แนะ 'ทีวีดิจิตอล' งัดแผน 2! ม.44 แก้ปัญหาแค่ปลายทาง เหตุเม็ดเงินโฆษณาไม่พุ่ง

05 เม.ย. 2561 | 11:31 น.
เอกชนแนะรัฐหาทางออกระยะยาวให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล มอง ม.44 แค่ปลายทาง ขณะที่ กลุ่มทุนควรมีแผนสำรองรองรับ แนะคุมปริมาณช่องให้เหมาะสม เหตุเม็ดเงินโฆษณาไม่พุ่ง ต้องแย่งชิงเค้กก้อนเดิม

การเรียกร้องให้ใช้ ม.44 ของผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล เพื่อเยียวยา หลังต้องเผชิญปัญหารุมเร้ารอบด้าน ด้วยการยื่น 3 ข้อเสนอ ได้แก่ การยืดระยะเวลาจ่ายค่างวดจาก 6 ปี ออกไปเป็น 9 ปี , ขอลดการส่งเงินรายได้เข้ากองทุนพัฒนาสื่อในอัตรา 2% เหลือ 1% หรือ คิดแบบอัตราขั้นบันไดจากน้อยไปหามาก และการลดค่าเช่าโครงข่าย (มัค) ลงครึ่งหนึ่งตลอดอายุสัญญาสัมปทานที่เหลือ ล่าสุด แม้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะยังไม่ประกาศใช้ ม.44 ช่วยเหลือทีวีดิจิตอลอย่างเป็นทางการ แต่จากมาตรการที่ออกมาในการขยายเวลาชำระค่างวดออกไป 3 ปี กับลดค่ามัค 50% ก็อาจไม่ใช่คำตอบที่ผู้ประกอบการต้องการ

นายเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) และนายกสมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า การที่มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลยังไม่มีผลออกมานั้น จะส่งผลให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลหลายช่องต้องปรับยุทธศาสตร์การจ่ายค่างวดใหม่ เพราะหากจำนวนงวดยังเท่าเดิม เม็ดเงินที่จะนำไปใช้ในการพัฒนาแพลตฟอร์มก็จะน้อยลง ขณะที่ การจ่ายงวดทีวีดิจิตอลเดือน พ.ค. ที่จะถึงนี้ ทาง อสมท พร้อมที่จะชำระตามรอบที่กำหนด โดยได้เตรียมเม็ดเงินในการจ่ายพร้อมแล้ว เนื่องจากทางช่องรู้สภาพการเงินและปัญหาของตัวเอง

ขณะที่ เรื่องแผนการลงทุนและแผนงานของบริษัทยังคงเหมือนเดิม ไม่มีการเปลี่ยนแผนงานแต่อย่างใด มีเพียงการเพิ่มรายการวาไรตีเข้าไป เพื่อตอบโจทย์คนดูมากขึ้นในการแข่งขันในธุรกิจทีวีดิจิตอลเท่านั้นเอง แต่อย่างไรก็ต้องยอมรับว่า ที่ผ่านมา ทางช่องลงทุนมากเกินไป คือ 2 ช่อง กับอีก 1 มัค ขณะที่ ช่องอื่นลงทุนเพียงแค่คอนเทนต์กับสถานี แต่ไม่ลงทุนเรื่องโครงข่าย (มัค) เพราะฉะนั้นเม็ดเงินเลยหายไปจำนวนมาก แต่หากมีการบริหารเรื่องการเงินที่ดีก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็นการกู้กับแบงก์ในดอกเบี้ยราคาถูกเรื่องมัค มันก็จะทำให้ทางช่องมีแคชอยู่ ซึ่งตอนนี้ก็ยังมีแคชอยู่เพียงต่อน้อยเท่านั้นเอง

