Big Dataทางรอดแบงก์แชร์ข้อมูลก่อน‘เทลโก้-เว็บไซต์’กลืนตลาด

29 มิ.ย. 2561 | 07:09 น.
เมื่อธนาคารพาณิชย์ที่เคยเป็นเสือนอนกิน กำลังจะกลายเป็นเสือลำบาก จากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่เข้ามายึดพื้นที่ที่เคยเป็นพื้นที่ปลอดภัย คู่แข่งของธนาคารพาณิชย์จึงไม่ใช่แค่ ฟินเทค หรือ Financial Technology อีกต่อไป แต่ยังรวมถึงคู่แข่งที่มาจากนอกอุตสาหกรรมที่ถูกจับตามองอย่างมากเวลานี้คืออุตสาหกรรมสื่อสารโทรคมนาคม หรือ Telco จากข้อได้เปรียบเรื่องฐานข้อมูลบวกกับเทคโนโลยี

“นริศ สถาผลเดชา” ผู้บริหาร TMB Analytics ธนาคาร ทหารไทย จำกัด(มหาชน)หรือ ทีเอ็มบีให้สัมภาษณ์ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า เมื่อเจอสถานการณ์ที่ลูกค้าไม่ต้องการธนาคาร แต่ยังต้องการบริการทางการเงิน ประกอบกับ กระแสฟินเทค ที่มีทั้งนวัตกรรมและความไว แต่ไม่มีฐานลูกค้าและต้องสร้างความเชื่อมั่น ดังนั้นในอนาคตธนาคารจะต้องเร่งถีบตัว ยกระดับเป็น Tech Bank เพื่อให้บริการทางการเงินกับลูกค้าแบบไร้รอยต่อ จะเห็นธนาคารให้บริการหลายๆด้านเพิ่ม นอกจากบริการทางการเงิน

[caption id="attachment_292259" align="aligncenter" width="335"] นริศ นริศ สถาผลเดชา[/caption]

หัวใจของ Tech Bank คือ การให้ประสบการณ์ดีที่สุดกับลูกค้าที่ใช้บริการแบบไร้รอยต่อ โดยต้องพัฒนาบริการทุกอย่างอยู่ใน APP/Chat เดียว เพื่อให้ลูกค้าพึงพอใจและมีความสุข จึงเห็นว่า ธนาคารพยายามดึงฟินเทคเข้ามาเป็นพันธมิตร เพื่อเติมเต็มในการเข้าสู่ดิจิตอล เริ่มเห็นหลายธนาคารเสนอแอพพลิเคชัน เพื่อทำธุรกรรมทางการเงิน

“สิ่งที่น่ากลัวคือ Telco ทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นทรู เอไอเอส   ดีแทค ที่ต่างก็มีฐานลูกค้าและมีความสัมพันธ์ต่อเนื่อง ที่ลูกค้าเชื่อถือ ไม่ว่าจะเรื่องโทรเตือนหรือแนะนำแพ็กเกจอะไรก็ตาม ซึ่งหากเทลโก้เหล่านี้ ยกระดับบริการดีขึ้น เชื่อว่า แบงก์เหนื่อยแน่”

ทางรอดของระบบธนาคารพาณิชย์คือ แบงก์ในระบบหันมาจับมือกันใช้โครงสร้างพื้นฐานเดียวกัน อย่าง Digital ID ที่จะเกิดศูนย์กลางบริการที่ดี แต่หากยังแข่งขันกัน ต่างคนต่างทำคนละระบบ ขณะที่คู่แข่งไม่ว่าจะเป็นเทลโก้ นอนแบงก์ หรือเว็บไซต์ต่างประเทศ ที่มีความพร้อมทุกด้าน และถ้าแบงก์ยังช้า จะทำให้สูญเสียลูกค้าและโอกาสทางตลาดไป

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6

อย่างข้อมูลที่ธนาคารพาณิชย์ยังไม่นำมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่คือ Big Data โดยการใช้ Data Analytics ทำให้เห็นถึงศักยภาพและความต้องการ  จะทำให้เข้าใจและเข้าถึงลูกค้าได้ลึกซึ้ง แต่ที่สำคัญธนาคารจะต้องพัฒนาพนักงานให้เข้าใจเทคโนโลยีและเข้าใจถึงการใช้ประโยชน์ Big Data แต่ถ้าคนของธนาคารไม่เข้าใจทั้ง Big Data ที่พัฒนาไปด้วยระบบอะไรแล้วแต่ สุดท้ายก็เป็นแค่กล่องดำ

สำหรับแนวโน้มการสร้างรายได้หรือทำกำไรของธนาคารพาณิชย์ปีนี้ หลักๆ จะมาจากความต้องการสินเชื่อของผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอี ซึ่งยังทำกำไรได้ ภาพรวมผลตอบแทนอยู่ที่ 8-9% และสินเชื่อรายย่อยจะกลับมาเติบโตดีมากขึ้นในกลุ่มสินเชื่อเช่าซื้อ ขณะที่สินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อบัตรเครดิต จะค่อยๆ ฟื้นตัว โดยจะเห็นว่า ธนาคารในระบบลงมาทำตลาดแข่งกับเจ้าตลาดคือ นอนแบงก์ที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดมากกว่าธนาคาร 50%

“สินเชื่อรายย่อยกลับมาโต 7.3% ส่วนสินเชื่อเอสเอ็มอีมีโอกาสแตะ 7% ขณะที่สินเชื่อรายใหญ่เริ่มฟื้นตัวได้ราว 1.3% ส่วนหนึ่งเพราะต้องการสินเชื่อระยะสั้นหรือ Bridge Loan เมื่ออนุมัติสินเชื่อแล้วจะนำไปสู่การออกหุ้นกู้ เพราะต้นทุนถูกกว่า จึงเห็นว่า ปีที่ผ่านมา ตลาดหุ้นกู้มีมูลค่ารวมถึง 8 แสนล้านหรือกินส่วนแบ่ง 1 ใน 3 ของสินเชื่อรายใหญ่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการออกหุ้นกู้ เพื่อรีไฟแนนซ์หนี้และแนวโน้มความต้องการหุ้นกู้ก็ยังมีต่อเนื่องเช่นกัน”

      หน้า 23-24 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่38 ฉบับที่ 3,377 วันที่ 24 - 27 มิถุนายน 2561 e-book-1-503x62