นายกฯชี้4ปีเร่งงานตปท.“เพื่อสร้างชาติเข้มเเข็ง”

23 มิ.ย. 2561 | 04:51 น.
นายกฯชี้4ปีเร่งงานตปท.“เพื่อสร้างชาติเข้มเเข็ง”

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ว่า”สิ่งที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือ การประกาศนโยบายไม่ยอมรับการค้ามนุษย์ทุกรูปแบบ (Zero Tolerance) ตลอดจนส่งเสริมการแก้ไขปัญหาร่วมกันกับภาคเอกชนตามแนวทางประชารัฐ นอกจากนี้ รัฐบาลได้ริเริ่มและเป็นเจ้าภาพการประชุมว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดีย จำนวน 2 ครั้ง เพื่อตอบสนอง “อย่างทันท่วงที” ต่อสถานการณ์การโยกย้ายถิ่นฐานที่ไม่ปกติ การดำเนินงานเหล่านี้เป็นผลให้สหรัฐอเมริกา ได้เลื่อนสถานะของไทยในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ (TIP Report) ประจำปี ค.ศ. 2016 จาก Tier 3 ขึ้นเป็น Tier 2 Watch List ซึ่งคงสถานะเดิมในปี ค.ศ. 2017 ก็นับว่าดีขึ้น

ยิ่งกว่านั้น ยังได้รับโอกาสดี ๆ และได้ใช้โอกาสเหล่านั้นให้เกิดประโยชน์สูงสุด อาทิ ในปี 2559 เราได้รับเกียรติให้เป็นประธาน “กลุ่ม G77” ที่มีสมาชิก 134 ประเทศ ในโอกาสดังกล่าวนั้น นานาชาติได้ให้การยอมรับในการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นแนวทางหนึ่งเพื่อการบรรลุเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ที่เรียกว่า (SDGS) นับเป็นการเทิดพระเกียรติ แด่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ของเราอีกด้วย นอกจากนี้ เราได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับภูมิภาคที่สำคัญ ๆ ในปี 2559 เช่น การประชุม ASEAN-EU Ministerial Meeting และการประชุม ACD Summit ครั้งที่ 2 ซึ่งล้วนแต่เป็นเวทีที่ไทยประสบความสำเร็จในการผลักดันประเด็นความร่วมมือเพื่อการพัฒนาของภูมิภาค

tu23-6

ที่สำคัญ และเพิ่งผ่านไป ระหว่างวันที่ 15-16 มิถุนายน 2561 ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพการประชุมผู้นำยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (ACMECS) ครั้งที่ 8 และการประชุม ACMECS CEO Forum ครั้งที่ 1 ณ กรุงเทพมหานคร ภายใต้หัวข้อ “การก้าวสู่ประชาคมแม่โขงที่เชื่อมโยงกัน” โดยมีผู้นำจากประเทศสมาชิก CLMVT ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม และไทย รวมทั้งเลขาธิการอาเซียน เข้าร่วมด้วย และมีภาคประชาชน เอกชน ธุรกิจ เข้าร่วมด้วยในเวทีดังกล่าว เป็นการจัดเวทีคู่ขนานไปด้วย รับฟังจาก CEO ต่าง ๆ โดยความร่วมมือ ACMECS นี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างประชาคมของเรา ให้เป็น “หุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา” ให้มีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน การค้าชายแดน และการข้ามพรมแดนของประชาชนอย่างไร้รอยต่อ ภายใต้แผนแม่บท 5 ปี (2562 - 2566) เพื่อจะทำให้ประเทศสมาชิก ACMECS นั้นเชื่อมโยงกันทางเศรษฐกิจ และเป็นสะพานเชื่อมระหว่างมหาสมุทรอินเดียกับมหาสมุทรแปซิฟิกได้อย่างสมบูรณ์แบบ โดยเราจะต้องยกระดับโครงสร้างพื้นฐานให้ได้มาตรฐาน และทำให้กฎระเบียบสอดคล้องกันเสมือนเป็นเขตเศรษฐกิจเดียวกัน ที่เราเรียกว่า ความเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อ

