‘บรรเจิด’สับเละร่างเบื้องต้นมีชัย ‘ไร้หลักคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ หวั่นโกลาหล’

05 ก.พ. 2559 | 07:00 น.
เส้นทางรัฐธรรมนูญไทยวันนี้ ยังคงเผชิญกับกำแพงขวางหน้า เพราะแทบจะทันทีที่ได้เห็นโฉมร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่นายมีชัย ฤชุพันธ์ เป็นประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เริ่มปรากฏความเคลื่อนไหวของกลุ่มต่างๆ ที่ออกมาขยับ กะเทาะแก่นสาระสำคัญต่อร่างฉบับนี้อย่างดุเดือด

[caption id="attachment_29824" align="aligncenter" width="600"] ร่างรัฐธรรมนูญ กำหนดให้มี หน้าที่ของรัฐขึ้น ร่างรัฐธรรมนูญ กำหนดให้มี หน้าที่ของรัฐขึ้น[/caption]

ประเดิมเวทีแรก เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยสมาคมติดตามการพัฒนาสตรีในประเทศไทย (ตพส.ไทย) ขบวนการผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย (WeMove) ที่ได้ ศ.ดร.บรรเจิด สิงคเนติ คณบดีคณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ อดีตเลขานุการคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ มาสะท้อนความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ในประเด็น สิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาคของประชาชนไทย และสิทธิมนุษยชน ความเสมอภาคและการขจัดการเลือกปฏิบัติ รวมถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนในการผลักดันนโยบายและกฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

นักวิชาการท่านนี้ ตั้งข้อสังเกตร้อนแรงในประเด็นโครงสร้างด้านสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทยที่กำหนดไว้ในร่างฉบับเบื้องต้นของ กรธ. ระบุย้ำว่า ล้าหลัง เมื่อเทียบกับรัฐธรรมนูญปี 2540 และปี 2550 โดยเฉพาะเรื่องของสิทธิชุมชน และหลักประกันสิทธิของประชาชนที่ต้องได้รับความคุ้มครอง เสนอให้ กรธ. ปรับปรุง ประการแรก คือ ในบททั่วไปมาตรา 4 ว่าด้วยปวงชนชาวไทยย่อมได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญเสมอกันที่ถูกปรับเนื้อหาในมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ระบุว่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครอง

"เจตนารมณ์ของมาตรา 4 ของเดิมนั้นเป็นการประกาศอุดมการณ์ แสดงเจตนาของรัฐที่จะคุ้มครองบุคคลทุกคน เมื่อปรับเนื้อหาใหม่ อาจทำให้เกิดผลกระทบต่อสิทธิบางประการกับคนต่างชาติที่อยู่ในประเทศไทยได้"

2. ในหมวดสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย ซึ่งถือเป็นหลักประกันคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ โดยในร่างของ กรธ.ไม่ได้กำหนดไว้ ได้แก่ หลักความผูกพันโดยตรงของสิทธิและเสรีภาพที่มีผลผูกพัน ซึ่งในมาตรา 27 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 กำหนดให้สิทธิและเสรีภาพมีรัฐธรรมนูญรับรองไว้ชัดเจนโดยปริยาย หรือโดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ย่อมได้รับความคุ้มครอง ผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานของรัฐโดยตรงในการตรากฎหมาย บังคับใช้ และตีความกฎหมายทั้งปวง ซึ่งไม่ได้ถูกเขียนไว้ในร่างฉบับ กรธ.

กังวลว่า หากไม่ได้เขียนเอาไว้จะขาดหลักผูกพันโดยตรงต่อการปฏิบัติ และอาจกระทบต่อกระบวนการต่อสู้คดีของประชาชนได้ หลักการนี้ได้พัฒนาและยอมรับในกระบวนการยุติธรรมแล้ว หากไม่เขียนไว้อาจทำให้เกิดปัญหาใช้เป็นฐานในการพิจารณา และอาจนำไปสู่การย้อนกลับของหลักนิติธรรมได้
3. ในรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 28 วรรคสอง กำหนดให้บุคคลที่ถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ สามารถยกบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ เพื่อใช้สิทธิทางศาล หรือยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้คดีในศาลได้

