เคาะวันเลือกตั้งเร็วสุด 24 ก.พ. แต่ไม่เกิน 5 พ.ค. 62

25 มิ.ย. 2561 | 12:52 น.
'ประวิตร' ถกพรรคการเมืองเคาะวันเลือกตั้ง เร็วสุด 24 ก.พ. ไม่เกิน 5 พ.ค. 62 เผยพรรคการเมืองเร่ง คสช. ปลดล็อก-งดไพรมารีโหวต

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บ่ายวันที่ 25 มิ.ย. 2561 ที่สโมสรทหารบก ถนนวิภาวดีรังสิต มีการพบปะหารือและรับฟังความคิดเห็นพรรคการเมือง โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงและรองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน มีตัวแทนจาก 74 พรรคการเมือง รวม199 คน เข้าร่วม พรรคเพื่อไทย และพรรคอนาคตใหม่ ไม่ได้ส่งตัวแทนเข้าร่วมแต่อย่างใด ขณะเดียวกัน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และศุภชัย สมเจริญ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้เข้าร่วมชี้แจงด้วย

8335-46

พล.อ.ประวิตร กล่าวภายหลังที่ใช้เวลานานประมาณ 3 ชั่วโมง ว่า รู้สึกพอใจกับการพูดคุยในวันนี้ และไม่มีอะไร ส่วนที่ระบุว่า มีเวลา 3 เดือน ให้พรรคการเมืองเตรียมตัวก่อนการเลือกตั้งคิดว่าทัน

ด้าน แหล่งข่าวจากที่ประชุม เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร ได้กล่าวต่อผู้ที่มาหารือถึงสาเหตุที่เชิญมาพูดคุยว่า เพื่อให้เกิดความเข้าใจไปในทิศทางเดียวกันเกี่ยวกับโรดแมป และขั้นตอนของกฎหมายต่าง ๆ ทั้งการทูลเกล้าฯ และการลงนามพระปรมาภิไธย ก่อนประกาศใช้ ทั้งหมด คือ เงื่อนไขต่อการกำหนดวันเลือกตั้งอย่างไร

S__69337156

จากนั้นที่ประชุมได้เชิญให้ นายวิษณุและนายศุภชัยทำความเข้าใจ โดย นายวิษณุ บรรยายสรุปขั้นตอนทางกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง โดยเฉพาะประเด็นเรื่องโรดแมประยะเวลา ที่มีขั้นตอนในการทูลเกล้ากฎหมายร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส และ พ.ร.ป.การได้มาซึ่ง ส.ว. โดย นายวิษณุ ระบุว่า อาจจะต้องใช้สูตร 3-3-5 หรือ 11 เดือนนับจากนี้ พร้อมยืนยันว่า ไม่ยกเลิกระบบไพรมารีโหวต เนื่องจากบรรจุอยู่ในรัฐธรรมนูญ แต่อาจจะมีการยืดหยุ่น โดยให้ทำไพรมารีโหวตในระดับภาค โดยนายวิษณุใช้เวลาบรรยายประมาณกว่าครึ่งชั่วโมง

จากนั้น เปิดโอกาสให้ตัวแทนพรรคการเมืองถามคำถามที่สงสัย โดย นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้ถามว่า การเลือกตั้งจะไม่ทันในเดือน ก.พ. 2562 ใช่หรือไม่ เพราะถ้านับตามสูตรที่นายวิษณุระบุ 11 เดือน ก็จะอยู่ที่เดือน พ.ค. 2562 อีกทั้งถามถึงความชัดเจนเรื่องไพรมารี่โหวต ที่นายวิษณุระบุจะใช้แบบภาคนั้น รูปแบบเป็นอย่างไร

