จี้กนง.ส่งสัญญาณชัด ชี้จังหวะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายปลายปีหน้า

11 ก.ค. 2561 | 11:23 น.
ตลาดเงินประเมิน มติกนง. 6 ต่อ 1 เสียง “ยืนอาร์/พี”ที่ 1.5% เหตุเศรษฐกิจเพิ่งฟื้นตัว รอการกระจายตัวลงฐานราก แนะส่งสัญญาณชัด ให้นักลงทุนเตรียมรับมือ ด้านกรุงไทยชู 4 ปัจจัยหนุนขึ้นดอกเบี้ยปีหน้า“ชะลอเก็งกำไรอสังหาฯ-เพิ่มแรงจูงใจการออม-เศรษฐกิจดี-เงินเฟ้อขยับ”

ตลาดเงินตลาดทุนในประเทศ กำลังได้รับแรงกดดันจากปัจจัยลบรอบด้านจากต่างประเทศ ทั้งการประกาศสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนที่จะเป็นเต็มรูปแบบมากขึ้น เพราะจะเริ่มมีผลพร้อมกันวันที่ 6 กรกฎาคมนี้ หลังจากที่ก่อนหน้านั้นเป็นเพียงการตอบโต้กันไปมา และแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางแต่ละประเทศ ที่จะส่งผลต่อเงินทุนเคลื่อนย้ายและแนวโน้ม

MP24-3376-A

การอ่อนค่าของสกุลเงิน

โดยเฉพาะในการประชุมล่าสุด ที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟดส่งสัญญาณการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งที่ 4 ชัดเจนมากขึ้น และธนาคารกลางยุโรป หรือ อีซีบี ประกาศหยุดมาตรการคิวอีปีนี้ และเตรียมจะขึ้นดอกเบี้ยในปีหน้า ส่งผลให้เงินทุนเคลื่อนย้ายออกจากภูมิภาคเอเชีย ทำให้สกุลเงินในภูมิภาคอ่อนค่าลงรวมทั้งเงินบาทไทย

ขณะที่ธนาคารกลางของไทยอย่าง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นั้น จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) เพื่อพิจารณาอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (อาร์/พี) ในวันที่ 20 มิถุนายนเช่นกัน ซึ่งนักวิเคราะห์ตลาดเงินส่วนใหญ่ แม้จะมองตรงกันว่า กนง.จะยังคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิม แต่ก็ต้องการให้กนง.ส่งสัญญาณรับทิศดอกเบี้ยนโยบายขาขึ้น เพราะตลาดรอความชัดเจนจากธปท.

[caption id="attachment_297148" align="aligncenter" width="357"] เชาว์ เก่งชน เชาว์ เก่งชน[/caption]

นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัทศูนย์วิจัย กสิกรไทยฯ เปิดเผยกับ“ฐานเศรษฐกิจ”ว่า เชื่อว่ากรรมการกนง.ส่วนใหญ่มีมติคงอัตราดอกเบี้ยอาร์/พี แต่จะส่งสัญญาณให้ตลาดรับรู้ว่า จะปรับขึ้นดอกเบี้ยไม่ว่าปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า เพราะเหลือเวลาไม่มากแล้วที่เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก หลังจากที่เฟดส่งสัญญาณล่าสุดว่า จะขึ้นดอกเบี้ย 4 ครั้ง ซึ่งมากกว่าที่ตลาดคาดกันไว้ ดังนั้นคณะกรรมการกนง.จะต้องตีโจทย์ว่า จะสื่อสารกับตลาดอย่างไร

โดยส่วนตัวยอมรับว่ารอบนี้กนง.มีโจทย์ยาก หากพูดเร็วหรือช้าไปว่าจะขึ้นหรือไม่ขึ้น เพราะถ้าเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ย 4 ครั้ง กนง.จะยืนดอกเบี้ยที่อัตราเดิมได้ยาก โดยเฉพาะนักลงทุนจะมีคำถามซึ่งกนง.ต้องให้ความชัดเจนกับตลาดเงินตลาดทุน เพราะแม้เศรษฐกิจไทยจะเล็ก แต่ต้องโยงกับเศรษฐกิจโลกด้วย