"มองว่า ม.44 คือ ปลายทางในการแก้ปัญหา ซึ่งการแก้ปัญหาระยะยาวควรจะแก้จากต้นทาง ที่หน่วยงานที่ออกกฎหมาย และการใช้ ม.44 มองว่า ภาครัฐไม่สามารถใช้พร่ำเพรื่อได้ จึงต้องมีการพิจารณาหลายอย่างก่อนประกาศใช้ ซึ่งโดยส่วนตัวมองว่า ทีวีดิจิตอลถ้าไม่ไหวจริง ๆ ก็ต้องหยุดเลือดไหล เช่น 1.ถ้าหากช่วง 10 ปี คุณยังถือใบอนุญาตอยู่ ก็ย่อมส่งผลเสีย เพราะไม่มีธุรกิจไหนที่สามารถขาดทุนได้นานขนาดนั้น ก็ต้องกลับมาพิจารณา 2.ถ้าปัจจุบันจ่ายไปแล้วเกินครึ่ง แล้วเงินที่เหลือจะเพียงพอไปทำกิจกรรมอย่างอื่นหรือ แต่อย่างไรก็ตาม ก็เข้าใจว่า สถานการณ์ของทีวีดิจิตอลทุกช่องมีปัญหาจริง ๆ ดังนั้น จึงต้องมีการคิดอย่างรอบคอบทั้ง 2 ฝ่าย"

อย่างไรก็ตาม มองว่า หลังจากข่าว ม.44 ออกมา ทีวีดิจิตอลจะต้องคำนึงถึงใน 3 ส่วนหลัก ได้แก่ 1.การปรับจูนแผนงานด้วยการกลับมาใช้แผนงานเดิมในการชำระค่างวด 2.วิเคราะห์มากขึ้นว่า ธุรกิจจะต้องทำอย่างไร สามารถไปต่อได้หรือไม่ และ 3.การรอ ม.44 ถือเป็นเพียงปลายทาง ส่วนสรุปแล้วการที่แต่ละช่องจะคืนใบอนุญาตหรือไม่ เป็นเรื่องที่แต่ละสถานีจะดำเนินงาน ซึ่งการคืนใบอนุญาตต้องอยู่บนพื้นฐานว่า ธุรกิจต้นทุนไปมากน้อยขนาดไหน แต่อย่างไรก็ตาม เรื่องของแรงงานและบุคลากรถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ต้องคำนึงถึง เช่นเดียวกับธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ในช่วงที่ผ่านมา ว่าจะทำอย่างไรถึงจะอยู่รอดในธุรกิจ

ด้าน นายชาคริต ดิเรกวัฒนชัย หัวหน้าคณะผู้บริหารสายกิจการองค์กร บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กรณีที่ คสช. ไม่ได้พิจารณามาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลนั้น ทางกลุ่มช่อง 3 พร้อมที่จะจ่ายค่าสัมปทานที่มีกำหนดจะถึงในเดือน พ.ค. นี้ แต่ยังคงมีความหวังว่า ก่อนที่จะถึงกำหนดเวลาดังกล่าว ทาง คสช. น่าจะมีมาตรการออกมาช่วยเหลือผู้ประกอบการด้วย แม้ว่าการช่วยเหลือดังกล่าวอาจจะไม่ได้เป็นสิ่งที่ช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการดำเนินธุรกิจได้ในระยะยาวก็ตาม ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีกว่าไม่มีมาตรการอะไรออกมาเลย เพราะสามารถลดค่าใช้จ่ายได้บ้าง

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผู้ประกอบการมีความต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือ คือ การเห็นจำนวนช่องทีวีดิจิตอลมีปริมาณที่เหมาะสม อาจจะมีจำนวนกว่า 10 ช่อง แต่ไม่น่าจะถึง 20 ช่อง ดังเช่นปัจจุบัน เนื่องจากเม็ดเงินโฆษณาที่มีอยู่นั้น ไม่เพียงพอต่อจำนวนช่องที่มีมาก ที่คาดการณ์ไว้ตั้งแต่ช่วงการประมูลทีวีดิจิตอลว่า จะมีเม็ดเงินหลายแสนล้านบาท แต่ปัจจุบัน อาจจะมีเม็ดเงินเท่าเดิม หรืออย่างดีก็เพิ่มขึ้น 5-10% ประกอบกับปัจจุบันผู้ประกอบการยังเผชิญกับปัญหาดิจิตอลดิสรัปชันด้วย ที่จำนวนผู้ชมหันไปรับชมคอนเทนต์ผ่านช่องทางออนไลน์ทางมือถือมากขึ้น