S__69337157

แต่ นายวิษณุ พล.อ.ประวิตร และนายศุภชัย ไม่ได้ตอบคำถามดังกล่าว แต่เปิดให้ตัวแทนทุกพรรค ถามคำถามไปเรื่อย ๆ โดยแหล่งข่าว ระบุว่า บรรยากาศในที่ประชุมค่อนข้างเป็นไปอย่างวุ่นวาย เนื่องจากแต่ละพรรคต่างก็อยากจะแสดงความคิดเห็นของตัวเอง อาทิ นายวรัญชัย โชคชนะ ที่แสดงความคิดออกไปในลักษณะการอภิปราย มีการตั้งคำถามซ้ำไปซ้ำมา ซึ่งมีหลายคนที่ใช้เวลาแต่ละคน 3-5 นาที ขณะที่ พ.อ.วันชนะ สวัสดี ผู้ช่วยโฆษกกลาโหม ในฐานะพิธีในการประชุม ไม่สามารถควบคุมบรรยากาศ และเวลาได้ ทำให้กำหนดการณ์แต่เดิมที่กำหนดไว้จะเสร็จสิ้นเวลา 16.00 น. ต้องยืดเยื้อออกไป

ด้าน นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. กล่าวภายหลังว่า มีหลายพรรคการเมืองได้หารือเกี่ยวกับคำสั่ง คสช. ที่ 53/2560 รวมถึงเสนอแนะแนวทางแก้ไข ซึ่งส่วนใหญ่เสนอให้ปลดล็อกและงดทำไพรมารีโหวต แต่ก็มีบางพรรคก็ให้คงไว้ ส่วนความชัดเจนในการกำหนดวันเลือกตั้ง ขณะนี้ยังไม่สามารถกำหนดได้ เนื่องจากต้องรอให้กฎหมายประกาศราชกิจจานุเบกษาก่อน จากนั้นรอไปอีก 90 วัน จึงมีผลบังคับใช้ และต้องรอกระบวนการอีก 150 วัน จึงจะจัดให้มีการเลือกตั้งได้

นายศุภชัย กล่าวว่า ระหว่าง 90 วัน ที่รอให้กฎหมายทั้ง 2 ฉบับ มีผลบังคับใช้ ทาง กกต. จะขอให้การแบ่งเขตเลือกตั้งก่อนใน 60 วัน จากนั้นต้องไปถามความคิดเห็นพรรคการเมืองและประชาชนในเขตนั้น ๆ ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 27 ของร่างกฎหมาย ส.ส.

เมื่อถามว่า การประกาศแบ่งเขตเลือกตั้งจำเป็นต้องใช้ มาตรา 44 หรือไม่ นายศุภชัย กล่าวว่า ถ้ากฎหมายยังไม่มีผลบังคับใช้ ก็ไม่สามารถแบ่งเขตเลือกตั้งได้ ซึ่งทางเรา ก็ขอทำก่อนในช่วง 60 วัน ซึ่งก็ต้องรอดูว่า คสช. จะอนุมัติหรือไม่ให้ใช้มาตรา 44 หรือไป

ประธาน กกต. ระบุด้วยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จะนัดประชุมในครั้งต่อไป แต่ยังไม่สามารถกำหนดวันได้ สำหรับบรรยากาศในการพูดคุยวันนี้ทุกพรรคได้ระบายความรู้สึกออกมา

8353

นายวราวุธ ศิลปอาชา แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) กล่าวภายหลังการหารือว่า บรรยากาศเป็นไปอย่างราบรื่น โดยรัฐบาลได้เตรียมคำตอบมาให้พรรคการเมืองบ้างแล้ว โดยเฉพาะในประเด็นที่เป็นปัญหาในเรื่องเงื่อนเวลาสำหรับการทำไพรมารีโหวตนั้น คิดว่ารัฐบาลให้เวลาเรามาเถอะ พรรคชาติไทยพัฒนาทำทันทั้งนั้น โดยไม่นำเรื่องนี้มาเป็นข้ออ้าง เพราะที่ผ่านมาพรรคได้เตรียมตัววางแผนไว้สำหรับการหาสมาชิกไว้แล้ว ถ้าปลดล็อกให้เราก็สามารถดำเนินการได้เลย

ขณะที่ กรอบเวลาในวันเลือกตั้ง 4 กรอบ ที่รัฐบาลเสนอในที่ประชุมนั้น เริ่มตั้งแต่เดือน ก.พ.- พ.ค. โดยยึดเอาทุกวันอาทิตย์สิ้นเดือนมาเป็นกรอบนั้น ถือว่าเป็นไปได้หมด คือวันที่ 24 ก.พ. 2562 วันที่ 31 มี.ค. 2562 และวันที่ 28 เม.ย. 2562 โดยจะขึ้นอยู่กับว่าร่างกฏหมายลูกอีก 2 ฉบับสุดท้าย คือ ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. กับ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. จะบังคับใช้เมื่อไหร่ จึงเชื่อว่า เมื่อมีความชัดเจนรัฐบาลคงจะเชิญพรรคการเมืองเข้ามาหารือกันอีกเมื่อรัฐบาลได้นำคำถามของแต่ละพรรคได้สังเคราะห์จนได้คำตอบ

นายนิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า ในเรื่องของการคลายล็อกนั้น สรุปว่าให้มีการคลายล็อกในช่วงที่ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา และยังมีเวลา 90 วัน ก่อนกฎหมายบังคับใช้ ส่วนการทำไพรมารี่โหวตที่ประชุมได้มี 3 ทางเลือก คือ 1.ยกเลิกการทำไพรมารี่โหวตทั้งหมด 2.ยกเลิกการทำไพรมารี่โหวตครั้งแรก 3.มีการทำไพรมารี่โหวต แต่ให้ใช้การทำในระดับภาค 4 ภาค

ส่วนการกำหนดวันเลือกตั้ง ที่ประชุมเห็นว่า หากนับระยะเวลาตามกฎหมาย 150 วัน ประกอบกับนายกฯ ไปพูดในต่างประเทศถึง 2 ประเทศ โดยย้ำว่าจะมีการเลือกตั้งตามโรดแมปในเดือน ก.พ. ปี 2562 ที่ประชุมจึงเห็นว่าควรจะเป็นวันที่ 24 ก.พ. 2562

แต่ทาง กกต. ได้ตั้งตุ๊กตาขึ้นมาว่า หากไม่ใช่วันที่ 24 ก.พ. 2562 ก็สามารถเลื่อนออกไปเป็นวันอาทิตย์สัปดาห์สุดท้ายของเดือน เพราะ 150 วัน จะครบกำหนดในวันที่ 5 พ.ค. 2562

8354

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวภายหลังการหารือว่า การเลือกตั้งยังคงเป็นไปตามเงื่อนเวลา คือ 3-3-5 คือ ช่วง 3 เดือนแรก คือ ช่วงทูลเกล้าฯ 3 เดือนที่ 2 คือ ช่วงที่รอกฎหมายเลือกตั้งบังคับใช้ และช่วงที่ 3 คือ 5 เดือน ในการจัดการเลือกตั้ง โดยจะหาทางคลายล็อกให้ช่วง 3 เดือนที่ 2

ส่วนรายละเอียดต่าง ๆ ต้องรอดูที่จะปรากฎออกมาตามคำสั่งใหม่ด้วย เพราะขนาดคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่53/2560 ยังมีรายละเอียดที่ทับซ้อนกับกฎหมายต่าง ๆ ที่ทำให้พรรคการเมืองมีปัญหา ส่วนประเด็นการจัดทำไพรมารี่โหวต ที่ประชุมยังไม่มีความชัดเจนใด ๆ

อย่างไรก็ตาม ภาพรวมการประชุมในวันนี้ ตนพอใจ เพราะได้คำตอบเกี่ยวกับเรื่องการคลายล็อกว่าจะมีแน่นอน ซึ่งหลังจากนี้ต้องรอดูว่าผลจะออกมาอย่างไร
233262 "วิษณุ" เผยเลือกตั้ง ช้าหรือเร็วขึ้นกับ 5 ปัจจัย  เตรียมคลายล็อกให้พรรคประชุมใหญ่ได้ไม่ต้องขออนุญาตหลังกม.ลูกประกาศใช้

