'บิ๊กอู๋' เคาะแล้ว 28 งาน 'ห้าม' ต่างด้าวทำเด็ดขาด! 11 งานทำได้ 'เท่าที่จำเป็น'

27 มิ.ย. 2561 | 12:25 น.
บอร์ดนโยบายบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวเห็นชอบ "ปลดล็อกงานกรรมกรให้คนต่างด้าวทำได้" โดยต้องเข้ามาอย่างถูกกฎหมาย - งานห้ามทำโดยมีเงื่อนไข 11 งาน และงานห้ามทำโดยเด็ดขาด 28 งาน เร่งชี้แจงทำความเข้าใจแก่ประชาชน ประเมินผล ก่อนลงนามในประกาศกระทรวงบังคับใช้เป็นกฎหมายในลำดับต่อไป

เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 2561 พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว เพื่อพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในประเด็นการกำหนดงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำตามมาตรา 7 แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ณ ห้องประชุมประสงค์รณะนันทน์ ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน กระทรวงแรงงาน โดยที่ประชุมเห็นชอบตามกรมการจัดหางาน ในฐานะฝ่ายเลขานุการเสนอประเด็นเกี่ยวกับ


IMG_2210

ก. งานที่ปลดล็อกให้คนต่างด้าวทำได้ 1 งาน ได้แก่ กรรมกร ซึ่งแรงงานต่างด้าวจะต้องเข้ามาอย่างถูกกฎหมาย

ข. งานห้ามทำโดยมีเงื่อนไข จำนวน 11 งาน โดยคนต่างด้าวต้องเป็นลูกจ้างเท่านั้น แบ่งเป็นงานที่ขาดแคลนแรงงานในปัจจุบัน มี 8 งาน และจะอนุญาตให้ทำได้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น โดยไม่กระทบต่อโอกาสการมีงานทำของคนไทย ได้แก่ 1) กสิกรรม เลี้ยงสัตว์ งานป่าไม้ หรือ ประมง ยกเว้นงานที่ใช้ความชำนาญงานเฉพาะสาขา ควบคุมดูแลฟาร์ม , 2) ก่ออิฐ ช่างไม้ หรือ ก่อสร้างอื่น , 3) ทำที่นอน หรือ ผ้าห่มนวม , 4) ทำมีด , 5) ทำรองเท้า , 6) ทำหมวก , 7) ประดิษฐ์เครื่องแต่งกาย , 8) ปั้น หรือ ทำเครื่องปั้นดินเผา

และงานที่ประเทศไทยต้องปฏิบัติตามข้อตกลงระหว่างประเทศ ซึ่งคนต่างด้าวต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพตามกฎหมายไทย ก่อนขอรับใบอนุญาตทำงาน มี 3 งาน ได้แก่ 1) ควบคุม ตรวจสอบ ปฏิบัติงาน หรือ ให้บริการทางบัญชี ยกเว้นตรวจสอบภายในเป็นครั้งคราว งานตามข้อตกลง หรือ พันธกรณีที่ประเทศไทยมีความผูกพัน โดยที่สภาวิชาชีพบัญชีเป็นผู้ให้การรับรองคุณสมบัติ , 2) งานในวิชาชีพวิศวกรรม สาขาวิศวกรรมโยธา ที่เกี่ยวกับงานออกแบบและคำนวณ จัดระบบวิจัย วางโครงการทดสอบ ควบคุมการก่อสร้าง หรือ ให้คำแนะนำ ยกเว้นผู้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมและวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม ตามข้อตกลงยอมรับร่วมคุณสมบัตินักวิชาชีพของอาเซียยน (MRAs) รวมทั้งข้อตกลงระหว่างประเทศอื่นที่เกี่ยวกับการให้บริการวิศวกรรมข้ามแดน หรือ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม สาขาวิศวกรรมโยธา ตามกฎหมายว่าด้วยวิศวกร , 3) งานในวิชาชีพสถาปัตยกรรมที่เกี่ยวกับงานออกแบบ เขียนแบบ ประมาณราคา อำนวยการก่อสร้าง หรือ ให้คำแนะนำ ยกเว้นผู้ประกอบวิชาชีพตามข้อตกลงยอมรับร่วมคุณสมบัตินักวิชาชีพของอาเซียน (MRAs)


