‘สนธิรัตน์’จี้หาข้อสรุป ตลาดกลางข้าวยังเป็นวุ้น

25 มิ.ย. 2561 | 07:30 น.
ตลาดกลางข้าวสารผ่านมาเกือบ 1 ปียังไร้ข้อสรุป “สนธิรัตน์”รับยังไม่ได้รับรายงานจากคน.จี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งหาข้อสรุปหลังเอกชนฟ้องศาลค้านชนะประมูล 2 ราย

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงานจากกรมการค้าภายในในเรื่องโครงการจัดตั้งตลาดกลางข้าวสารแห่งแรกของไทยที่ประกาศรับสมัครตั้งแต่วันที่ 12 กรกฎาคม 2560 ที่มีเอกชนชนะการประมูลแล้ว 2 ราย คือบริษัท ไทย แอ็กโกร เอ็กซเชนจ์ จำกัด หรือตลาดไท และบริษัท TCC Land Asset World หรือ ตลาดต่อยอด นั้น น่าจะอยู่ในขั้นตอนของการดำเนินงานแต่ทั้งนี้จะเร่งรัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรีบดำเนินการสรุป เพราะมีความล่าช้าไปมาก

[caption id="attachment_291428" align="aligncenter" width="503"] สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์[/caption]

ด้านแหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการเนื่องจากมีเอกชนที่ชนะการประมูลไปยื่นขอให้ศาลปกครองคุ้มครอง  เพื่อขอระงับผลพิจารณาการประมูลดังกล่าวจากมีผู้ชนะประมูล 2 ราย ซึ่งในส่วนของกรมการค้าภายในที่รับผิดชอบต้องรอผลการตัดสินของศาลปกครองว่าจะออกมาในทิศทางใด  ซึ่งกระบวนการต่างๆ ต้องชะลอออกไปก่อนจนกว่าศาลจะมีคำสั่งออกมา

ทั้งนี้โครงการจัดตั้งตลาดกลางข้าวสารแห่งแรกของไทยนั้น มีความล่าช้ามาเกือบ 1 ปีเพราะเดิมกระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าลงนามในสัญญาในเดือนธันวาคม 2560 และสามารถเปิดให้บริการได้ภายในต้นปี 2561 แต่จนถึงปัจจุบันตลาดกลางข้าวสารยังไม่สามารถเปิดได้ ทั้งนี้โครงการดังกล่าวเป็นนโยบายของนางอภิรดี ตันตราภรณ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ มีแนวคิดต้องการให้ไทยมีศูนย์กลางการค้าข้าวสาร เพื่อกระจายไปยังผู้ผลิตและผู้ส่งออก แต่กลับต้องสะดุดเนื่องจากมีเอกชนรายหนึ่งทำหนังสืออุทธรณ์คำสั่งถึง นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน เพื่อขอให้ชี้แจงผลการคัดเลือกสถานที่ของภาคเอกชนในการจัดตั้งตลาดกลางข้าวสาร  เพราะมองว่าควรมีตลาดกลางข้าวสารเพียงแห่งเดียวเพื่อไม่ให้เกิดการแย่งลูกค้า ข้าว

สำหรับโครงการส่งเสริมการจัดตั้ง   ตลาดกลางข้าวสารสู่มาตรฐานสากลแห่งแรกของประเทศไทยมีเป้าหมายจะจัดตั้งตลาดกลางข้าวสารในประเทศไทยเพื่อเป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนข้อมูล และเป็นการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายข้าวสารจากระบบปกติ ซึ่งจะเป็นรูปแบบตลาดจริงและออนไลน์ พร้อมทั้งจัดพื้นที่ดำเนินการจำหน่ายสินค้าไม่น้อย กว่า 1,000 ตารางเมตร และต้องจัดหาบริการและสิ่งอำนวยความสะดวก และบริหารจัดการตามมาตรฐานสากล โดยที่เอกชน จะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดในขณะที่กรมการค้าภายใน  จะสนับสนุนในการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและส่งเสริมการตลาดเท่านั้น

หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับ 3,376 วันที่ 21-23 มิถุนายน 2561 e-book-1-503x62