ผวาจีนสวมไทย! ส่งสินค้าเข้ามะกัน

26 มิ.ย. 2561 | 07:11 น.
260661-1353

เอกชนบริหารความเสี่ยงผลกระทบค่าเงินผันผวน-สงครามการค้า ... กลุ่มไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์แนะรัฐโปรโมตสินค้าแบบท่องเที่ยว ด้าน 'ศรีไทย' ห่วงเมลามีนจีนระบาด จี้! สมอ.-พาณิชย์ ออกมาตรฐานสินค้าและเดินมาตรการเอดี ... ส.อ.ท. ระดม 45 กลุ่มอุตฯ รับมือต้น ก.ค. นี้ ส่วน สรท.-พาณิชย์ จ่อปรับเป้าส่งออก

ผลกระทบสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน กำลังเป็นชนวนสำคัญที่ต้องจับตามอง เพราะเมื่อใดที่ 2 ผู้นำทางเศรษฐกิจโลก เปิดศึกทางการค้า ย่อมเกิดแรงกระเพื่อมต่อเศรษฐกิจโลก ทั้งทางบวกและทางลบ ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย เนื่องจากพึ่งพาตลาดส่งออกไปยัง 2 ประเทศดังกล่าว ในสัดส่วนประเทศละ 10-12% "ฐานเศรษฐกิจ" ประมวลเสียงจากภาคเอกชนและภาครัฐถึงแผนรับมือบริหารความเสี่ยงจากผลกระทบที่เกิดขึ้น


 

[caption id="attachment_293090" align="aligncenter" width="405"] สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ศรีไทย ซุปเปอร์แวร์ จำกัด (มหาชน) หรือ SITHAI ผู้ดำเนินการธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์พลาสติกและเมลามีน สนั่น อังอุบลกุล
ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ศรีไทย ซุปเปอร์แวร์ จำกัด (มหาชน) หรือ SITHAI ผู้ดำเนินการธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์พลาสติกและเมลามีน[/caption]

เอกชนแห่บริหารความเสี่ยง
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ศรีไทย ซุปเปอร์แวร์ จำกัด (มหาชน) หรือ SITHAI ผู้ดำเนินการธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์พลาสติกและเมลามีน เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"
 ว่า ธุรกิจเมลามีนจะได้รับผลกระทบเมื่อสหรัฐฯ และจีนมีความจำเป็นต้องหาตลาดนำเข้าใหม่สำหรับสินค้าที่ถูกเก็บภาษีเพิ่มขึ้น ก็อาจจะทำให้ประเทศไทยถูกสินค้าจากทั้ง 2 ประเทศ ทุ่มตลาด หรือ ถูกกดดันให้นำเข้าสินค้าจากทั้ง 2 ประเทศ ขณะที่ สินค้าบางส่วนของจีนอาจจะกระจายไปยังประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทย และที่น่าเป็นห่วงมากสำหรับศรีไทย คือ จะมีเมลามีนที่มีส่วนผสมของยูเรีย (มีคุณสมบัติยึดเกาะแน่น) จากจีนส่งเข้ามาตีตลาดไทย หากนำภาชนะเมลามีนดังกล่าวไปบรรจุอาหารด้วยความร้อนเกิน 60 องศา ก็จะเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคได้

จากผลกระทบดังกล่าว ทำให้บริษัทเร่งไปยังสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ สมอ. ให้ดำเนินการกำหนดมาตรฐานเมลามีน รวมถึงเร่งไปยังกระทรวงพาณิชย์ให้รีบพิจารณามาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (เอดี) เมลามีนจากจีน เป็นการบริหารความเสี่ยงที่จะช่วยบรรเทาผลกระทบนี้ได้ ส่วนผลกระทบจากค่าเงินผันผวน ถ้าเงินบาทอ่อนค่าแบบปัจจุบันนี้ ก็จะเป็นผลดีต่อการส่งออกผลิตภัณฑ์เมลามีน ที่มีสัดส่วนส่งออกไปทั่วโลกกว่า 45% ส่วนใหญ่ส่งไปอเมริกาและยุโรป ทำให้มีมูลค่าส่งออกสูงขึ้น

 

[caption id="attachment_293099" align="aligncenter" width="335"] กนิษฐ์ เมืองกระจ่าง ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กนิษฐ์ เมืองกระจ่าง
ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)[/caption]

นางกนิษฐ์ เมืองกระจ่าง ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ผลที่เกิดขึ้นจากสงครามการค้าและความผันผวนของค่าเงิน เมื่อชั่งน้ำหนักแล้ว น่าจะเป็นผลบวกต่ออุตสาหกรรมกลุ่มนี้ ซึ่งในวันที่ 26 มิ.ย. นี้ เข้าพบกระทรวงพาณิชย์ก็ต้องรายงานผลให้ทราบ โดยเฉพาะการที่ค่าเงินอ่อนค่า จะทำให้บริษัทที่ผลิตเพื่อส่งออกมากกว่า 70-80% ได้อานิสงส์ เพราะจะมีมูลค่าส่งออกสูงขึ้น

