PORTส่งสัญญาณ ปรับเป้ารายได้ปี 61 ใหม่ก.ค.นี้

29 มิ.ย. 2561 | 09:31 น.
เศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกที่ขยายตัวถึง 4.8% สูงสุดในรอบ 5 ปี เพราะได้แรงผลักดันสำคัญจากการส่งออกที่ขยายตัว 11.3% ในไตรมาสแรก สูงสุดในรอบ 7 ปี ขณะเดียวกันยังส่งผลให้การนำเข้าเร่งตัวตามขึ้นด้วย โดย 3 เดือนแรกปีนี้ การนำเข้าขยายตัวถึง 16.6% ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ ย่อมส่งผลบวกต่อธุรกิจโลจิสติกส์ โดยเฉพาะขนส่งสินค้าทางเรือระหว่างประเทศ

“บัญชัย ครุจิตร” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สหไทย เทอร์มินอลจำกัด (มหาชน) หรือ PORT เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ภาพรวมบริษัทในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมายังโตต่อเนื่อง ซึ่งตามประมาณการรายได้ปี 2561 ที่คาดว่าจะเติบโต 10% นั้นเป็นการประมาณการจากตัวเลขการส่งออกและนำเข้าปี 2560 ที่คาดว่าการส่งออกจะขยายตัว 8% และจะโตต่อเนื่องในปีนี้ โดย 4 เดือนปิดไปขยายตัวเฉลี่ย 11% ขณะที่รายได้บริษัทดีกว่าค่าเฉลี่ยของการส่งออกเล็กน้อย

[caption id="attachment_292192" align="aligncenter" width="503"] บัญชัย ครุจิตร บัญชัย ครุจิตร[/caption]

“รายได้เราเองก็เป็นไปในทิศทางเดียวกับการส่งออก ซึ่งต้องรอดูตัวเลขเดือนมิถุนายน ถ้าตัวเลขครึ่งปีแรกดีกว่าพอสมควร และเราค่อนข้างที่จะสบายใจในระดับหนึ่ง เราก็จะประกาศในเดือนกรกฎาคมที่จะปรับประมาณการทั้งปีใหม่”

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ภาพรวมการนำเข้าเพิ่มขึ้นจากเดิมที่เคยมีสัดส่วน 35% และการส่งออก 65% แต่ปัจจุบันเพิ่มเป็น 40% ซึ่งหลักๆ ที่สินค้ามาลงที่ท่าเรือที่นี่ จะมาจากเยอรมนี เพราะเรามีบริการที่เป็นเขตปลอดภาษีอากร (Free Zone) ให้กับบริษัท เบนซ์ฯ จึงมีการนำเข้าอะไหล่รถยนต์จำนวนมากตามยอดขายรถยนต์ที่เพิ่มขึ้น นอกจากนั้นจะเป็นสินค้าอาหาร วัตถุดิบที่เกี่ยวกับอาหาร เหล็ก และสินค้าที่ใช้ในอุตสาหกรรมตกแต่ง อย่างกระเบื้องมีการ นำเข้าจากจีนจำนวนมาก ขณะที่การนำเข้าสินค้าทุนและเครื่องจักร หลักๆจะไปลงที่ท่าเรือแหลมฉบังมากกว่า

การส่งออกที่ท่าเรือเรา มากสุดเป็นสินค้าเกษตร อันดับ 1 คือ มันสำปะหลัง และข้าวโพด ที่มาจากภาคอีสาน ซึ่งปัจจุบันยอดตกเล็กน้อย จากปริมาณการผลิตที่ลดลงและราคาไม่ดีด้วย ทำให้เกษตรกรลดการปลูกลง ปริมาณการส่งออกจึงลดลงไปด้วย แต่ก็ไม่กระทบมาก เพราะการส่งออกมันสำปะหลังไตรมาส 1 ที่ผ่านมายังโตกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน รองลงมาจะเป็นอาหารและผลิตภัณฑ์อาหาร สหไทย

“ส่งออกเหล็กช่วงแรกที่สหรัฐฯประกาศขึ้นภาษีเหล็กจากจีน ทำให้ภาพงงๆไปเดือนหนึ่ง เพราะไม่แน่ใจว่าจะได้รับผลกระทบหรือไม่ แต่หลังจากทางการหารือแล้วก็ได้ข้อสรุปว่า ผู้ส่งออกไทยส่งออกเหล็กไปยังสหรัฐฯได้เท่ากับปริมาณส่งออกในปีที่ผ่านมา”

ความคืบหน้าในการหาสายเดินเรือใหม่ๆ ล่าสุดในไตรมาส 2 ได้ทำสัญญาเพิ่มอีก 1 สายเรือจากจีน คือ Taicang ซึ่งจะเน้นตลาดจีนโดยเฉพาะ ปริมาณการส่งออกนำเข้าของเขาประมาณ 500-600 ตู้ต่อสัปดาห์ เพิ่มจากไตรมาสแรก ที่ได้ทำสัญญาไปกับ One line สายเดินเรือขนาดใหญ่จากญี่ปุ่น ทำให้ปัจจุบันมีสายเดินเรือพันธมิตรประมาณ 20 สายเดินเรือ และมีการส่งออกนำเข้าประมาณ 4.5 แสนตู้ต่อปี

หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับ 3,377 วันที่ 24-27 มิถุนายน 2561 e-book-1-503x62