บสย.ฉลองชัย 25 ปี ค้ำประกันสินเชื่อ 7 แสนล้าน

21 มิ.ย. 2561 | 11:54 น.
บสย.ครบรอบ 25 ปี หนุน SMEs เข้าถึงสินเชื่อกว่า 3 แสนราย วงเงินอนุมัติค้ำประกันกว่า 7 แสนล้าน สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ 1.74 ล้านล้านบาท ทีดีอาร์ไอ เผยผลวิจัย ”ค้ำประกันสินเชื่อ” สร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมหาศาล เดินหน้านโยบายพลังประชารัฐ ผนึกแบงก์รัฐ ลงนาม 2 โครงการค้ำประกันสินเชื่อ “สินเชื่อประชารัฐ” และ “สินเชื่อเพื่อการประกอบอาชีพของผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ”

นายสุรชัย ดนัยตั้งตระกูล ประธานกรรมการ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เผยว่า ในโอกาสที่ บสย. ครบรอบ 25 ปี ถือว่ามีความสำเร็จในการค้ำประกันสินเชื่อ โดยมียอดอนุมัติค้ำประกันสะสมกว่า 7 แสนล้านบาท ช่วยผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงสินเชื่อ 324,000 ราย โดยโครงการค้ำประกันสินเชื่อที่ประสบความสำเร็จช่วง 25 ปีที่ผ่านมาคือ โครงการค้ำประกันสินเชื่อ SMEs สำหรับผู้ประสบภัย, โครงการค้ำประกันสินเชื่อ SMEs Transformation Loan และโครงการค้ำประกันสินเชื่อ ที่ได้รับการตอบรับอย่างดีจากสถาบันการเงิน และรัฐบาลให้การสนับสนุนต่อเนื่อง คือ โครงการค้ำประกันสินเชื่อแบบ Portfolio Guarantee Scheme ระยะที่ 1-6 (PGS 1- 6) ที่ช่วยผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงสินเชื่อ เติบโตอย่างมั่นคง ลดการพึ่งพาเงินนอกระบบ
bsu ทั้งนี้ภายใต้ยุทธศาสตร์การดำเนินงานของ บสย. ที่มุ่งเน้นการทำงานแบบบูรณาการร่วมกับคู่พันธมิตร วันนี้ บสย.และสถาบันการเงินของรัฐ ยังได้ผนึกกำลังร่วมกัน ดำเนินโครงการตอบสนองแผนงานของรัฐบาล ในการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs จัดให้มีพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อดำเนินโครงการ ให้ความช่วยเหลือด้านสินเชื่อและค้ำประกันสินเชื่อกับผู้ประกอบการ SMEs รวม 2 โครงการคือ 1. โครงการสินเชื่อประชารัฐ ระหว่าง ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กับ บสย. และ 2. โครงการสินเชื่อเพื่อการประกอบอาชีพของผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยความร่วมมือระหว่าง ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย กับ บสย. เพื่อช่วยผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงสินเชื่อ โดยมี บสย.ค้ำประกัน

นอกจากนั้นในโอกาสครบรอบ 25 ปี บสย. ได้เชิญ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) นำเสนอผลการศึกษา เรื่อง “ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ จากการค้ำประกันสินเชื่อ SMEs ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน” โดย ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการบริการจัดการระบบเศรษฐกิจ ทีดีอาร์ไอ, ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการ และนายวัชรินทร์ ตันติสันต์ นักวิจัยอาวุโส
web-01-ad ทั้งนี้ผลการศึกษาในปี พ.ศ. 2558 ระบุว่า ในช่วงปี พ.ศ. 2552 - 2558 งบประมาณที่รัฐจัดสรรให้ บสย. นำมาใช้ในการค้ำประกันสินเชื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs ทุกๆ 1 บาท ส่งผลให้เกิดการหมุนเวียนเงินในระบบเศรษฐกิจสูงกว่า 4.5 เท่าของวงเงินค้ำประกัน ก่อให้เกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจทั้งทางตรงและทางอ้อม รวม 1.74 ล้านล้านบาท และพบว่า การค้ำประกันสินเชื่อของ บสย. ยังช่วยให้สินเชื่อที่สถาบันการเงินปล่อยให้ SMEs เกิดการขยายตัว 1.7 เท่า ของวงเงินค้ำประกันสินเชื่อ เกิดการจ้างงานจำนวน 3.6 ล้านราย และมีเงินภาษีกลับเข้าสู่รัฐกว่า 2.25 แสนล้านบาท ในด้านสัดส่วนความคุ้มค่าทางการเงิน หรือ Cost-Benefit Ratio จะมีค่าสัมประสิทธิ์ เท่ากับ 0.009 ซึ่งหมายถึง ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากการค้ำประกัน 100 บาท เกิดจากการใช้ต้นทุนรัฐเพียง 90 สตางค์

“ก้าวต่อไปของ บสย. มุ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาความเข้มแข็งทางการเงิน และการเข้าถึงแหล่งเงินทุน กับผู้ประกอบการ SMEs สอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี รวมทั้งปรับกลยุทธ์การดำเนินงานให้สอดรับกับยุทธศาสตร์ THAILAND 4.0 ก้าวสู่ยุค Digital Economy สู่การพัฒนานวัตกรรมด้านการค้ำประกันสินเชื่อ ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ” นายสุรชัย กล่าว

e-book-1-503x62