สูตรปราบโกงฉบับปฏิรูป! ต้องรวดเร็ว เด็ดขาด รุนแรง

24 มิ.ย. 2561 | 08:13 น.
240661-1508

การทุจริตคอร์รัปชันถูกเปรียบเป็น 'มะเร็งร้าย' ที่กัดกร่อนทำลายสังคมไทยมาช้านาน นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ในฐานะประธานคณะกรรมการการปฏิรูปประเทศด้านการปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ได้กล่าวถึงปัจจัยที่ก่อให้เกิดปัญหาการทุจริตรุนแรงของไทย ว่า มีทั้งในเชิงพฤติการณ์และเชิงพื้นที่ ทั้งยังมีรูปแบบที่เปลี่ยนแปลงไปจากทางตรงมาสู่การทุจริตเชิงนโยบาย ด้วยการแก้ไขกฎหมายระเบียบ หรือ กำหนดนโยบายที่เอื้อประโยชน์แก่ตนเองและพวกพ้อง รวมถึงการใช้อำนาจเอื้อประโยชน์และทำลายกลไกการตรวจสอบ

ในขณะที่ กลไกภาครัฐนั้น ยังไม่ได้ปฏิบัติงานภายใต้รกอบของธรรมาภิบาล ไม่มีการระงับยับยั้งปัญหาในระดับปฏิบัติ ปัญหาไม่ได้รับการแก้ไขอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นไปอย่างล่าช้า เพราะไม่มีการบูรณาการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่งผลให้การปราบปรามการทุจริตไม่ได้ผล ที่สำคัญโครงสร้างหลักของประเทศเอง ไม่ว่าจะเป็น โครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และระบบราชการก็อ่อนแอลงด้วย

 

[caption id="attachment_292582" align="aligncenter" width="355"] ปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ปานเทพ กล้าณรงค์ราญ[/caption]

หนุนคำสั่ง คสช. ที่ 69 เป็น ก.ม.
ในแผนปฏิรูปด้านการป้องปราบนั้น ได้เสนอให้ยกระดับประกาศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 69/2557 เป็นกฎหมาย เพื่อให้หัวหน้าส่วนราชการเป็นผู้ดูแลให้เกิดความโปร่งใสและมีมาตรฐานทางจริยธรรม ต้องไม่เอื้อประโยชน์ ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน หากหัวหน้าส่วนราชการนั้นเพิกเฉย ให้ถือว่า มีความผิดด้วย

นอกจากนี้ ยังเสนอให้ปรับปรุงกฎหมายเก่าที่มีอยู่ให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น เช่น พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เปิดเผยข้อมูลภาครัฐ เพื่อให้ประชาชนรับทราบข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างเกี่ยวกับโครงการต่าง ๆ ของภาครัฐ ซึ่งที่ผ่านมานั้น ส่วนใหญ่พบว่า เมื่อไปขอข้อมูลต่าง ๆ มักจะมีการปกปิดข้อมูล ดังนั้น ในกฎหมายใหม่นี้ การขอข้อมูลข่าวสาร หากไม่ได้รับในกรอบเวลาที่กำหนด ประชาชนมีสิทธิร้องได้ เป็นต้น

รวมถึงการส่งเสริมให้ภาคเอกชนมาเป็นแนวร่วมป้องกันการทุจริต ซึ่งปัจจุบัน กำหนดให้มีข้อตกลงคุณธรรม หรือ Integrity Pact ในการจัดซื้อจัดจ้างโครงการของรัฐ ที่มีมูลค่า 1 ล้านบาทขึ้นไปนั้น จะต้องมีผู้สังเกตการณ์จากภาคเอกชนเข้าร่วมด้วย ซึ่งที่ผ่านมานั้น สามารถท้วงติงและทำให้รัฐไม่ต้องสูญเสียเงินจำนวนมากได้

พร้อมกันนี้ เสนอให้มี พ.ร.บ.มาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ เพื่อเอื้อต่อประชาชนในการเป็นเครือข่ายต่าง ๆ รวมถึงเสนอให้เร่งผลักดันร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการทำผิดเกี่ยวกับการขัดระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลกับผลประโยชน์ส่วนรวม หรือ ที่เรียกกันว่า "กฎหมาย 4 ชั่วโคตร" เนื่องจากเป็นกฎหมายที่กำหนดอยู่ในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ค.ศ. 2003 (United Nation Convention against Corruption 2003 : UNCAC) โดยได้ผ่านวาระแรกของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไปแล้ว ขณะนี้อยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ


