ลุ้นบ้านรอบสถานีรถไฟฟ้า พม.ผนึกรฟม.เร่งเคลียร์กฎหมายเปิดช่องกคช.สร้าง

05 ก.พ. 2559 | 03:00 น.
พม.ผนึก-รฟม.หารือแนวทางการพัฒนาที่อยู่อาศัยรอบสถานีรถไฟฟ้า(TOD) 3 ทำเลเด่นมาแรงทั้ง เดโป้ สายสีม่วงที่บางใหญ่ จุดจอดสายสีเขียวที่บางปิ้ง และที่มีนบุรีของรถไฟฟ้าสายสีส้ม ลุ้นหารือเคลียร์ปมปัญหาข้อกฏหมายกับรองนายกฯวิษณุ ก่อนเคาะความชัดเจนกับกฤษฎีกา เร่งผลักดันให้เกิดเป็นรูปธรรม ด้าน กคช.แย้มแผนสร้างห้องชุดเช่าเซ้งยาว 30 ปี ให้ผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลาง

นายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล ผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) เปิดเผย กับ“ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ได้มีการหารือร่วมกับ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงห์แก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และคณะผู้บริหารการเคหะแห่งชาติ (กคช.) ถึงแนวทางการพัฒนาที่อยู่อาศัยในเขตสถานีรถไฟฟ้าและศูนย์ซ่อม ตามที่รฟม.ได้ร่วมลงนามในบันทึกความร่วมมือ(เอ็มโอยู)กับ กคช.เพื่อจัดสร้างที่อยู่อาศัยให้กับประชาชน

ทั้งนี้ มีความเห็นร่วมกันว่าหากเป็นพื้นที่ของ กคช. ให้พัฒนาโครงการได้ทันที ในส่วนที่ดินที่ รฟม.รับผิดชอบนั้น เบื้องต้นได้นำเสนอแผนการพัฒนาที่อยู่อาศัยตามแนวสถานีรถไฟฟ้าและการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานี (Transit Oriented Development : TOD) เหนือพื้นที่ใช้ประโยชน์ สำหรับกิจการรถไฟฟ้าเบื้องต้นพื้นที่สามารถพัฒนาได้คือ จุดจอดแล้วจร(Park & Ride) บางปิ้ง มีพื้นที่ 18 ไร่ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย แบริ่ง-สมุทรปราการ และศูนย์ซ่อมบำรุงคลองบางไผ่ พื้นที่ 14 ไร่ ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-บางใหญ่ และพื้นที่ศูนย์ซ่อมมีนบุรี สายสีชมพู เส้นทางแคราย-มีนบุรี พื้นที่รวม 218 ไร่ ให้พม.ไปพิจารณา ซึ่งทั้งหมดนั้นเป็นที่ดินที่เวนคืนมาดำเนินการ

“การหารือร่วมกันครั้งนี้ ส่วนหนึ่งเป็นการติดตามความคืบหน้าภายหลังจากที่ได้ทำบันทึกเอ็มโอยูต่อกันตั้งแต่ปี 2557 แต่ไม่มีความคืบหน้า เพราะติดปัญหาด้านระเบียบกฎหมาย ทั้งยังได้รายงานต่อทาง พม.ว่า รฟม.สนับสนุนแนวคิดและหลักการนำพื้นที่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์แล้วไปพัฒนาให้เกิดประโยชน์ด้านอื่นๆ แต่เนื่องจากติดข้อกฎหมายกรณีที่ดินเหล่านั้นได้มาจากการเวนคืน หากนำที่ดินไปใช้ในวัตถุประสงค์อื่นนอกเหนือจากการก่อสร้างระบบรถไฟฟ้า กฤษฎีกายังไม่เห็นชอบให้ดำเนินการ ซึ่งพม.และรฟม.จะรวบรวมข้อมูลนำเสนอนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เพื่อขอคำแนะนำถึงแนวทางการดำเนินการเป็นอย่างอื่นต่อไป”

ผู้ว่า รฟม.กล่าวอีกว่าในการพัฒนาที่อยู่อาศัยหากต้องลงทุนในโครงการกคช. จะต้องมีการศึกษารูปแบบและงบประมาณการลงทุนเองทั้งหมด โดยพม.และกคช.ยืนยันจะเร่งผลักดันให้โครงการสามารถเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็วต่อไป โดยเฉพาะจะร่วมมือกันเร่งแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่างๆให้ดำเนินการได้ตามแผนที่กำหนด โดยเฉพาะการสร้างที่อยู่อาศัยให้กับผู้มีรายได้น้อย ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลให้สัมฤทธิ์ผลโดยเร็ว

ด้าน นางสาวอุบลวรรณ สืบยุบล รักษาการแทนผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวว่า หากสามารถแก้ไขกฎหมายดังกล่าวได้ กคช.ก็จะเร่งดำเนินการก่อสร้างที่อยู่อาศัยทันที ในลักษณะของการเช่าเซ้งอาคารชุดพักอาศัยระยะยาว 30 ปี รวม 1.8 พันหน่วย โดยในส่วนของศูนย์ซ่อมบำรุงคลองบางไผ่ จะพัฒนาพื้นที่ว่าง 14 ไร่ให้เป็นอาคารชุดพักอาศัย 2 อาคาร แบ่งเป็นอาคารชุดสำหรับผู้มีรายได้น้อย และอาคารชุดสำหรับผู้มีรายได้ปานกลาง เช่นเดียวกับพื้นที่ศูนย์ซ่อมมีนบุรี ขณะที่ในพื้นที่บางปิ้งจะพัฒนาเป็นอาคารพักอาศัยที่ต่อขึ้นจากอาคารจอดรถ

“รูปแบบการพัฒนาโครงการจะเป็นแบบมิกยูสซ์ ที่มีทั้งส่วนพักอาศัยและพื้นที่รีเทล เพื่อการใช้ประโยชน์พื้นที่สูงสุด ปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวยังคงมีความต้องการที่อยู่อาศัยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ซึ่งโครงการที่อยู่อาศัยที่กคช.พัฒนาเองก็มีหลายโครงการ แต่ขายหมดแล้วทุกโครงการ” ผู้ว่าการ กคช.กล่าว

ขณะที่ แหล่งข่าวระดับสูงของการเคหะแห่งชาติ (กคช.) กล่าวเสริมว่า กคช. มีแนวคิดและกำหนดวิสัยทัศน์ที่จะพัฒนาที่อยู่อาศัยตามแนวเส้นทางคมนาคมของรัฐ สำหรับผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง โดยจะร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐ อาทิ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.)และการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) เพื่อนำทรัพยากรของหน่วยงานที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด มีการวางแผนการใช้ที่ดินหลายกิจกรรม โดยรูปแบบและการบริหารจัดการจะใช้แนวทางการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่ง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,128 วันที่ 4 - 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559