IMG_2211

ค. งานที่ห้ามคนต่างด้าวทำโดยเด็ดขาด มี 28 งาน แบ่งเป็นงานที่แสดงถึงอัตลักษณ์ไทยและส่งเสริมการสืบทอดภูมิปัญญาไทย จำนวน 16 งาน ได้แก่ 1) แกะสลักไม้ , 2) ทอผ้าด้วยมือ , 3) ทอเสื่อ หรือ งานทำเครื่องไม้ด้วยกก หวาย ปอฟาง หรือ เยื่อไม้ , 4) ทำกระดาษสาด้วยมือ , 5) ทำเครื่องเขิน , 6) ทำเครื่องดนตรีไทย , 7) ทำเครื่องถม , 8) ทำเครื่องทอง เครื่องเงิน หรือ เครื่องนาก , 9) ทำเครื่องลงหิน , 10) ทำตุ๊กตาไทย , 11) ทำบาตร , 12) ทำผลิตภัณฑ์จากผ้าไหมด้วยมือ , 13) ทำพระพุทธรูป , 14) ทำร่มกระดาษ หรือ ผ้า , 15) เรียงตัวพิมพ์อักษรไทยด้วยมือ , 16) สาว หรือ บิดเกลียวไหมด้วยมือ

และงานที่คำนึงถึงโอกาสในการประกอบอาชีพของคนไทย จำนวน 11 งาน ได้แก่ 1) ขับขี่ยานยนต์ในประเทศ หรือ ขับขี่ยานพาหนะที่ไม่ใช้เครื่องจักร หรือ เครื่องกลในประเทศ ยกเว้นขับขี่เครื่องบินระหว่างประเทศ , 2) ขายของหน้าร้าน , 3) ขายทอดตลาด , 4) เจียระไน หรือ ขัดเพชรหรือพลอย , 5) ตัดผม ดัดผม หรือ งานเสริมสวย , 6) นายหน้า หรือ งานตัวแทน ยกเว้นงานนายหน้า หรือ งานตัวแทนในธุรกิจการค้า หรือ การลงทุนระหว่างประเทศ , 7) มวนบุหรี่ด้วยมือ , 8) มัคคุเทศก์ หรือ งานจัดนำเที่ยว , 9) เร่ขายสินค้า , 10) เสมียนพนักงาน หรือ เลขานุการ และ 11) ให้บริการทางกฎหมาย หรือ อรรถคดี ยกเว้นงานปฏิบัติหน้าที่อนุญาโต หรือ งานให้ความช่วยเหลือ หรือ ทำการแทนในการดำเนินกระบวนการพิจารณาชั้นอนุญาโตตุลาการ ในกรณีที่กฎหมายซึ่งใช้บังคับแก่ข้อพิพาท โดยอนุญาโตตุลาการนั้นมิใช่กฎหมายไทย และงานที่แสดงถึงอัตลักษณ์ไทยฯ และคำนึงถึงโอกาสในการประกอบอาชีพของคนไทย 1 งาน ได้แก่ นวดไทย เป็นต้น

ส่วนงานขายของหน้าร้าน คนต่างด้าวสามารถทำได้ แต่ต้องมีนายจ้างเจ้าของร้าน ซึ่งเป็นคนไทย คอยกำกับดูแล และพนักงานขับรถในสถานประกอบการ คนต่างด้าวสามารถทำได้ แต่ต้องมีใบอนุญาตขับขี่

ทั้งนี้ การกำหนดอาชีพสงวน กระทรวงแรงงานจะพิจารณาให้คนไทยมีงานทำ โดยไม่กระทบต่อโอกาสในการประกอบอาชีพของคนไทย การส่งเสริมภูมิปัญญาและเอกลักษณ์ไทย ความต้องการแรงงานเท่าที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ ความผูกพัน หรือ พันธกรณีระหว่างประเทศ และความมั่นคงของชาติเป็นสำคัญ

ทั้งนี้ รมว.แรงงาน ได้มอบหมายให้กรมการจัดหางานเพิ่มเติมรายละเอียดคำนิยามของลักษณะงานแต่ละประเภท ตามที่คณะกรรมการฯ เสนอในที่ประชุม และแจ้งเวียนให้คณะกรรมการรับทราบ ก่อนเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานลงนามในประกาศกระทรวงแรงงาน เพื่อเป็นกฎหมายให้มีผลบังคับใช้ได้ในเดือน ก.ค. นี้ ซึ่งในช่วงเปลี่ยนผ่านภายใน 1-2 เดือน กระทรวงแรงงานจะเน้นสร้างการรับรู้ เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจและแจ้งเตือนให้ประชาชนรับทราบถึงแนวทางการปฏิบัติในการจ้างคนต่างด้าวทำงานที่ถูกต้อง และจะประเมินผลเป็นระยะก่อนดำเนินการทางกฎหมายในลำดับต่อไป


……………….
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
รัฐบาลเตือน! แรงงานต่างด้าวเร่งพิสูจน์สัญชาติ-ขออนุญาตทำงาน ภายใน 30 มิ.ย. นี้
สภาวิศวกรยืนยันจุดยืนไม่ควรเปิดเสรีต่างด้าวทำอาชีพโยธา


e-book-1-503x62