สำหรับข้อกังวลมีเรื่องเดียว คือ วิตกว่า สินค้าสำเร็จรูปจากจีนจะทะลักเข้ามาตีตลาดมากขึ้น หลังจากที่จีนส่งออกไปอเมริกายากขึ้น จึงเสนอแนะว่า ภาครัฐจะต้องเดินแผนโปรโมตสินค้าไทย ทำให้เหมือนกับที่โปรโมตเรื่องท่องเที่ยว ส่วนภาคเอกชนก็ต้องบริหารความเสี่ยง โดยการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ ที่มีนวัตกรรมมากขึ้น เพื่อหนีตลาดสินค้าราคาถูกจากจีนเข้ามาตีตลาดได้ รวมถึงจีนจะมาตั้งโรงงานในไทยมากขึ้น แล้วส่งออกจากไทยไปสหรัฐฯ ได้

 

[caption id="attachment_293086" align="aligncenter" width="417"] เกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธาน งานส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เกรียงไกร เธียรนุกุล
รองประธาน งานส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)[/caption]

ต้อน 45 กลุ่มประเมินผล
ด้าน นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธาน งานส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงปัจจัยเสี่ยงเกี่ยวกับค่าเงินบาทผันผวนและสงครามการค้า ว่า ล้วนมีความเสี่ยง ถ้ามองในแง่ผู้ลงทุนในตลาดหุ้นก็ต้องบริการความเสี่ยงโดยการเลือกลงทุนในหุ้นที่มีพื้นฐานดีและที่มีเงินปันผลชัดเจน และต้องหลีกเลี่ยงหุ้นที่มีความเสี่ยงสูงด้วย สำหรับปัจจัยเสี่ยงจากสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกานั้น ขณะนี้ สมาชิกใน ส.อ.ท. อยู่ในช่วงการเดินขั้นตอนประเมินความเสี่ยง โดยให้ 45 กลุ่มอุตสาหกรรม ไปประเมินว่า กลุ่มไหนได้รับผลบวกและได้รับผลลบ โดยกำหนดว่า ภายในต้นเดือน ก.ค. นี้ ทุกกลุ่มอุตสาหกรรมจะต้องได้ข้อสรุปออกมา เพื่อหามาตรการรับมือต่อไป โดยปัจจุบัน ไทยเป็นคู่ค้าอันดับ 1 กับจีน หรือมีสัดส่วนการส่งออกไปจีนราว 12% ที่ส่วนใหญ่เป็นสินค้าปฐมภูมิ ที่จีนนำเข้าไปผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกอีกทอดหนึ่ง เช่น เม็ดพลาสติก

นอกจากนี้ การส่งออกสินค้าไทยไปยังตลาดอาเซียน ที่ไทยเป็น 1 ใน 4 ของตลาดส่งออกทั้งหมด หรือราว 25% ที่ประเทศในกลุ่มอาเซียนจะนำเข้าสินค้าปฐมภูมิผลิตสินค้าสำเร็จรูปเพื่อส่งออกไปจีน ก็อาจได้รับผลกระทบด้วย ส.อ.ท. จำเป็นต้องประเมินผลที่เกิดขึ้นรอบด้าน เพื่อหาทางรับมือกับปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ต่อไป

 

[caption id="attachment_293100" align="aligncenter" width="377"] น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์
ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.)[/caption]

พาณิชย์จ่อปรับเป้าส่งออก
น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า สงครามการค้าถือเป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับ 1 ต่อการส่งออกไทยในเวลานี้ จากก่อนหน้าเงินบาทแข็งค่าเป็นปัจจัยเสี่ยงมากสุด แต่ขณะนี้ เงินบาทอ่อนค่าลงแล้ว ส่งผลดีต่อความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ทางผู้บริหารของ สรท. อยู่ระหว่างประเมินสถานการณ์ เพื่อปรับคาดการณ์ส่งออกทั้งปีใหม่ จาก ณ ปัจจุบัน ยังคาดการณ์ขยายตัวไว้ที่ 8%

สอดคล้องกับ น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ ที่กล่าวว่า ทางกระทรวงจะมีการทบทวนเป้าหมายการส่งออกทั้งปี 2561 ใหม่อีกครั้ง ในเดือน ก.ค. นี้ เบื้องต้น ยังมั่นใจว่า จะขยายตัวได้ถึง 8% อย่างแน่นอน เนื่องจากสงครามการค้าไม่กระทบไทยมากและเงินบาทเริ่มอ่อนค่า จะทำให้รายได้ส่งออกในรูปเงินบาทเพิ่มขึ้น


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,377 วันที่ 24-27 มิ.ย. 2561 หน้า 01-02

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
พาณิชย์ถกเอกชนรับมือสงครามค้าสหรัฐ-จีน
เมกอัพจับนักช็อปจีน -อัดกิจกรรมสร้างแบรนด์ จุดกระแสบอกต่อดันยอดขายพุ่ง


e-book-1-503x62