บูมธุรกิจยานยนต์ยุคใหม่ค่ายใหญ่เชื่อมรถอินเตอร์เน็ต-สตาร์ตอัพขยับคาร์แชริ่ง

01 ก.ค. 2561 | 00:08 น.

จับตา 4 นวัตกรรมพลิกโฉมอุตสาหกรรมยานยนต์ ทั้งยานยนต์พลังไฟฟ้า ระบบขับขี่อัตโนมัติที่หลายค่ายเล็งแนะนำเข้าสู่ตลาด ส่วนอินเตอร์เน็ตคาร์ เริ่มมีให้เห็นมากขึ้นตั้งแต่รถยนต์ราคาถูกยันหลักล้าน ขณะที่การเช่ารถแบบ “คาร์แชริ่ง” พร้อมแจ้งเกิดผู้ประกอบการหน้าใหม่


4 สมการยานยนต์ยุคใหม่ ทั้งรถพลังไฟฟ้า (อีวี) ระบบขับขี่อัตโนมัติ ระบบเชื่อมต่อรถยนต์กับอินเตอร์เน็ต และคาร์แชริ่ง หากใครจับทางถูกหรือแก้สมการธุรกิจนี้ได้ก่อนก็มีโอกาสประสบความสำเร็จสูง และยังเป็นการเปิดช่องทางให้ผู้ประกอบการหน้าใหม่เข้ามาแข่งขันบนจุดเริ่มต้นพร้อมๆ กัน

 

MP32-3378-A

โดยรถพลังไฟฟ้า(อีวี) ที่ไม่ปล่อยมลพิษไอเสีย มีต้นทุนต่อหน่วยการวิ่งตํ่า และค่าซ่อมบำรุงถูกกว่ารถเครื่องยนต์สันดาปภายใน เมืองไทยอาจจะยังมาไม่เร็วหรือแพร่หลายในระยะเวลาอันสั้นแต่ผู้เล่นรายใหญ่อย่าง “นิสสัน” ประกาศนำเข้า “ลีฟ” มาขายเมืองไทยภายในปีนี้ ไม่รวมรายอื่นๆเช่น ฮุนได เกีย บีวายดี และรายใหม่อย่าง ฟอมม์ และไมน์ ในเครือบริษัทพลังงานบริสุทธิ์ฯที่พร้อมลุยปีหน้า

ส่วนเทคโนโลยีขับขี่อัตโนมัติ ถือเป็นภาพใหญ่ของความอัจฉริยะที่หลายค่ายซุ่มพัฒนาในระดับโลก แต่เบื้องต้นรถยนต์ที่ทำตลาดในเมืองไทยหลายรุ่น เริ่มเพิ่มระบบช่วยเหลือการขับขี่เข้ามามากขึ้นโดยมีเป้าหมายเพื่อรักษาความปลอดภัย และลดอุบัติเหตุบนท้องถนน เช่น ระบบรักษาความเร็วและรักษาระยะห่างระหว่างรถคันหน้าอัตโนมัติ ระบบช่วยเบรกอัตโนมัติ ระบบรักษารถในช่องทางวิ่ง และระบบช่วยจอด เป็นต้น ซึ่งเหล่านี้จะถูกนำไปรวมเป็นระบบออโตโนมัส ไดรฟ์ (Autonomous Drive) ที่สมบูรณ์แบบในอนาคต

ขณะที่ระบบเชื่อมต่อรถยนต์กับอินเตอร์เน็ตเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ขับขี่ พร้อมการสั่งงานการควบคุมได้แบบเรียลไทม์คนกับรถสามารถสื่อสารกันได้ผ่านสมาร์ทโฟนโดยเทคโนโลยีนี้เริ่มเห็นเต็มรูปแบบกับ“เอ็มจี”ที่ใส่ระบบไอ-สมาร์ท เข้ามาในเอสยูวีรุ่น “แซดเอส” และ “เอ็มจี3 ไมเนอร์เชนจ์”

สำหรับระบบไอ-สมาร์ท ของเอ็มจีรองรับคำสั่งเสียงภาษาไทยในฟังก์ชั่นต่างๆได้ อาทิ ระบบเอนเตอร์เทนเมนต์ ระบบนำทาง หรือจะควบคุมการสั่งงานผ่านหน้าจอและสั่งผ่านโมบายแอพพลิเคชันในมือถือหรือแท็บเลต ซึ่งจะรองรับตั้งแต่ก่อนการเดินทาง ,ระหว่างการเดินทางและหลังจากเดินทางเสร็จสิ้น ทั้งนี้เจ้าของสามารถสั่งให้สตาร์ตรถหรือเปิดแอร์จากมือถือที่ได้ดาวน์โหลดแอพพลิเคชันไว้ล่วงหน้าได้

ส่วนค่ายรถยนต์ที่เพิ่งแนะนำระบบนี้ล่าสุดคือ บีเอ็ม ดับเบิลยูที่ร่วมมือกับไมโครซอฟท์ ทำ BMW ConnectedDrive เบื้องต้นจะรองรับบีเอ็มดับเบิลยูขุมพลังปลั๊ก-อินไฮบริด ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2561 เป็นต้นไปทั้ง330e 530eและ 740Le

โดยผู้ใช้งานจะสามารถควบคุมระบบต่างๆ ของรถได้จากระยะไกล  ทั้งยังสามารถเข้าถึงข้อมูลที่สำคัญเกี่ยวกับรถ ผ่านแอพพลิเคชัน BMW Connected บน iPhone   ทั้งการแสดงสถานะรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด ระยะทางที่คาดว่าจะวิ่งได้ด้วยพลังงานไฟฟ้าที่เหลืออยู่ และข้อมูลเกี่ยวกับการบำรุงรักษารถ