ทั้งนี้ เพื่อจะอำนวยความสะดวก ลดเวลาและต้นทุนในการเดินทางและการขนส่งสินค้าข้ามแดน ทั้งหมดนี้จะทำให้ ACMECS สามารถพัฒนาเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของ “ห่วงโซ่มูลค่าเพิ่ม” ของโลก สร้างการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยมีเป้าหมายให้ประชาชนในภูมิภาคมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ผู้ประกอบการและเกษตรกร เป็นคน “ยุคใหม่” ที่สามารถจะใช้เทคโนโลยี สร้างสรรค์นวัตกรรมในการพัฒนาการผลิต และสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ดีขึ้น รวมทั้งร่วมกันบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม และรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในภูมิภาคให้ดีขึ้น และขับเคลื่อนเศรษฐกิจภูมิภาคและเศรษฐกิจโลกอย่างมีประสิทธิผล

การประชุมในครั้งนี้ ยังได้มีการรับรองปฏิญญากรุงเทพฯ ที่สมาชิกจะร่วมกันส่งเสริมความเชื่อมโยงและการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามวัตถุประสงค์ข้างต้น และที่เป็นมิติใหม่ของความร่วมมือนี้ คือการจัดตั้งกองทุน ACMECS ที่ประเทศไทยเป็นผู้เสนอ เพื่อให้เป็นกลไกการระดมทุน ในการพัฒนาโครงการต่าง ๆ ภายใต้แผนแม่บทนี้ รวมทั้งยังมีการเชิญประเทศที่มีศักยภาพในการเป็นหุ้นส่วนการพัฒนา และองค์กรระหว่างประเทศที่ไม่ใช่สมาชิก ACMECS เข้าร่วมด้วย ในพิธีเปิด นายกรัฐมนตรีจีน ญี่ปุ่น รัฐมนตรีต่างประเทศของออสเตรเลีย เกาหลีใต้ ประธานธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (AIIB) และธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ก็ได้มีสารแสดงความยินดี ต่อข้อริเริ่มของไทย แล้วสนใจเข้าเป็นหุ้นส่วนเพื่อร่วมในการพัฒนา ACMECS นี้ด้วย นอกจากนี้ เราได้เชิญผู้บริหารระดับสูงของบริษัทเอกชน เข้าร่วมให้ความคิดเห็น เพราะเราตระหนักดีถึงบทบาทของภาคเอกชน ในการที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และช่วยกันสนับสนุนโครงการต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนของไทย และประชากรในอนุภูมิภาค รวมทั้งจะช่วยเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของไทย และส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีกับเพื่อนบ้านต่อไป”
โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6 การต่างประเทศตามที่ผมได้กล่าวมาข้างต้นนั้น จะช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยตามนโยบาย “ประเทศไทย 4.0” ผ่านการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ อาทิ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และฝรั่งเศส ให้มาลงทุนในสาขา 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย S Curve และ New S Curve ในพื้นที่ EEC และเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษทั้ง 1 แห่งในอนาคต ตลอดจนการพัฒนาระบบ e-Commerce และการผลักดันให้ฮ่องกงซึ่งเป็นกลไกสำคัญของจีน ภายใต้นโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง พิจารณาเปิดสำนักงานเศรษฐกิจและการค้าฮ่องกงประจำประเทศไทย (HKETO) เพื่อเป็นช่องทางประสานงานทางเศรษฐกิจระหว่างกัน ทั้งนี้ การต่างประเทศยังมีบทบาทในการแสวงหาแนวทางปฏิบัติที่เป็นเลิศ เพื่อจะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของไทย ควบคู่กับการชี้ช่องทางเศรษฐกิจแก่ภาคเอกชนไทย โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs ผ่านการให้ข้อมูลเชิงลึกของตลาดที่มีศักยภาพและการจับคู่ธุรกิจในโอกาสต่าง ๆ อีกด้วย

ดังนั้น สรุปว่าในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้แก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรคในการพัฒนาประเทศอย่างเต็มกำลัง รวมทั้งกระชับความสัมพันธ์กับประเทศต่าง ๆ เพื่อจะวางรากฐานด้านการต่างประเทศให้มีความเข้มแข็งสามารถช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้า โดยในอนาคตอันใกล้ประเทศไทยจะเป็นประธานอาเซียนในปี 2562 และเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอด APEC ในปี 2565 โดยทั้ง 2 เวที จะเป็นโอกาสให้ไทยได้สามารถผลักดันความร่วมมือที่จะเป็นประโยชน์ต่อไทยและภูมิภาคในภาพรวม เพื่อให้ทุกฝ่าย “เติบโตไปพร้อมกัน โดยไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง”

e-book-1-503x62