โหมโรงตั๋วร่วม "บัตรแมงมุม" ดีเดย์แจก 23 มิ.ย.-1ก.ค.นี้ 2 แสนใบ

22 มิ.ย. 2561 | 04:26 น.
กระทรวงคมนาคม และ รฟม. จับมือนำร่องเปิดตัวบัตรโดยสารร่วม “แมงมุม เชื่อมโยงความสุขทุกการเดินทาง ด้วยบัตรใบเดียว” เริ่มใช้กับรถไฟฟ้า MRT ทั้ง 2 สาย เตรียมพร้อมแจกบัตรแมงมุม 200,000 ใบ ในวันที่ 23 มิถุนายน 2561 เป็นต้นไป
S__5324833
-22 มิถุนายน 2561- นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในงานเปิดตัวบัตรโดยสารร่วม หรือ “บัตรแมงมุม” ภายใต้แนวคิด “แมงมุม เชื่อมโยงความสุข
ทุกการเดินทาง ด้วยบัตรใบเดียว” ณ สถานีรถไฟฟ้าเตาปูน เขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร

โดยมี นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายธีระพงษ์ รอดประเสริฐ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงคมนาคม นายมานิตย์ สุธาพร ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายชาติชาย ทิพย์สุนาวี ปลัดกระทรวงคมนาคม นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงคมนาคม นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) นายสาคร รุ่งสวัสดิ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายการเดินรถองค์การ 2 องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) นายสุเทพ พันธุ์เพ็ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด และนายสมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เข้าร่วมงาน
S__5324834 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า การพัฒนาระบบตั๋วร่วม หรือ Common Ticketing System ถือเป็นภารกิจสำคัญของกระทรวงคมนาคมที่ต้องเร่งดำเนินการเพื่อพัฒนาและส่งเสริมมาตรฐานคุณภาพการให้บริการระบบคมนาคมขนส่ง ตามนโยบายของรัฐบาลในการเพิ่มความสะดวกด้านการเดินทางให้แก่ประชาชน ซึ่งมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนผู้ประกอบการระบบขนส่งมวลชน ได้แก่ สนข. รฟม. ขสมก. รฟฟท. และ BEM ประสานความร่วมมือในการดำเนินงานเพื่อเชื่อมต่อระบบและให้บริการระบบตั๋วร่วมหรือ “บัตรแมงมุม” ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ประชาชนสามารถใช้บัตรโดยสารเพียงใบเดียวเดินทางเชื่อมต่อได้ทุกระบบ โดยมี รฟม. ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม (Common Ticketing Company : CTC) เนื่องจากเป็นหน่วยงานที่ดำเนินโครงการระบบขนส่งทางรางครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลทั้งในปัจจุบันและอนาคต

รวมทั้งที่จะเกิดขึ้นในเมืองภูมิภาค เช่น จังหวัดภูเก็ต เชียงใหม่ เป็นต้น จึงมีความเหมาะสมและความพร้อมในการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม โดยกำหนดให้เริ่มต้นใช้งานระบบตั๋วร่วมกับรถไฟฟ้าในเส้นทางที่เปิดให้บริการแล้ว จากนั้นจึงจะขยายการใช้งานระบบตั๋วร่วมกับรถโดยสารประจำทาง ขสมก. และ รถไฟฟ้า แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ในลำดับต่อไป ดังนั้น การเปิดให้บริการระบบตั๋วร่วม หรือ “บัตรแมงมุม” ในวันนี้ จึงถือเป็นก้าวแรกที่สำคัญของการประสานความร่วมมือ ผลักดัน และส่งเสริมให้ระบบตั๋วร่วมเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม สามารถที่จะเชื่อมโยงความสุขทุกการเดินทางให้แก่ประชาชนต่อไป
S__5324844 นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. กล่าวว่า รฟม. ได้เร่งรัดการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะอย่างยิ่ง บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) ในการเร่งติดตั้งเครื่องอ่านบัตร ติดตั้งซอฟต์แวร์และทดสอบระบบตั๋วร่วม เพื่อให้มีความพร้อมในการรับชำระค่าโดยสารผ่าน “บัตรแมงมุม” ได้ในระบบรถไฟฟ้าทั้ง 2 สายของ รฟม. คือ รถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (MRT สายสีน้ำเงิน) และรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (MRT สายสีม่วง) จนแล้วเสร็จตามแผนงานที่กำหนด

โดยในวันที่ 23 มิถุนายน 2561 เป็นต้นไป รฟม. จะแจกบัตรแมงมุมให้แก่ประชาชน ทั้ง 3 ประเภท ได้แก่ บัตรบุคคลทั่วไป (สีน้ำเงิน) บัตรผู้สูงอายุ (สีทอง) และบัตรนักเรียน/นักศึกษา (สีเงิน) ซึ่งสามารถติดต่อขอรับได้ที่รถไฟฟ้า MRT สายสีม่วงทุกสถานี

ทั้งนี้บัตรบุคคลทั่วไป รับได้ตั้งแต่วันที่ 23– 29 มิถุนายน 2561 และ 2 – 5 กรกฎาคม 2561 จำนวน 16,000 ใบ/วัน สถานีละ 1,000 ใบ/วัน สำหรับบัตรนักเรียน/นักศึกษาและบัตรผู้สูงอายุ รับได้ในวันที่ 30 มิถุนายน และ 1 กรกฎาคม 2561 ประเภทละ 5,000 ใบ/วัน สถานีละ 312 ใบ/ประเภท/วัน โดยแสดงบัตรประจำตัวประชาชน/บัตรประจำตัวนักเรียน/นักศึกษา เพื่อขอรับบัตรที่ห้องออกบัตรโดยสาร และเมื่อจะนำไปใช้ในระบบรถไฟฟ้า MRT จะต้องเติมเงินขั้นต่ำ 150 บาท แบ่งเป็นค่ามัดจำบัตร 50 บาท และมูลค่าการเดินทางสำหรับโดยสารรถไฟฟ้าขั้นต่ำ 100 บาท ได้เฉพาะที่สายสีม่วงทุกสถานี ทั้งนี้ บัตรมีจำนวนจำกัด จึงจำกัดสิทธิ์ 1 คนต่อใบเท่านั้น

นอกจากนี้ รฟม. ยังเตรียมพร้อมที่จะพัฒนาบัตรแมงมุมเวอร์ชั่น 2 ด้วยเทคโนโลยี EMV Contactless Smart Card ที่ใช้กันในบัตรเครดิต เพื่อให้เป็นบัตรใบเดียวที่เชื่อมโยงระบบขนส่งสาธารณะ พร้อมทั้งชำระสินค้าและบริการได้ โดยไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเติมเงินล่วงหน้าในบัตร ซึ่งจะช่วยสร้างประสบการณ์ใช้บริการรูปแบบใหม่ให้แก่ผู้โดยสาร ทำให้ได้รับสิทธิประโยชน์และความสะดวกในการพกบัตรใบเดียว อันเป็นการขับเคลื่อนนโยบายระบบตั๋วร่วมของรัฐบาล และกระทรวงคมนาคม เพื่อมอบความสุขให้ประชาชน