"ต้องขอบคุณภาครัฐ ที่ผ่านมามีมาตรการช่วยเหลือ แม้ว่าไม่ได้ทำให้ทีวีดิจิตอลเปลี่ยนแปลงไป แต่พอทาง คสช. ตีกลับมาตรการจะช่วยในเดือน พ.ค. นี้ ทางกลุ่มช่อง 3 ก็คงปฏิบัติตาม ซึ่งได้เตรียมเงินไว้แล้ว และอาจจะมีบางช่องที่อาจจะขอเยียวยา เพราะทุก ๆ ช่องก็เหนื่อย ทุกคนอยากเห็นทีวีดิจิตอลในจำนวนที่พอดีมากกว่า หลายคนก็บอกหลายตัวเลข 10 ต้น ๆ ไม่ถึง 20 แน่ ๆ ความหมาย คือ ในจำนวนที่อยู่ในระดับหนึ่งที่ทีวีดิจิตอลอยู่ได้ เพราะตลาดโฆษณาไม่ได้โตไปตามจำนวนช่องที่มีขนาดนั้น ขณะที่ สิ่งที่สำคัญ คือ เราอยู่ในช่วงดิจิตอลดิสรัปชัน คนเริ่มเปลี่ยนพฤติกรรมการดูคอนเทนต์ต่าง ๆ บนมือถือ เราโทษใครไม่ได้ มันเป็นช่วงนี้พอดี แต่อะไรที่ช่วยเหลือผู้ประกอบการถือว่าดีหมด"

สำหรับกรณีช่อง 13 แฟมิลี่ ของกลุ่มช่อง 3 นั้น จะคืนใบอนุญาตเหมือนกรณีที่ นางพันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย หรือ เจ๊ติ๋ม ทีวีพูล ที่ชนะคดีในศาลชั้นต้นหรือไม่นั้น นายชาคริต กล่าวว่า อาจจะเร็วไปสำหรับกรณีดังกล่าว เนื่องจากยังจะมีการอุทธรณ์คดีต่อภายในระยะเวลา 2 ปีนี้ ทำให้คดียังไม่ถึงที่สิ้นสุด ซึ่งทางผู้บริหารของกลุ่มช่อง 3 คงจะพิจารณาอีกครั้งว่า จะคืนหรือไม่คืนใบอนุญาต และต้องดูสถานการณ์ของช่วงเวลาดังกล่าวด้วย จึงอาจจะเร็วไป หากจะตัดสินใจว่า จะคืนหรือไม่คืนใบอนุญาต แม้ว่าปัจจุบัน อัตราโฆษณาผ่านช่อง 13 จะมีเข้ามาเพียง 20-30% ก็ตาม แต่ด้านการบริหารงานทางกลุ่มช่อง 3 จะมองในภาพรวมของธุรกิจทุกช่อง ในปัจจุบันจึงได้พยายามนำคอนเทนต์ด้านละครเข้าไปออกอากาศและบริหารต้นทุนด้านต่าง ๆ


GP-3354_180621_0009

……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,354 วันที่ 5-7 เม.ย. 2561 หน้า 36+35

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
กสทช.ผนึกอย.ตรวจเข้มโฆษณาอาหารเสริม-เครื่องสำอางผิดกม.ไม่พบทีวีดิจิตอลทำผิด
จับตาทีวีดิจิตอลแข่งดุทุ่มงบชิงเรตติ้งรับม.44


e-book-1-503x62