“อาคม” แจงสื่อจีนรถไฟไทย-จีนยันพร้อมลงทุนเอง

26 มิ.ย. 2561 | 09:35 น.
“อาคม” แจงสื่อจีน กรณีรถไฟไทย-จีนที่ทล.อยู่ระหว่างดำเนินการช่วง 3.5กม. ยันโครงการมีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ และไทยพร้อมลงทุนเอง

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้สัมภาษณ์กับคณะเจ้าหน้าที่สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งชาติจีน (CRI) เกี่ยวกับโครงการความร่วมมือพัฒนาระบบรางระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร – หนองคาย เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2561 ณ กระทรวงคมนาคม โดยมี นายชาติชาย ทิพย์สุนาวี ปลัดกระทรวงคมนาคม ผู้แทนการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เจ้าหน้าที่กรมประชาสัมพันธ์ และเจ้าหน้าที่สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งชาติจีน เข้าร่วมรับฟังการให้สัมภาษณ์

ako3

โดยนายอาคมกล่าวว่า
โครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร - หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร - นครราชสีมา) แบ่งงานก่อสร้างออกเป็น 14 ตอน คือ ตอนที่ 1 สถานีกลางดง - ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กิโลเมตร เริ่มดำเนินการก่อสร้างเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2560 โดยมีวิศวกรชาวจีนเป็นที่ปรึกษาควบคุมงานอยู่ในพื้นที่ก่อสร้างด้วย ขณะนี้มีความก้าวหน้า 11% ล่าช้ากว่าแผนงานเล็กน้อย เนื่องจากฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง ตอนที่ 2 ช่วงสีคิ้ว - กุดจิก ระยะทาง 11 กิโลเมตร ฝ่ายจีนได้จัดส่งแบบรายละเอียดให้ฝ่ายไทย และฝ่ายไทยตรวจสอบและส่งให้ฝ่ายจีนแก้ไขบางส่วนแล้ว คาดว่าจะสามารถดำเนินการประกวดราคาได้ในเดือนสิงหาคม 2561 ที่เหลืออีก 12 ตอนฝ่ายจีนจะทยอยส่งแบบ และดำเนินการประกวดราคาได้ภายในปี 2561 การก่อสร้างจะแล้วเสร็จในปี 2564

โครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร - หนองคาย (ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา - หนองคาย) ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงกันว่าฝ่ายไทยจะศึกษาออกแบบรายละเอียด โดยมีจีนเป็นที่ปรึกษา ขณะนี้อยู่ระหว่าง รฟท. ดำเนินการจัดจ้างที่ปรึกษา คาดว่าจะสามารถประกวดราคาได้ประมาณต้นปี 2562 การก่อสร้างแล้วจะเสร็จในปี 2565

ako1

การเชื่อมโยงทางรถไฟช่วงหนองคาย - เวียงจันทน์ ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบในหลักการเกี่ยวกับการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ เพื่อใช้เป็นสะพานสำหรับรถไฟความเร็วสูง (ขนาดทางมาตรฐาน) และรถไฟทางคู่ (ขนาดทาง 1 เมตร) โดยจีนจะเป็นเจ้าภาพในการศึกษาและออกแบบรายละเอียด

ปัญหาอุปสรรคด้านข้อกฎหมายเกี่ยวกับวิศวกรและสถาปนิกต่างชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย โดยจะต้องผ่านการอบรมและทดสอบจากสภาวิศวกรไทยก่อน รัฐบาลไทยได้ดำเนินการช่วยเหลือโดยการออกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 30/2560 เรื่อง มาตรการเร่งรัดและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ – นครราชสีมา โดยให้วิศวกรและสถาปนิกจากจีนเข้ามาทำงานได้ โดยได้รับข้อยกเว้นไม่ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ และฝ่ายไทยได้จัดฝึกอบรมแก่วิศวกรและสถาปนิกจีนให้รับทราบข้อมูลสภาพภูมิประเทศ และภูมิศาสตร์ของประเทศไทย

ako2

ส่วนด้านการเงินและการลงทุน รัฐบาลไทยจะเป็นผู้ลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูง เพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร – หนองคาย ทั้งหมด

สำหรับแหล่งเงินกู้และอัตราดอกเบี้ย กระทรวงการคลังจะพิจารณาแหล่งเงินกู้และอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมที่สุด ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าของสาธารณรัฐประชาชนจีน (China EXIM Bank) ทั้งนี้ยังเปิดโอกาสให้จีนสามารถร่วมลงทุนในการบริหารจัดการเดินรถร่วมกับไทย

โครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร – หนองคาย มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ในการเชื่อมโยงภูมิภาคอาเซียน และสาธารณรัฐประชาชนจีนที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในภูมิภาค มีมูลค่าการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวกับไทยสูง เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ One Belt One Road ที่จะสนับสนุนยุทธศาสตร์การสร้างประเทศไทย ให้เป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ของภูมิภาคอาเซียน (Logistic Hub) รวมทั้งสนับสนุนยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ให้เชื่อมโยงกับโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) ที่จะสามารถเพิ่มศักยภาพและโอกาสทางเศรษฐกิจของประเทศไทย

โครงการฯ ดังกล่าว เป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งได้กำหนดแผนการก่อสร้างไว้อย่างชัดเจน และได้เริ่มการก่อสร้างไปแล้ว ดังนั้นจะไม่มีการระงับโครงการฯ นี้อย่างแน่นอน

e-book-1-503x62