“กระบวนการปฏิรูปด้วยดิจิตอลกำลังผลักดันให้ทุกอุตสาหกรรมและทุกองค์กรทั่วโลกต่างต้องพลิกรูปแบบการทำธุรกิจเพื่อชิงความได้เปรียบในการแข่งขันสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ และคาดการณ์กันว่าในปี  2563 รถยนต์ใหม่ในตลาดโลกกว่า 90% จะมาพร้อมกับคุณสมบัติการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์หรือโลกภายนอก” นายธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทไมโครซอฟท์ (ประเทศ ไทย) จำกัด กล่าว

ส่วนพี่ใหญ่“โตโยต้า” เริ่มใส่ระบบ T-Connect Telematics มาเป็นออพชันให้รถยนต์อย่างซี-เอชอาร์ ฟอร์จูนเนอร์ อัลติส คัมรี่ อินโนวา(แล้วแต่รุ่นย่อย) เพื่อเชื่อมต่อรถยนต์ด้วยเครือข่ายโทรศัพท์มือถือสั่งงานผ่านแอพพลิเคชัน รองรับบริการในรูปแบบต่างๆตลอดจนตรวจจับระยะทางวิ่งของรถที่มี T-Connect Telematics อย่างแม่นยำเพื่อนำไปเป็นส่วนลดเบี้ยประกันภัยรายปีสูงสุด 20% (ขับน้อยกว่า 2,000 กม./ปี)

นอกจากนี้ธุรกิจ “คาร์แชริ่ง” หรือบริการเช่ารถขับรูปแบบใหม่ที่ โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ลงทุน 50 ล้านบาทเพื่อนำร่องศึกษาโครงการภายใต้ชื่อ CU TOYOTA Ha : mo (ซียู โตโยต้า ฮาโม่) ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว

โดยนำเข้ารถพลังไฟฟ้ารุ่น “คอม” จากประเทศญี่ปุ่นมาใช้เป็นพาหนะ 20 คัน พร้อมพัฒนาแอพพลิเคชันรองรับ รวมถึงสถานีชาร์จอีก 15 แห่งในรั้วจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้ง 2 ฝั่ง

ทั้งนี้ “คาร์แชริ่ง” ของโตโยต้าเปิดให้บริการทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ เวลา 7 โมงเช้าถึง 1 ทุ่ม ผู้ใช้ต้องเสียค่าสมัครสมาชิก 100 บาท และเก็บค่าบริการ 30 บาทต่อการใช้ 20 นาที เกินจากนั้นคิดค่าบริการเพิ่มนาทีละ 2 บาท ซึ่งการจองรถและชำระเงินผ่านแอพ พลิเคชันบนมือถือโดยโตโยต้า มีแผนขยายโมเดลธุรกิจนี้ไปสู่ชุมชนอื่นๆที่สนใจเช่นกัน

e-book-1-503x62

ส่วนธุรกิจคาร์แชริ่งสัญชาติไทย บริษัท ฮ้อปคาร์ จำกัด ที่เริ่มธุรกิจด้วยรถยนต์ที่มีขายในท้องตลาดทั่วไปมากว่า 2 ปีแล้ว โดยดร.สโรช บุญศิริพันธ์ CSO&Co-founder เปิดเผยว่าธุรกิจคาร์แชร์ริ่งในไทยเริ่มจะมีผู้เล่นอื่นๆเข้ามาแข่งขันเพิ่มขึ้น ซึ่งหลักๆจะเป็นแบรนด์จากต่างประเทศ

โดยธุรกิจนี้มีแนวโน้มขยายตัว ด้วยความสะดวกในการใช้งาน ค่าบริการชัดเจนและไม่มีภาระผูกพัน  อย่างการใช้งานของฮ้อปคาร์ เพียงดาวน์โหลดแอพพลิเคชันและลงทะเบียน หลังจากนั้นเมื่อจองรถก็สามารถไปยังจุดที่มีรถจอดอยู่ โดยปลดล็อกได้จากมือถือที่ได้ลงทะเบียนไว้

เช่นเดียวกับการจ่ายเงินก็หักผ่านจากแอพพลิเคชัน ส่วนค่าบริการจะคิดเป็นรายชั่วโมง อาทิ มาสด้า 2 ราคา 99 บาทต่อชั่วโมงหรือ 799 บาทต่อวัน ซึ่งราคาดังกล่าวรวมค่านํ้ามันและค่าประกัน โดยรูปแบบดังกล่าวจะแตกต่างจากการเช่ารถที่ไม่รวมค่านํ้ามันและต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มในส่วนของการประกันภัย ปัจจุบันบริษัทมีรถให้บริการกว่า 70 คัน และมีจุดจอดมากกว่า 25 แห่ง

“เรากำลังศึกษาว่าจะนำจักรยานยนต์ไฟฟ้ามาทำคาร์แชริ่ง รวมไปถึงรถยนต์ไฟฟ้า ที่คาดว่าจะเปิดตัวภายในสิ้นปีนี้ ไม่เพียงเท่านั้นยังเตรียมขยายไปยังกลุ่มซูเปอร์คาร์ โดยอยู่ในระหว่างการทดลองตลาดอยู่” ดร.สโรช กล่าว

...ถือเป็น 4 นวัตกรรมเปลี่ยนโลกที่เริ่มขยับใกล้ตัวมากขึ้น ที่สำคัญยังแฝงไว้ด้วยโอกาสทางธุรกิจในทุกช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านนี้

หน้า 32-33 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,378 วันที่ 28 - 30 มิถุนายน 2561