“การประชุมรอบนี้ กนง.ยังยืนดอกเบี้ยอาร์/พี เพราะเศรษฐกิจไทยเพิ่งฟื้น แต่ยังเปราะบางแต่กนง.ต้องมีคำอธิบายให้นักลงทุนเห็นอนาคตหรือมีคำตอบว่า จะขึ้นดอกเบี้ยอย่างไรที่จะสร้างความเชื่อมั่นสำหรับวันข้างหน้า เพื่อให้นักลงทุนได้เตรียมรับสถานการณ์”

ด้านแนวโน้มเงินทุนไหลออกนั้น นายเชาว์ระบุว่า สถาน การณ์เงินทุนไหลออกยังมีต่อเนื่อง โดยยอดพันธบัตรในมือนักลงทุนต่างชาติคงค้าง 869,728 ล้านบาท ณ วันที่ 18 มิถุนายน 2561 จากสิ้นปี 2560 มียอดคงค้าง 851,839 ล้านบาท และเชื่อว่า ธปท.จะไม่มีมาตรการดูแลเงินไหลออกเพราะเมื่อเฟดประกาศจะปรับขึ้นดอกเบี้ยถึง 4 ครั้งและจับตาทิศทางราคานํ้ามันโลก

[caption id="attachment_297149" align="aligncenter" width="335"] อมรเทพ จาวะลา อมรเทพ จาวะลา[/caption]

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทยกล่าวว่า รอบนี้จะเห็นกนง.พยายามส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ย โดยมติจะออกมา 6 ต่อ 1 เสียง ให้คงดอกเบี้ย ส่วนอีก 1 เสียงสนับสนุนการปรับขึ้น ซึ่ง 3 เหตุผลที่สนับสนุนไม่เร่งขึ้นดอกเบี้ยคือ 1.รอดูการกระจายตัวของเศรษฐกิจไทย แม้ตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาสแรกจะเร่งตัวขึ้น แต่ยังสะท้อนการฟื้นตัวในระดับบน 2.เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นจากราคานํ้ามัน ซึ่งเป็นการขยับชั่วคราว ไม่ได้เพิ่มจากราคาสินค้าที่มีความต้องการบริโภคและไม่สะท้อนรายได้ที่เพิ่มขึ้น

และ 3.ค่าเงินบาทอ่อนจากแนวโน้มเงินไหลออก หลังเฟดขึ้นดอกเบี้ย คาดว่า ธปท.ปล่อยให้เงินบาทอ่อนค่าไปพอควรเพื่อสนับสนุนราคาสินค้าเกษตรและเศรษฐกิจไทยได้ฟื้นตัว

[caption id="attachment_297152" align="aligncenter" width="416"] จิติพล พฤกษาเมธานันท์ จิติพล พฤกษาเมธานันท์[/caption]

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทยกล่าวว่ากนง.จะมีมติ 6 ต่อ 1 เสียงคงดอกเบี้ย แต่จะส่งสัญญาณปรับขึ้นดอกเบี้ยระยะข้างหน้า ซึ่งส่วนตัวมองว่า กระทรวงการคลังกับธปท.จะคุยกันให้ชัดก่อนจะขึ้นดอกเบี้ยในอนาคต เพราะจะส่งต่อให้ดอกเบี้ยในระบบปรับตาม โดยธนาคารพาณิชย์จะปรับขึ้นดอกเบี้ย MLR ประมาณ 0.10-0.15% ขึ้นกับว่าตลาดจะแข่งขันสูงหรือไม่

“ปลายปีหน้า ช่วงนั้นเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น เงินเฟ้อขยับ การเก็งกำไรอสังหาริมทรัพย์ชะลอลงและเพิ่มแรงจูงใจในการออม จะเป็นจังหวะขึ้นดอกเบี้ยและมีความต่อเนื่องได้ เพราะมีเป้าหมาย เพื่อให้ผู้บริโภคและภาคธุรกิจปรับตัว ประกอบกับแนวโน้มธนาคารกลางแต่ละประเทศทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย แต่ตอนนี้เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว จึงไม่ใช่จังหวะที่กนง.จะปรับดอกเบี้ย”

e-book-1-503x62-7

.........................................................................................

หน้า 24 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3,376 ระหว่างวันที่ 21-23 มิ.ย.61