‘สิทธิเสรีภาพ’ในมุมมองประมุข 2 สถาบัน‘บิ๊กตู่-พรเพชร’

06 ก.พ. 2559 | 02:30 น.
หลังร่างแรกรัฐธรรมนูญ (รธน.)เผยโฉมต่อสาธารณะเมื่อวันศุกร์ ( 29มกราคม ) ที่ผ่านมา หากพิเคราะห์จากการใช้ถ้อยคำต่างๆใน ร่าง รธน.ทั้ง 270 มาตรา จะเห็นได้ว่า จุดเด่นของ รธน.ฉบับนี้ ทางคณะกรรมการร่าง (กรธ.) พยายามใช้ถ้อยคำที่เข้าใจง่าย ไม่กำกวม ชนิดชาวบ้านอ่านแล้วไม่ต้องตีความให้ยุ่งยากอีก

พลันที่ร่างแรก รธน.ที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์เป็นหัวเรือใหญ่ ถึงมือกลุ่มต่างๆในสังคมได้แสดงความเห็นในประเด็นต่างๆ ซึ่ง กรธ.ให้เวลาจนถึง 15 กุมภาพันธ์นี้ เนื่องจากต้องทบทวนร่างรธน. ให้ทันตามกรอบทำคลอดร่างสุดท้าย 29 มีนาคมนี้

ดูเหมือนว่า แม้ทาง กรธ.จะพยายามตอบโจทย์ทุกประเด็นที่จะนำพาประเทศพ้นวิกฤติ เพื่อเป้าหมาย “จัดการเลือกตั้ง”คืนอำนาจให้ประชาชน แต่ไม่รอดที่จะถูกสังคมค่อนแคะว่า “เป็น รธน.โหด” และถูกต่อต้านในบางประเด็นอย่างรุนแรง

โดยเวทีแรกที่เปิดแสดงความคิดเห็น เป็นกลุ่มขบวนการผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย (WeMove)และเครือข่ายเป็นอีกด่านที่สะท้อนว่าหลักประกันเกี่ยวกับศักดิ์ศรี สิทธิความเสมอภาคของปวงชนชาวไทยได้อย่างเข้มข้น โดยหยิบยกประเด็น “เสรีภาพของประชาชน” เป็นไฮไลต์ (อ่านรายละเอียดใน “บรรเจิด” สับเละ ร่างแรก “มีชัย” ไร้หลักคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ หวั่นโกลาหล” )

อย่างไรก็ดี หากทบทวบมุมมองจากผู้มีอำนาจจากผู้นำฝ่ายบริหาร ฝ่ายสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เคยเสนอความเห็นต่อประเด็น “สิทธิเสรีภาพ” ไว้อย่างหลากหลาย

ย้อนทบทวนคำปรารถ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในคราวประชุม ครม. เมื่อ 15 ธันวาคม 2558

“การร่างรัฐธรรมนญู เมื่อกล่าวถึงหลักการทางประชาธิปไตยคนมักจะพูดถึงเรื่องสิทธิและเสรีภาพ นั้นประเทศไทยจะมีความสงบเรียบร้อยและขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้อย่างราบรื่น นอกเหนือจากสิทธิและเสรีภาพแล้ว สังคมยังต้องตระหนักถึงหน้าที่และความรับผิดชอบที่แต่ละคนจะต้องพึงมีต่อประเทศชาติบ้านเมืองด้วยเพราะการคิดถึงสิทธิและเสรีภาพอย่างเดียวก็เหมือนกับเป็นฝ่ายที่รับแต่เพียงอย่างเดียว อยากให้สังคมไทยได้คิดถึงทั้งการให้และการรับ จะต้องคำนึงถึงหน้าที่ความรับผิดชอบของตนเอง ทั้งในฐานะตามอาชีพที่มีอยู่ และฐานะที่เป็นพลเมืองไทยควบคู่ไปกับการคำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพด้วย”

อีกท่าทีหนึ่งจาก นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ยืนยันว่า สนช.ให้ความสำคัญกับการแสดงความเห็นต่อร่างแรก รธน.ในหลายมาตรา อาทิ บทบัญญัติเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่มีการทักท้วงว่าไม่ได้เขียนไว้ใน รธน.อย่างชัดเจน แต่ไประบุว่าเป็นหน้าที่ของรัฐ

“ส่วนตัวมองว่าเขียนไว้ดีกว่าฉบับก่อนหน้านี้ เพราะเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะปกป้องประชาชน การได้มาซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวได้มาทั้ง ส.ส.เขตและส.ส.บัญชีรายชื่อ การได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา”

จากเสียงวิพากษ์ที่ตามมา “มือร่างรธน.ปราบโกง” นายมีชัย ฤชุพันธุ์ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) พยายามชี้ให้จุดแข็งประเด็นสิทธิเสรีภาพ ว่า “กรธ.เขียนเปิดกว้างเรื่องสิทธิเสรีภาพมาก ถ้าไม่มีกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญห้ามประชาชนมีสิทธิ100% เพราะฉะนั้นขอให้ดูร่างรัฐธรรมนูญให้ครบทุกหมวด แล้วจะรู้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้เปลี่ยนแนวคิดเพื่อที่จะให้เกิดความสะดวก ไม่ให้ประชาชนดิ้นรน”

“ถ้ามีอะไรขาดตกบกพร่องหรือมีความจำเป็นต้องเพิ่มเติมอะไรก็ขอให้บอกมา เพราะหลังวันที่ 15กุมภาพันธ์จะทบทวนร่างรัฐธรรมนูญอีกครั้ง” ประธาน รธน พูดจริงจังฝากไว้ในตอนท้าย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,128 วันที่ 4 - 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559