KLSกางแผน3ปี ตั้งเป้าTop5 ตลาดรถสปป.ลาว

30 มิ.ย. 2561 | 02:51 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

กรุงศรี ออโต้ ผู้นำธุรกิจสินเชื่อยานยนต์ครบวงจร เครือธนาคารกรุง ศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ประกาศเดินหน้าลุยธุรกิจสินเชื่อรถยนต์ใหม่ และสินเชื่อเช่าซื้อรายย่อย ในสปป.ลาวเต็มสูบ ภายใต้ บริษัท กรุงศรี บริการเช่าสินเชื่อ จำกัด หรือ “กรุงศรี ลีสซิ่ง” (KLS) หลังกรุงศรี กรุ๊ปได้ซื้อพอร์ตทั้งหมดจากบริษัทร่วมลงทุนเมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ส่งผลให้กรุงศรี กรุ๊ป ถือหุ้น 100% แบ่งเป็นการลงทุนของกรุงศรี ออโต้ 75% และกรุงศรี คอนซูมเมอร์ 25%  และขยายผลิตภัณฑ์สินเชื่อรถยนต์มือสอง เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมาด้วย

พร้อมประกาศเดินหน้าแผนระยะกลาง 3 ปี นับตั้งแต่ปี 2561-2563 ภายใต้พอร์ตสินเชื่อคงค้าง ณ ปี 2563 จะอยู่ที่ 9,990 ล้านบาท คิดเป็นการเติบโตเฉลี่ย 31% ต่อปี และยอดสินเชื่อปล่อยใหม่อยู่ที่ 5,000 ล้านบาท คิดเป็นการเติบโตเฉลี่ย 27% ต่อปี โดยที่ในปี 2561 จะมีอัตราการเติบโตของกำไรอยู่ที่ 50% จากปี 2560 มีกำไรอยู่ที่ 107 ล้านบาท และมีมาร์เก็ตแชร์ อยู่ใน 5 อันดับแรกของตลาด

[caption id="attachment_291461" align="alignright" width="335"] ไพโรจน์ ชื่นครุฑ ไพโรจน์ ชื่นครุฑ[/caption]

นายไพโรจน์ ชื่นครุฑ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านธุรกิจสินเชื่อยานยนต์ ธนาคาร กรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY เปิดเผยว่า บริษัทเข้ามาทำธุรกิจในนครเวียงจันทน์แล้ว 3 ปีนับตั้งแต่วันที่ 10 ธันวาคม 2557 ภายใต้การลงทุนระหว่างกรุงศรี กรุ๊ปและบริษัท ยูนิตี้ แคปปิตอล จำกัดและขยายสาขาไปที่เมืองปากเซ แขวงจำปาสัก เมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว ซึ่งพบว่า ตลาดสินเชื่อรถยนต์ในสปป.ลาวมีอัตราเติบโตต่อเนื่อง และพฤติกรรมเข้าถึงสินเชื่อง่ายขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากแนวโน้มเศรษฐกิจที่ขยายตัวค่อนข้างสูงกว่าประเทศอื่นในกลุ่ม CLMV เฉลี่ยที่ 7% และสูงกว่ากลุ่มประเทศ AEC ที่เติบโตเพียง 4% และการลงทุนโดยตรง(FDI) จากต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนทั้ง จีน ญี่ปุ่น และเกาหลี รวมถึงรายได้ประชาชาติต่อหัวในกลุ่ม CLMV เฉลี่ยที่ 8 หมื่นบาทต่อคนต่อปี เทียบกับอาเซียนที่ 1.36 แสนบาทต่อคนต่อปี หรือเฉลี่ยอยู่ที่ 5.8%

ทั้งนี้ หากดูตัวเลขยอดขายรถยนต์ใน สปป.ลาว พบว่า ปี 2560 มียอดขายกว่า 2.2 หมื่นคัน แบ่งเป็นยอดขายจาก KoLao ซึ่งเป็นบริษัทร่วมลงทุนของคนลาวและเกาหลีจัดจำหน่ายรถยนต์ กินส่วนแบ่งตลาดกว่า 50% และกลุ่ม Toyota 40% และแบรนด์อื่นๆ อีก 10% และถ้าดูยอดขายรถยนต์กระจายตัวในแขวงเศรษฐกิจสำคัญ แบ่งเป็น เวียงจันทน์ 48% สะหวันนะเขต 15% และจำปาสัก 10% โดยในเวียงจันทน์มีตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ 25 สาขา และนอกเวียงจันทน์ผ่าน Sub-Dealer เป็นส่วนใหญ่ โดยรถกระบะได้รับความนิยมสูงสุด ขณะที่สินเชื่อยานยนต์ปี 2560 อยู่ที่ 1 หมื่นล้านบาท จากประชากร 7 ล้านคน

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6

ขณะที่การแข่งขันในสปป.ลาว จะมีผู้ให้บริการเช่าซื้อที่เป็น Captive finance และ Local Bank เป็นส่วนมาก โดยการแข่งขันจะเน้นเรื่องความสะดวกและการบริการ แต่ความน่าเชื่อถือ ก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะหากเป็นท้องถิ่นมากๆ ลูกค้าจะกังวลเรื่องการคิดอัตราดอกเบี้ยและรถยนต์จะได้จริงหรือไม่ ซึ่งโดยเฉลี่ยอัตราดอกเบี้ย แม้ว่าจะไม่แตกต่างจากไทยมากนัก เพราะจะคิดอัตราคงที่(Flat Rate)ที่ 8% แต่หากดูต้นทุนเงินฝาก หรือ Cost of Fund เฉลี่ยที่ 5% จะเหลือส่วนต่างประมาณ 3% แบ่งเป็น ต้นทุนบริหารจัดการ 1%  ต้นทุนหนี้สงสัยจะสูญ (Loss) อีก 1% จะเหลือผลตอบแทนเพียง 1% เท่านั้น

“แม้ว่าตลาดสินเชื่อยานยนต์ในสปป.ลาว จะค่อนข้างเล็ก แต่ยังเติบโตได้อีกมาก เพราะยังมีอีกหลายพื้นที่ที่สินเชื่อจะเข้าไปให้บริการได้อีก เพราะตลาดรถยนต์จะเติบโตตามเศรษฐกิจ ซึ่งสปป.ลาวกำลังลงทุนโครงสร้างพื้นฐานหลายอย่างจากนักลงทุนต่างประเทศ ซึ่งเป็นอานิสงส์ต่อความต้องการใช้รถยนต์ ทำให้ตลาดรถยนต์เติบโต”

หน้า 24 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่38| ฉบับ 3,376 ระหว่างวันที่ 21-23 มิ.ย.61

e-book-1-503x62-7