เมื่อเวลา 17.15 น. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี แถลงผลการหารือกับพรรคการเมืองในวันนี้ว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมตามคำสั่งของ พอล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. และหลังจากนี้จะต้องมีการประชุมหารือเป็นครั้งที่ 2 ภายหลังมีการประกาศใช้ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. และพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งจะเป็นเมื่อไหร่ก็สุดแล้วแต่หัวหน้า คสช. ซึ่งได้แจกเเจงไว้แล้วว่า ในครั้งนั้นจะเข้าร่วมการประชุมด้วยตัวเอง และเชื่อว่า ในตอนนั้นคงมีอะไรที่ชัดเจนมากชึ้นกว่าการประชุมครั้งนี้
นายวิษณุ กล่าวว่าเมื่อวันที่ 14 มิ.ย. มีการประชุมระดับเจ้าหน้าที่ไปแล้ว และได้นำผลการหารือดังกล่าวเสนอครม.ไปแล้วก่อนที่จะนำมาเสนอที่ประชุมวันนี้ให้ได้รับทราบเพื่อรับรู้แนวทางว่า มีโรดแมปการจัดการเลือกตั้งอยู่แล้ว แต่จะจัดได้ช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับปัจจัย 5 ข้อ คือ 1. ความสงบเรียบร้อยในช่วงที่มีการจัดงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 2.การที่จะได้รับพระราชทานกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ส.ส. และส.ว.ทั้งสองฉบับกลับลงมาเมื่อใด 3. การผลัดเปลี่ยนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)จากชุดเก่าเป็นชุดใหม่จะเกิดขึ้นเมื่อใด แต่ทั้งนี้ไม่ว่าจะมี กกต.ชุดใหม่หรือไม่ กกต.ชุดเก่าก็ยังทำหน้าที่ได้จนถึงที่สุด เพียงแต่จะกระทบเรื่องช้าหรือเร็วเท่านั้น 4. การจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นจะจัดขึ้นเมื่อใดเพื่อจะได้หลบหลีกไม่ให้ซ้ำอยู่ในเดือนเดียวกัน 5. ความสงบเรียบร้อยทั่วไปของประเทศ เพราะอย่างน้อยถ้าบ้านเมืองสงบเรียบร้อยเหมือนปัจจุบันนี้อยู่ถือว่าอยู่ในระดับที่วางใจได้ แต่หากจะเกิดเหตุใดขึ้นในอนาคต แน่นอนจะกระทบต่อกำหนกเวลาการเลือกตั้ง

นายวิษณุ กล่าวว่า สำหรับปัญหาที่ผู้แทนพรรคการเมืองมีความกังวลและสอบถาม หรือเรียกร้องมาตลอดนั้น ประมวลออกมาได้ 4 ประเด็น คือ 1. การประชุมใหญ่ของพรรคการเมืองที่มีความสำคัญ เพราะถ้าไม่มีการจัดประชุมใหญ่จะไม่สามารถรับสมัครสมาชิกได้ ไม่สามารถจัดทำไพรมารีโหวตได้ จะกระทบต่อการรับสมัครและสรรหาผู้สมัครได้ ดังนั้นหนทางแก้ที่เสนอต่อที่ประชุมในวันนี้คือ หากจำเป็นที่พรรคใดต้องเรียกประชุมให้ขออนุญาตจากคสช.ได้ แต่ทางแก้ดังกล่าวอาจจะยังไม่เป็นที่พอใจนัก จึงเตรียมหนทางแก้ที่จะเสนอต่อที่ประชุม คสช.ให้พิจารณาก่อน เนื่องจากมีระยะเวลาอยู่ 3 ช่วง ช่วงแรก คือ ระยะเวลา 90 วันในการทูลเกล้า พ.ร.ป.และรอรับพระราชทานเพื่อประกาศ ,ช่วงที่สอง คือ เมื่อประกาศใช้กฎหมายโดยลงราชกิจจานุเบกษาแล้ว จะต้องทิ้งระยะเวลาไว้อีก 90 วันเพื่อยังไม่ให้มีผลบังคับ ,ช่วงที่สาม ระยะเวลา 150 วัน สำหรับจัดให้มีการเลือกตั้ง ในวันใดก็ได้ภายในระยะเวลาดังกล่าว
362626 นายวิษณุ กล่าวว่า สำหรับ 90 วันของช่วงที่สองที่ระบุไว้ข้างต้นนั้น เดิมนั้นมีการวิจารณ์ว่ามีไว้ทำไม ก็ทำให้เห็นแล้วว่าถ้าไม่มีห้วง 90 วันนี้ จะเกิดความวุ่นวาย เพราะตามกฎหมายจะต้องมีการแบ่งเขตเลือกตั้งโดย กกต. ต้องใช้เวลา 60 วัน และต้องทำไพรมารีโหวตอีก 30 วัน จากนั้นจะล้ำเข้าไปในห้วงที่สาม คือ 150 วัน โดยใช้ 20 วัน ในการรับสมัคร ส.ส. ดังนั้นจะเหลือเวลาอีกเพียง 40 วัน ก็จะครบ 150 วัน ซึ่งคงลำบากในการหาเสียง อย่างไรก็ตามจึงมีความเห็นว่าจะเสนอข้อหารือไปยัง คสช. ว่าในช่วงเวลาที่สองคือ 90 วันนั้น ให้ กกต.สามารถแบ่งเขตการเลืองตั้งได้ภายใน 60 วัน แล้วตามมาด้วยทำไพรมารีโหวตอีก 60 วัน จากนั้นค่อยเข้าสู่ช่วงที่สาม คือ 150 วัน แล้วค่อยใช้เวลา 20 วัน ในการรับสมัคร จากนั้นจะเหลือเวลาอีก 130 วัน ซึ่งก็จะทำให้จัดการเลือกตั้งเร็วหรือช้าเมื่อใดก็ได้
“ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ให้สัมภาษณ์ในช่วงที่เยือนสหราชอาณาจักรและฝรั่งเศสว่า การจัดการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นโดยเร็วที่สุดในเดือนกุมภาพันธ์ ปีหน้า ซึ่งกกต.ก็ระบุว่าหากจะจัดการเลือกตั้งก็ขอเป็นวันอาทิตย์ในช่วงสิ้นเดือนของทุกเดือน เพื่อให้อยู่ในกรอบ 150 วัน จึงมีการตั้งเป็นตุ๊กตาขึ้นมาว่าเป็นวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ,31 มีนาคม ,28 เมษายน ,และ 5 พฤษภาคม ซึ่งตนขอย้ำว่า เป็นการตั้งตุ๊กตาขึ้นมาคร่าวๆเท่านั้น ขอสื่ออย่าพาดหัวว่าวันที่ 24 กุมภาพันธ์ เนื่องจากผู้กำหนดการเลือกตั้งตามมาตรา 11-12 คือ กกต.ใหม่ไม่ใช่รัฐบาลและคสช.”นายวิษณุระบุ