ชูหลักการทหาร
ส่วนด้านการปราบปรามนั้น นายปานเทพเสนอให้ใช้หลักการของทหาร คือ "รวดเร็ว เด็ดขาด และรุนแรง" พร้อมขยายความให้เห็นภาพมากขึ้น โดยคำว่า "รวดเร็ว" นั้น เห็นว่า นับจากนี้ไป คดีเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชันต้องมีกรอบเวลาดำเนินการที่ชัดเจน นับตั้งแต่ขั้นตอนการไต่สวน การชี้มูล และการฟ้องร้องคดีหน่วยงานตรวจสอบต่าง ๆ ต้องทำงานบูรณาการร่วมกันในลักษณะที่เรียกว่า Clearing House เพื่อส่งต่อ และร่วมกันทำงานแก้ไขปัญหา เพื่อทำให้เกิดความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

ส่วนคำว่า "รุนแรง" นั้น เห็นว่าบางเรื่อง เช่น บทลงโทษการรับสินบนของเจ้าหน้าที่หน่วยราชการนั้น มีโทษสูงอยู่แล้ว คือ จำคุก 20 ปี สูงสุด คือ ประหารชีวิต แต่กฎหมายใหม่นั้นยังครอบคลุมโทษไปถึงผู้ให้สินบน โดยให้ถือว่า มีความผิดด้วย ส่วนคำว่า "เด็ดขาด" นั้น เสนอให้ดำเนินการเอาผิดกับผู้ที่ทุจริต นับตั้งแต่ความผิดทางจริยธรรม ผิดทางวินัย ไปจนถึงมีความผิดขั้นอาญา

ที่สำคัญอีกประการ คือ เรื่องการบริหารจัดการหน่วยงานต่าง ๆ ให้เกิดประสิทธิภาพและเป็นระบบมากยิ่งขึ้น โดยปัจจุบัน นอกจากจะมีสำนักงานคณะกรรมการ ป.ป.ช. แล้ว รัฐบาลยังมีศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ด้วย รวมถึงการปรับปรุงศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต (ศปท.) ที่มองว่า ยังไม่ดีเท่าที่ควร พร้อมทั้งเสนอให้มีหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องการทุจริตในระดับสากล โดยเสนอให้ ป.ป.ช. เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องนี้ เพื่อที่จะได้สอดคล้องกับการที่ไทยไปเป็นสมาชิกของอนุสัญญา UNCAC และเสนอให้เข้าร่วมกับองค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา เป็นต้น

นอกจากนี้ เสนอให้ยกระดับสถาบันการป้องกันการทุจริตให้เป็นสากล ซึ่งปัจจุบัน มีสถาบันสัญญาธรรมศักดิ์อยู่แล้ว ที่ ป.ป.ช. จึงควรยกระดับสถาบันนี้ ไม่ใช่เพียงเพื่อนำคนผิดมาลงโทษ แต่ต้องไปทำงานวิจัยเกี่ยวกับการกระทำผิดต่าง ๆ เช่น มีมูลเหตุ มีปัจจัย หรือ สาเหตุจากอะไร เป็นต้น และสนับสนุนให้มีพิพิธภัณฑ์ต้านโกงกระจายอยู่ในทุก ๆ ภาคทั่วประเทศ

นายปานเทพ กล่าวย้ำว่า การป้องกันและปราบปรามการทุจริตจะไม่สำเร็จเลย หากประชาชนไม่มีส่วนร่วมด้วย โดยรัฐต้องอำนวยความสะดวกให้มีกฎหมายให้มามีส่วนร่วม มารวมพลังสร้างเครือข่ายและมีมาตรการคุ้มครองต่าง ๆ เป็นต้น

คณะกรรมการปฏิรูปฯ คาดหมายว่า เมื่อปฏิรูปไปแล้วใน 20 ปีข้างหน้า ดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์ปัญหาคอร์รัปชัน หรือ Corruption Perception Index : CPI ของไทย จะต้องดีขึ้นมาอยู่ใน 20 ประเทศแรกของโลก จากปัจจุบัน CPI ของไทย อยู่อันดับที่ 90 กว่า รวมถึงเรื่องที่ไต่สวนจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ป.ป.ช. ต้องมีประสิทธิภาพ ศาลยกฟ้องเพียง 5% เท่านั้น รวมถึงประสิทธิภาพในการเร่งรัดติดตามทรัพย์สินคืนกลับมาให้เป็นของภาครัฐได้ประมาณ 80% ของทั้งหมด


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,355 วันที่ 8-11 เม.ย. 2561 หน้า 07

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
อนาถโกงที่ดิน! เอื้อโรงโม่ปูน TPIอดีต ขรก.ที่ดินสารภาพได้ค่าลายเซ็น 7 แสน
Ocean’s 8 ในทุกกลโกง จะมีหนึ่งเซียน


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว