เอกชนญี่ปุ่นดอดหารือบิ๊กคมนาคม สนใจลงทุนระบบราง/การบิน

05 ก.พ. 2559 | 08:00 น.
สภาหอการค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่นดอดหารือบิ๊กคมนาคม แสดงความสนใจลงทุนระบบรางของไทย เกาะติดไฮสปีดเทรนเส้นทางกทม.-ระยอง/กทม.-เชียงใหม่/กทม.-หัวหิน ที่เตรียมเสนอผลการศึกษาขั้นกลางต่อครม.กลางปีนี้

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม(คค.) เปิดเผย ภายหลังจากที่ประธานสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่น พาผู้แทนระดับสูงของบริษัทและบริษัทยักษ์ใหญ่ในญี่ปุ่นเข้าพบ ว่าทางญี่ปุ่นมีความสนใจจะขยายการลงทุนในประเทศไทย ตามแนวนโยบายการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งไทยยินดีที่ญี่ปุ่นจะร่วมลงทุนในระบบรางเพิ่มมากขึ้น ส่วนของโครงการรถไฟฟ้า ทั้งในเส้นทางระหว่างเมือง ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ทั้งนี้สภาหอการค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่นมีสมาชิกทั้งสิ้นกว่า 2.5 ล้านบริษัท

นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังสนใจลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงในเส้นทางกรุงเทพฯ-ระยอง เส้นทางกรุงเทพฯ-หัวหิน ขณะที่เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ที่อยู่ระหว่างการศึกษา และจะเริ่มก่อสร้างในปี 2561เตรียมเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี หรือ ครม.รับทราบข้อมูลขั้นกลางภายในกลางปี 2559 และนำเสนอข้อมูลขั้นสุดท้ายในช่วงปลายปีนี้

“ขณะนี้กระทรวงคมนาคม เตรียมศึกษาระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลระยะที่ 2 จำนวน 10 เส้นทาง ซึ่งสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.)จะใช้เวลาในการรวบรวมรายละเอียดประมาณ 2 เดือนก่อนที่จะจ้างบริษัทที่ปรึกษา เข้าศึกษาเส้นทางที่เหมาะสม คาดว่าภายในระยะเวลา 1 ปีจะเห็นความชัดเจน”

ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคม ยังเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)พิจารณาส่วนของโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง-บางแค และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ สายสีส้ม(ตะวันออก) ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี สายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี สายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง และสายสีเขียว ใต้ ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ขณะที่ระบบรถไฟสายสีแดงสัญญาที่ 3 นั้น พร้อมเตรียมเสนอให้ ครม.พิจารณาด้วยเช่นกัน

ส่วนเรื่องของการส่งมอบขบวนรถไฟฟ้าของโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-บางใหญ่ นั้น นายอาคม กล่าวว่าทางบริษัท เจแปน ทรานสปอร์ต เอ็นจิเนียริ่ง หรือ J-TREC ซึ่งเป็นผู้ผลิตจะจัดส่งขบวนรถไฟฟ้าให้ครบตามจำนวน 21 ขบวนในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2559 นี้

ขณะเดียวกันสายการบินเจแปน แอร์ไลน์ (JAL) และสายการบินออล นิปปอน แอร์เวย์ (ANA) สนใจร่วมพัฒนาธุรกิจการบินกับไทย โดยเตรียมเข้าหารือกับบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อเรียนรู้และพิจารณาประสบการณ์การดำเนินงานของการบินไทย จากตัวเลขนักท่องเที่ยวที่ไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามายังประเทศไทยจำนวน 30 ล้านคน ขณะที่ญี่ปุ่นมีจำนวนนักท่องเที่ยว 19.7 ล้านคนเท่านั้น โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากประเทศรัสเซีย รวมถึงการร่วมลงทุนโครงการก่อสร้างศูนย์ซ่อมอากาศยาน ที่ท่าอากาศยานอู่ตะเภา ที่ในขณะนี้การศึกษาเสร็จแล้ว รอเสนอ ครม.พิจารณาเช่นกัน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,128 วันที่ 4 - 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559