อุทาหรณ์ จากคดีปกครอง | อนุมัติเส้นทางรถโดยสารทับซ้อนกันได้ เพราะสาธารณะได้ประโยชน์!

24 มิ.ย. 2561 | 05:31 น.
230661-1224

กรมการขนส่งทางบกในฐานะหน่วยงานของรัฐผู้ให้บริการ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการจัดทำบริการขนส่งธารณะ ปรับปรุงเส้นทางเดินรถโดยสารประจำทาง จำนวนรถสำหรับการขนส่งประจำทางให้ครอบคลุมและเพียงพอต่ความต้องการของประชาชนผู้ใช้บริการ

แต่หากกรมการขนส่งทางบก โดยคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง ใช้อำนาจอนุมัติให้เอกชนเป็นผู้ประกอบการเดินรถโดยสารประจำทางในเส้นทางที่ทับซ้อนกับเส้นทางเดินรถที่มีเอกชนผู้ประกอบการรายอื่นได้รับอนุญาตอยู่ก่อนแล้ว ทำให้เอกชนดังกล่าวมีรายได้จากค่าโดยสารลดน้อยลง

การกำหนดเส้นทางเดินรถโดยสารประจำทางทับซ้อนดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่?

และมีข้อพิจารณาอย่างไร?

นายปกครอง มีคำตอบจากคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.1/2560

มูลเหตุของคดีนี้ คือ นาย ก. ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางด้วยรถโดยสารระหว่างพิบูลมังสาหาร-บ้านช่องเม็ก-บ้านพลาญชัย ระยะทาง 66 กิโลเมตร ต่อมา คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกประจำจังหวัดอนุมัติการกำหนดเส้นทางเดินรถโดยสารประจำทาง ระหว่างอุบลราชธานี-พิบูลมังสาหาร-สถานีขนส่งผู้โดยสาร อ.สิรินธร (ด่านช่องเม็ก) ตามมติคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง และบริษัท ส. ได้รับอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางในเส้นทางสายดังกล่าว

นาย ก. เห็นว่า การกำหนดเส้นทางเดินรถสายใหม่ทับซ้อนกับเส้นทางเดินรถของตน ทำให้รายได้จากค่าโดยสารลดลง

จึงคัดค้านการกำหนดเส้นทางเดินรถดังกล่าว และนำคดีมาฟ้องคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางต่อศาลปกครอง ขอให้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนอนุมัติกำหนดเส้นทางเดินรถสายพิพาท

ปัญหาว่า การกำหนดเส้นทางเดินรถสายใหม่ และอนุญาตให้ บริษัท ส. ประกอบกิจการโดยทับซ้อนเส้นทางเดินรถที่ นาย ก. ได้รับอนุญาตแล้วดังกล่าว เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า เป็นอำนาจดุลพินิจของผู้ถูกฟ้องคดี (คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง) ในการอนุมัติกำหนดเส้นทาง จำนวนผู้ประกอบการขนส่ง และจำนวนรถสำหรับการขนส่งประจำทาง

โดยต้องตั้งอยู่บนหลักการที่คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดที่จะเกิดแก่ประชาชน หรือ ประโยชน์สาธารณะ และโดยที่จะต้องไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่เอกชนที่เกี่ยวข้องเกินสมควร

เมื่อการกำหนดเส้นทางเดินรถสายพิพาทมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวชายแดนไทย-ลาว เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยว โดยกำหนดให้มีเวลาการเดินรถที่แน่นอน ทั้งเที่ยวไปและเที่ยวกลับ ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับประชาชนและนักท่องเที่ยวที่จะได้รับความสะดวกในการเดินทาง จึงมีความจำเป็นต้องกำหนดเส้นทางเดินรถทับซ้อนเส้นทางเดินรถของผู้ฟ้องคดี คิดเป็นระยะทางร้อยละ 40.23 ซึ่งเป็นการทับซ้อนสถานีรับส่งผู้โดยสารสถานีเดียว ประกอบกับผู้ฟ้องคดีไม่ได้แสดงถึงความเสียหายจากการขาดรายได้ จากการกำหนดเส้นทางเดินรถทับซ้อน และหากผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหายก็ชอบที่จะฟ้องเรียกค่าเสียหายชดเชยจากการกระทำดังกล่าวได้ อีกทั้งผู้ฟ้องคดียังคงประกอบกิจการเดินรถโดยสาร ย่อมแสดงให้เห็นว่า จำนวนผู้โดยสารที่ลดลงจากการกำหนดเส้นทางเดินรถสายพิพาทเป็นผลกระทบเพียงเล็กน้อย

เมื่อพิจารณาโดยเปรียบเทียบกับประโยชน์ที่ประชาชนในจังหวัดและนักท่องเที่ยวที่ได้รับบริการการเดินทางด้วยรถโดยสารกับความเสียหายที่ผู้ฟ้องคดีได้รับ การใช้ดุลพินิจกำหนดเส้นทางเดินรถโดยสารประจำทางจึงมีความเหมาะสม

มติอนุมัติกำหนดเส้นทางเดินรถโดยสารประจำทางสายพิพาทจึงชอบด้วยกฎหมาย

คดีนี้ศาลปกครองสูงสุดได้นำหลักกฎหมายทั่วไปในทางปกครองวินิจฉัยข้อพิพาท คือ หลักความได้สัดส่วน ซึ่งเป็นหลักกฎหมายที่ควบคุมการใช้อำนาจของฝ่ายปกครองไม่ให้ใช้อำนาจตามอำเภอใจในกรณีที่กฎหมายให้อำนาจ ที่เรียกว่า "อำนาจดุลพินิจ" แก่ฝ่ายปกครอง (หน่วยงานของรัฐ หรือ เจ้าหน้าที่ของรัฐ) ที่จะเลือกตัดสินใจในทางเลือกที่จะทำให้การบังคับใช้กฎหมายบรรลุตามวัตถุประสงค์ที่กฎหมายต้องการ (ซึ่งคดีนี้ คือ การที่ประชาชนทั่วไปได้รับบริการขนส่งสาธารณะอย่างพอเพียงต่อความต้องการ สะดวก และรวดเร็ว) และต้องคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะที่จะได้รับและความเสียหาย หรือ ผลกระทบของเอกชนที่เกี่ยวข้องเปรียบเทียบกันด้วย

โดยจะต้องเลือกทางเลือกที่เกิดประโยชน์สาธารณะมากกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับความเสียหายของเอกชนเท่านั้น อย่างไรก็ตาม หากทางเลือกที่จำเป็นต้องเลือกดังกล่าว ทำให้เอกชนได้รับความเสียหายเกินสมควร เอกชนก็มีสิทธิที่จะเรียกค่าเสียหายจากการกระทำดังกล่าวได้ ครับ


……………….
คอลัมน์ : อุทาหรณ์ จากคดีปกครอง โดย นายปกครอง

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,355 วันที่ 8-11 เม.ย. 2561 หน้า 06

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
● อุทาหรณ์จากคดีปกครอง : ถูกบอกเลิกสัญญาซื้อขายรถตัก เหตุไม่ยอมไปทดลองตักผักตบชวา
● อุทาหรณ์ ... จากคดีปกครอง | คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ! ไม่ขัดต่อ ก.ม. - คู่พิพาทต้องปฏิบัติตาม!! (ตอน 2)


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว