เปิดแนวคิด ‘ธีรนันท์ ศรีหงส์’ ประธานใหม่TMA

16 ก.ค. 2561 | 20:45 น.
กว่า 54 ปี ของสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศ ไทย (TMA) กับรูป แบบองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ที่มุ่งเน้นการสร้างผู้บริหารที่มีคุณธรรมและมีความสามารถ ด้วยเป้าหมายหลักคือต้องการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันทั้งในระดับองค์กรและระดับประเทศให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล ด้วยการเชื่อมโยงเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ และเอกชนผ่านกิจกรรมต่างๆ

“ฐานเศรษฐกิจ” ได้มี โอกาสร่วมพูดคุยกับ “ธีรนันท์ ศรีหงส์” ภายหลังเข้ารับตำแหน่ง “ประธาน” คนใหม่ของสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) ถึงวิสัยทัศน์และทิศทางขององค์กรเมื่อเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทสำคัญ
แผนการดำเนินงานของTMA

[caption id="attachment_291968" align="alignright" width="335"] ธีรนันท์ ศรีหงส์ ธีรนันท์ ศรีหงส์[/caption]

“ธีรนันท์” กล่าวว่า 2-3 ปีนับจากนี้องค์กรจะให้ความสำคัญใน 2 ส่วนได้แก่ โอเปอเรชัน และเทคโนโลยี เพื่อช่วยกันยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันทั้งในระดับองค์กรและประเทศ ผ่านการทำกิจกรรมต่างๆ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต โดยมุ่งเน้นสร้างความเข้มแข็งและความพร้อมของการพัฒนาผู้บริหารในอนาคต ซึ่งจะมุ่งเป้าหมาย 3 เรื่องหลักคือ การสร้างเครือ ข่ายเพื่อให้เกิดความร่วมมือในกลุ่มผู้บริหารทั้งภาครัฐและเอกชน, การบริหารจัดการด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม ดิจิตอล และการพัฒนาความเป็นผู้นำ

“ในการยกระดับขีดความสามารถการแข่งขัน TMA ให้ความสำคัญเรื่องวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมทั้งเรื่องดิจิตอล เป็นแพลตฟอร์มที่สำคัญ ซึ่งที่ผ่านมาได้ริเริ่มโครงการ Agro-Food Sector Innovation ร่วมวางแผนยุทธศาสตร์และเชื่อมโยงเครือข่ายในอุตสาหกรรมอาหารมาโดยตลอด และจะทำงานร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับ Food Innopolis ภายใต้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) ในการเสาะหาแหล่งองค์ความรู้เชื่อมโยงเครือข่ายและช่วยสนับสนุนการผลักดันให้ประเทศไทยก้าวขึ้นเป็น Food Innovation Hub ในภูมิภาค”

สำหรับจุดแข็งขององค์กรคือการมีนักธุรกิจชั้นแถวหน้าของเมืองไทยที่มีชื่อเสียงในบริษัทขนาดใหญ่กว่า 20 ราย ไม่ว่าจะเป็น เครือ มิตรผล ธนาคารไทยพาณิชย์เข้ามานั่งแท่นบริหารงาน และจะมีส่วนสำคัญในการเอาประสบการณ์ตรงที่ได้รับมาใช้ในการพัฒนาคอร์สแต่ละคอร์สที่ TMA พัฒนาขึ้นมา โดยเฉพาะคอร์สปั้น “เถ้าแก่รุ่นใหม่” ให้มีความน่าเชื่อถือและประสบความสำเร็จมากที่สุด

อย่างไรก็ตามปัจจุบัน TMA สร้างโอกาสในการเชื่อมโยงกับเครือข่ายกลุ่มผู้บริหารทั้งภาครัฐและเอกชนผ่านกิจกรรมต่างๆ รวมถึงแสวงหาความร่วมมือและเสาะหาองค์ความรู้จากที่ต่างๆ ทั่ว โลก เช่น การร่วมมือกับ International Institute for Management Development (IMD) จากประเทศสวิตเซอร์แลนด์จัดกิจกรรมและงานสัมมนาเพื่อการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เป็นต้น ซึ่งในอนาคตเราจะนำความรู้ที่ได้จากเครือข่ายทั่วโลกมาบูรณาการ เรากำลังมุ่งเน้นในเรื่องนวัตกรรม เรื่องความยั่งยืน และเรื่องขีดความสามารถในด้านดิจิตอล
พันธกิจสู่การเปลี่ยนผ่าน Technology Disruption

ขณะที่การเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคของ Technology Disruption ถือว่าเป็นอีกหนึ่งบทบาทใหม่ที่ท้าทายผู้ประกอบการในไทยไม่ว่าจะเป็นทั้งภาครัฐ เอกชน ให้สามารถปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนผ่านของยุคที่ไม่ใช่แค่ Digital หากแต่หมายรวมถึง Technology ที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินธุรกิจมากขึ้น ซึ่งมองว่ากลุ่มธุรกิจที่จะมีการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุค Technologyได้ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ได้แก่ กลุ่มผู้ประกอบการในธุรกิจการเงิน,อี-คอมเมิร์ซ ขณะที่ธุรกิจรีเทลคือกรณีศึกษาสำคัญของการเข้ามาของเทคโนโลยี คือกลุ่มธุรกิจรีเทลที่แม้จะมีการเติบโตจากยอดขายในส่วนของอี-คอมเมิร์ซสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ขณะเดียวกันจำนวนคนเข้าศูนย์กลับเพิ่มขึ้นตามอยู่ ซึ่งมองว่าเป็นเรื่องสำคัญน่าสนใจกับการผสาน 2 ส่วนเข้าด้วยกัน

“มองว่าปัจจุบันผู้ประกอบการของไทยยังไม่มีความพร้อมในการเข้าสู่ยุคของเทคโนโลยี เนื่องจากยังขาดบุคลากรที่มีความรู้ ความเข้าใจ โดยเฉพาะในผู้บริหารระดับสูงที่เข้าใจในเทคโนโลยีมีน้อย แต่ยังมีความตระหนักในการรับรู้และรับมือ ซึ่งทั้งในส่วนของพนักงานและผู้บริหารล้วนต้องมีโจทย์ร่วมกันในการทำงานเพื่อพัฒนาศักยภาพองค์กรให้ไปสู่ความสำเร็จ โดยมีนวัตกรรมและเทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ”

e-book-1-503x62

.........................................

สัมภาษณ์ | หน้า36 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3,377 ระหว่างวันที่ 24-27 มิ.ย.61