"หลักการเสรีประชาธิปไตยนี้ ถือเป็นเส้นเลือดใหญ่ของระบบในการคุ้มครองสิทธิ เพราะสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญมีผล ต่อเมื่อมีองค์กรตุลาการเข้ามาควบคุมและตรวจสอบได้ แต่ กรธ.ไม่ได้เขียนไว้อาจทำให้หลักประกันของสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญมีค่าเท่ากับศูนย์ เพราะไม่มีจุดเชื่อมไปยังองค์กรตุลาการ และอาจทำให้เกิดปัญหาตามมา"

4. ในรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 ได้วางหลักประกันเกี่ยวกับการตรากฎหมายจำกัดสิทธิ อาทิ มีกฎหมายให้อำนาจในการจำกัดสิทธิ หลักความพอสมควรแก่เหตุหรือเท่าที่จำเป็น หลักการบังคับใช้กฎหมายจำกัดต้องเป็นการทั่วไป หลักกระทบต่อสาระสำคัญของสิทธิเสรีภาพ แต่เมื่อตรวจสอบร่างของกรธ. มาตรา 26 ว่าด้วยการตรากฎหมายที่จำกัดสิทธิ์ ไม่ได้ระบุไว้

น่าสนใจว่า ในอดีตมีตัวอย่างกรณีการแก้ไขกฎหมายว่าด้วยทางหลวง หรือทางสาธารณะ ที่มีผลให้การชุมนุมบนทางหลวง ต้องขออนุญาตต่อผู้อำนวยการเขตทางหลวง ซึ่ง ส.ว. เคยเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาเนื้อหาดังกล่าวว่า ทำลายสิทธิเสรีภาพการชุมนุมหรือไม่ ซึ่งศาลวินิจฉัยว่า กฎหมายดังกล่าวกระทบสาระสำคัญของเสรีภาพการชุมนุม ตามหลักการมาตรา 26

การร่างรัฐธรรมนูญแบบนี้ ทำให้ร่างรัฐธรรมนูญมีความหมายแคบกว่ารัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่ให้หลักประกันเกี่ยวกับศักดิ์ศรี สิทธิความเสมอภาคของปวงชนชาวไทย ยังได้รับการคุ้มครองตามประเพณีการปกครองประเทศตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่ ย่อมได้รับความคุ้มครอง แต่ในร่างของ กรธ. หายไปทั้งหมด

"ผมคิดว่า ขบวนประชาชนมีต้นทุนมาพอสมควรแล้ว สิ่งเหล่านี้ได้กลายเป็นฐานแห่งสิทธิของกระบวนการประชาชน ดังนั้น หลักการเขียนรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะสิทธิชุมชนไม่ควรถอยหลังกลับไป ควรไตร่ตรองให้มาก เพราะสิทธิเหล่านี้ไม่ใช่เพียงสิทธิในตัวหนังสือ แต่เป็นวิถีชีวิตของประชาชนที่ก่อรูปขึ้นมาช่วง 2 ทศวรรษ เป็นเลือดเนื้อชีวิตของประชาชน ผมมองว่า ร่างฉบับนี้ถอยหลังมาก"

สุดท้าย ประเด็นในมาตรา 25 ในร่างของกรธ.ที่กำหนดให้ปวงชนชาวไทยมีสิทธิและเสรีภาพทุกประการ เว้นแต่ที่มีกฎหมายจำกัด หรือกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ถือว่า มีนัยพอสมควร หากเทียบกับประเด็นที่เกี่ยวข้องกันที่เขียนไว้ในมาตรา 28 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ระบุว่า การใช้สิทธิของบุคคลจะเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญไม่ได้

เมื่อปรับใหม่ให้ใช้สิทธิและเสรีภาพ ต้องไม่กระทบความมั่นคงของรัฐ อาจทำให้เกิดปัญหาต่อขอบเขตการใช้สิทธิและเสรีภาพ เห็นว่า เจตนารมณ์ของร่างใหม่ อาจก่อให้เกิดปัญหา ความโกลาหล

อาจกล่าวได้ว่า เรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน เป็นเพียงหนึ่งเรื่องเท่านั้นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาถกกันในเวลานี้ เชื่อมั่นว่า หลังจากนี้จะมีประเด็นร้อนแรงอื่นๆ ตามมาต่อเนื่อง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,128 วันที่ 4 - 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559