"เรื่องการประชุมใหญ่เราจะผ่อนคลายให้ใช้เวลา 90 วันนั้นให้เแบ่งเขตและทำไพรมารีโหวต ขณะเดียวกันจะผ่อนคลายให้พรรคการเมืองประชุมใหญ่ได้ ประมาณเดือนกันยายนถึงธันวาคม เพื่อให้รับสมาชิกและเตรียมเรื่องทำไพรมารีได้ และให้ กกต.ติดต่อพรรคการเมืองเพื่อทำการแบ่งเขตได้ด้วย โดยถูกกฎหมาย" นายวิษณุ กล่าว

นายวิษณุ กล่าวว่า ประเด็นที่ 2 เรื่องการจัดตั้งสาขาพรรค เพื่อให้ได้หัวหน้าสาขาพรรคทั้ง 4 สาขาเพื่อให้จัดประชุมใหญ่ได้ ก็จะปลดล็อกโดยไม่ต้องมีหัวหน้าสาขาและหัวหน้าพรรคในการทำไพรมารีโหวต ส่วนประเด็นที่ 3 เรื่องการแบ่งเขตของกกต.จะต้องลงพื้นที่ พร้อมสอบถามประชาชน พรรคการเมือง โดยจะนำเสนอ คสช.เพื่อคลายล็อก 90 วันในช่วงที่สองให้ กกต.สามารถดำเนินการแบ่งเขตได้ และตอนนี้สามารถดำเนินการเตรียมการแบ่งเขตไปพรางก่อนได้ ประเด็นที่ 4 เรื่องไพรมารีโหวต ที่ประชุมมีการเสนอให้ทำไพรมารีโหวตในระดับภาค และเสนอให้ยกเลิกการทำไพรมารีโหวต และยังมีการเสนอให้เลื่อนการทำไพรมารีโหวตไปเริ่มใช้ในการเลือกตั้งครั้งหน้า ซึ่งพล.อ.ประวิตรได้รับข้อเสนอเเพื่อไปหารือกับ คสช. กกต. กรธ. และกรรมการหรือผู้แทนจากสภาต่อไป เพื่อให้ที่ประชุมนั้นชั่งน้ำหนักข้อดีข้อเสีย นอกจากนี้ในที่ประชุมยังได้รับฟังข้อเสนอโดยเฉพาะพรรคการเมืองขนาดเล็กแต่ไม่มีการโต้ตอบใดๆ เช่น เรื่อง ขอให้ยกเลิกทุนประเดิมพรรค หรือการหาสมาชิก การขอขยายเวลาการหาสมาชิกพรรคให้ได้ 500 คนที่เดิมกำหนดให้ภายในเดือนก.ย.

