายินดีว่าในห้วงฉลอง 100 ปีเดือนมีนาคมนี้ จะมีงานฉลองให้ อ.ป๋วยที่มาเลเซียด้วย

โดยงานหนึ่งที่ อ.ป๋วยขณะเป็นผู้ว่าการฯ ธปท.ได้ริเริ่มไว้ คือ การเชิญนายธนาคารกลางประเทศต่าง ๆ มาประชุมที่เมืองไทย นอกจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แล้วต่อมาได้ริเริ่มให้เป็นศูนย์ฝึกฝนให้ความรู้แก่นายธนาคารกลาง ตั้งแต่รุ่นใหญ่จนถึงรุ่นเล็ก แรกเริ่มมี 7 ประเทศ เรียกว่า SEACEN หมุนเวียนเป็นเจ้าภาพจัดประชุมทุกปี จนเวลานี้มีสมาชิก 22 ประเทศ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้และจัดหลักสูตรอบรม

เริ่มแรกหลักสูตรอบรมตามหัวข้อของแต่ละประเทศที่เป็นเจ้าภาพ ต่อมาตกลงกันตั้งเป็นสำนักงาน SEACEN ขึ้นตั้งอยู่ที่มาเลเซีย ทำหลักสูตรต่างๆ เยอะมากเป็นศูนย์ฝึกอบรมใหญ่สำหรับนายธนาคารกลางของเอเชียทั้งหมด ปรากฏว่าแปลกแต่จริง วันที่ประชุมมีมติตั้งSEACEN กันเป็นเดือนมีนาคม 2509 ก็ครบ 50 ปีพอดี ก็เลยจะฉลองให้ อ.ป๋วยด้วย "ผมและผู้ว่าการฯธปท.เก่าหลายคนจะบินไปร่วมด้วย" ในงานที่จะมีนายธนาคารกลางกว่า 20 ประเทศมาร่วมงาน

-ฟื้นแหล่งกำเนิด

นอกจากกิจกรรมร่วมรำลึกต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงนี้แล้ว ม.ร.ว.ปรีดิยาธรเล่าอีกว่า อันสุดท้ายที่ต้องบอกว่าดีที่สุด คือ โครงการของกรมธนารักษ์ ที่รัฐบาลเห็นชอบแล้ว ให้ดำเนินโครงการก่อสร้างอนุสรณ์สถาน ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ บนที่ราชพัสดุที่เคยเป็นบ้านเกิดและพักอาศัยตอนเป็นเด็ก ที่ตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ ขนาดเนื้อที่ 214.5 ตารางวา

โดยจะปรับปรุงสภาพโดยรอบให้เป็นเหมือนชุมชนจีนโบราณ มีพิพิธภัณฑ์ อ.ป๋วยพร้อมรูปปั้นเท่าตัวจริงอยู่ที่นั่น ให้เป็นแหล่งที่คนจะมาแวะชมได้ นั่งเรือมาทางแม่น้ำเจ้าพระยาก็ขึ้นมาได้ โดยทางอาศรมศิลป์ช่วยออกแบบการบูรณะบริเวณทั้งหมดเป็นชุมชน โครงการนี้ได้รับอนุมัติงบแล้ว คาดจะลงเสาเข็มเริ่มงานได้มิถุนายนนี้

"ใช้เวลาอีก 2 ปีก็คงจะเสร็จ เราก็ดีใจ ว่ามีสิ่งที่จะระลึกถึงอาจารย์ป๋วยได้หลายจุด" คุณชายอุ๋ยกล่าวย้ำเสียงหนักแน่น

มรดกความคิดและผลงาน อ.ป๋วยในมุมมอง ‘คุณชายอุ๋ย’

1.สร้างมาตรฐานการศึกษาเศรษฐศาสตร์ระดับสากลของเมืองไทย

2.สร้างโครงการตำรา ผลิตตำราสร้างความรู้

3.สร้างหอสมุดเศรษฐศาสตร์ที่ดีที่สุดของภูมิภาค จุดประกายการพัฒนาหอสมุดไทย

4.ขยายธรรมศาสตร์เป็น ม.เต็มรูปแบบตามแผนโครงการ "รังสิต"

5.สร้างและวางพื้นฐานสำนักงบประมาณ

6.สร้างสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) เพื่อให้คุมนโยบายการคลัง คู่กับฝั่งแบงก์ชาติที่คุมนโยบายการเงิน ตั้งได้แล้วไม่มีคน อ.ป๋วยถูกตั้งเป็น ผอ.สศค.คนแรก ให้ควบอีก 2 ตำแหน่งใหญ่คือ ผอ.สำนักงบฯ และผู้ว่าฯแบงก์ชาติ เมื่อหาคนได้แล้วก็รีบวางมือ

7.เสริมความเข้มแข็งแบงก์ชาติสู่ความทันสมัย พัฒนาเครื่องมือการเงินใหม่ๆ ผ่าน พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2505 รวมทั้งทำให้ธนาคารพาณิชย์ไทยมีช่องโตขึ้นมามีบทบาทแทนแบงก์ต่างชาติ จากบทบัญญัติ ธนาคารพาณิชย์ที่จะขยายสาขาได้ต้องเป็นธนาคารพาณิชย์ไทย

8.ที่ยิ่งยวดเลยคือ เป็นแรงบันดาลใจให้ข้าราชการไทยซื่อตรงและกล้าหาญ และนายธนาคารทำงานด้วยคุณธรรม จากการที่ อ.ป๋วย ไม่โอนอ่อนตามความต้องการที่ไม่สุจริตของผู้มีอำนาจทางการเมือง ตลอดชีวิตการทำงาน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,128 วันที่ 4 - 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559