นายวิษณุให้สัมภาษณ์เพิ่มเติม กรณีการปลดล็อกในระยะ 90 วันช่วงที่ 2 พรรคการเมืองสามารถทำกิจกรรมได้ทุกอย่างหรือไม่ว่า ไม่ใช่ ทำได้แค่บางอย่างที่พรรคการเมืองเรียกร้อง คือ คสช.ปลดล็อกให้ประชุมใหญ่ได้โดยไม่ต้องขออนุญาต เพื่อให้พรรคสามารถ 1.ร่างข้อบังคับ 2.หาสมาชิก 3.ให้ความเห็นต่อกกต.ในการแบ่งเขตเลือกตั้ง 4.จัดตั้งกรรมการพรรคเพื่อเตรียมตัวจัดตั้งสาขาและหาผู้สมัคร

เมื่อถามว่า จะสามารถปลดล็อกได้ทั้งหมดเมื่อใด นายวิษณุกล่าวว่า จะรู้ว่าปลดล็อกโดยสิ้นเชิงเมื่อใดและวันเลือกตั้งคือวันที่เท่าไรเมื่อมีการประชุมหารือในครั้งที่ 2 ซึ่งจะเกิดขึ้นหลังจาก พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยการปลดล็อกโดยสิ้นเชิงนั้นคือต้องยกเลิกประกาศ 3 ฉบับ คือ คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 57/2557 คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 และคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 53/2560 ทั้งนี้ จะให้กกต.ชุดใหม่เป็นผู้ประกาศวันเลือกตั้ง

เมื่อถามถึงการทำไพรมารีโหวตโดยไม่มีหัวหน้าสาขาพรรค นายวิษณุกล่าวว่า การทำไพรมารี่โหวตตามกฎหมายปัจจุบันต้องมีกรรมการที่ประกอบด้วยกรรมการบริหารพรรค 4 คน หัวหน้าสาขาพรรค 4 คน เราจะเอาหัวหน้าสาขาพรรคออก แต่ก็จะเหลือกรรมการน้อยเกินไป จึงจะให้พรรคเลือกสมาชิกพรรคเข้ามาอีก 7 คน รวมแล้วเป็น 11 คน และหากยังมีไพรมารี่โหวต กระบวนการทุกอย่างจะเหมือนเดิม เว้นแต่จะเปลี่ยนแปลงเป็นไพรมารี่โหวตระดับภาคหรือยกเลิกไพรมารี่โหวต ซึ่งเรื่องนี้ พล.อ.ประวิตรรับไปหารือกับผู้เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ดี ในการประชุม ครม.ในวันที่ 27 มิ.ย.นี้ จะไม่มีการประชุมคสช. แต่พล.อ.ประวิตรจะนำไปรายงานต่อที่ประชุมครม. ส่วนจะให้คำตอบว่ามีหรือไม่มีไพรมารี่โหวตได้เมื่อใดนั้น ตนไม่ทราบ
นายวิษณุกล่าวว่า ในที่ประชุม ไม่มีใครถามว่าช่วงเวลา 150 วันที่ต้องจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จนั้น หมายรวมถึงการตรวจสอบของกกต.ด้วยหรือไม่ นอกจากนี้นายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฎ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์สอลถามในการประชุมว่าจะมีปัจจัยใดที่ทำให้การเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไปอีก ซึ่งตนได้ตอบไปว่า ไม่ทราบ ผู้สื่อข่าวถามว่า จะกำหนดวันเลือกตั้งให้เร็วกว่าวันที่ 24 ก.พ.ได้หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ทราบ

……………….
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ดุสิตโพล เผย 'อันดับพรรคการเมือง' ในความสนใจ ปชช.
"ประวิตร" นัดถกพรรคการเมือง 25 มิ.ย.นี้

e-book-1-503x62