บัตรเกษตรสุขใจพลาดเป้า- ธ.ก.ส.สั่งสาขาทั่วประเทศเร่งประชาสัมพันธ์

11 ก.ค. 2561 | 09:57 น.
สมาคมชาวนาฯ อัดโครงการ “บัตรเกษตรสุขใจ” สินเชื่อ 9.3 หมื่นล้านของรัฐบาล คิกออฟมา 1 เดือนยังอืด เกษตรกรเข้าไม่ถึง ชี้อ่อนพีอาร์ แถมถูกหักหนี้เก่า ธ.ก.ส. ออกโรงปฏิเสธ ล่าสุดลุยออกบัตรซื้อปัจจัยการผลิต แจกเกษตรกรแค่ 9 แสนราย วงเงิน 1.17 หมื่นล้าน จากเป้า 9.3 หมื่นล้าน

TP8-3376-1 จากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.)เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2561 ได้เห็นชอบมาตรการ “เกษตรประชารัฐ” โดยการให้สินเชื่อของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 2 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการสินเชื่อเกษตรกรรายย่อย 3 ล้านราย วงเงินสินเชื่อรายละไม่เกิน 3 หมื่นบาท ดอกเบี้ย 4% ต่อปี วงเงิน 9 หมื่นล้านบาทและ 2.โครงการสนับสนุนการผลิตหรือจัดหาปุ๋ยสั่งตัดผ่านสถาบันเกษตรกร เป้าหมาย 500 แห่งทั่วประเทศ (สหกรณ์การ เกษตร/กลุ่มเกษตร 300 แห่ง/ วิสาหกิจชุมชน 200 แห่ง) เงินกู้แห่งละไม่เกิน 10 ล้านบาท วงเงินสินเชื่อ 3,600 ล้านบาท

รวม 2 โครงการ วงเงินสินเชื่อ 9.36 หมื่นล้านบาท ใช้จ่ายผ่าน “บัตรเกษตรสุขใจ” เพื่อนำไปซื้อปัจจัยการผลิตแทนการใช้เงินสด กับร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการกว่า 1.7 หมื่นร้านค้าทั่วประเทศ ซี่งนายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดโครงการขับเคลื่อนมาตรการเกษตรประชารัฐ ไปแล้วเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมานั้น

[caption id="attachment_297109" align="aligncenter" width="503"] สุเทพ คงมาก สุเทพ คงมาก[/caption]

นายสุเทพ คงมาก นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า โครงการของรัฐบาลที่ออกมาเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรนั้นดีมาก แต่ปรากฏชาวนาเข้าไม่ถึงโครงการ เพราะพอมีโครงการใหม่มา เจ้าหน้าที่ ธ.ก.ส. แต่ละจังหวัดจะทำหน้าที่ทวงหนี้ นำวงเงินใหม่มาหักหนี้เก่า ซึ่งวันที่ 18 มิถุนายน ได้สุ่มสอบถามไปยัง ธ.ก.ส.สาขาจังหวัดภาคใต้ทั้งหมดกลับยังไม่ทราบถึงโครงการนี้เลย ทำให้ชาวนาไม่ได้ใช้ประโยชน์ เนื่องจากอ่อนประชาสัมพันธ์

ขณะที่นายนพดล ศรีสรรค์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดดิจิตอล ธ.ก.ส. กล่าวยืนยันว่า การดำเนินการจ่ายบัตรครั้งนี้จะไม่มีการหักหนี้เก่า เพราะต้องการให้เกษตรกรจ่ายบัตรซื้อปัจจัยการผลิตจริง วงเงินในบัตรเกษตรกร 3 หมื่นบาทต่อราย จะใช้ซื้อร้านค้าปัจจัยการผลิตเท่านั้น เงินในบัตรจะไม่สามารถแลกเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ เรื่องนี้ได้ขอความร่วมมือร้านค้าที่เข้าร่วมปฏิบัติอย่างเคร่งครัด

“ธ.ก.ส. ได้ออกบัตรให้เกษตรกรไปแล้ว ณ วันที่ 18 มิถุนายน 2561 จำนวน 9 แสนราย วงเงินกว่า 1.17 หมื่นล้านบาท จังหวัดที่ได้รับบัตรเกษตรสุขใจสูงสุดคือนครราชสีมา จำนวน 4.65 หมื่นราย รองลงมาคืออุบลราชธานี 3.59 หมื่นราย (ดูกราฟิกประกอบ) โดยพิจารณาข้อมูลจากลูกค้าชั้นดี ทั้งหมด 1.9 ล้านราย จากบัตรเครดิตสินเชื่อเกษตรกร ซึ่งจะทยอยออกบัตรจนครบ 3 ล้านราย คาดบัตรนี้จะใช้แทนบัตรสินเชื่อเกษตรกร ที่สัญญาจะสิ้นสุดเดือนกันยายน 2561 นี้”

นายนพดล กล่าวว่า นอกจากนี้ทางส่วนกลางจะเร่งประชาสัมพันธ์ให้ ธ.ก.ส. สาขาทั้ง 77 จังหวัด เพื่อให้เกษตรกรลูกค้าใหม่ได้เข้ามาร่วมโครงการนี้ด้วย เนื่องจากดอกเบี้ย 4% ต่อปีตํ่ามาก และบัตรนี้นำไปใช้จ่ายซื้อปัจจัยการผลิต ปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช เมล็ดพันธุ์ นํ้ามันเชื้อเพลิง เครื่องจักรกลหรือเครื่องมือการเกษตรขนาดเล็ก และปัจจัยอื่นๆ ที่จำเป็น เช่น ข้าวสาร และอื่นๆ ที่เข้าร่วมโครงการบัตรสินเชื่อเกษตรกรของ ธ.ก.ส.กว่า 1.7 หมื่นร้านค้าทั่วประเทศ ทั้งร้านค้าปัจจัยการผลิตของสหกรณ์การเกษตร ร้านจำหน่ายปัจจัยการผลิตคุณภาพประชารัฐ ร้าน คิว-ช็อป ที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมวิชาการเกษตร จากนั้นร้านค้าจะใช้แอพพลิเคชัน ธ.ก.ส. A-Shop ในการอ่านคิวอาร์โค้ดเพื่อหักวงเงินจากบัตรไป ทั้งนี้ เกษตรกรที่สนใจสามารถสมัครได้ที่ สาขา ธ.ก.ส.ทั่วประเทศ

ด้านนายเปล่งศักดิ์ ประกาศเภสัช นายกสมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย เผยว่า โครงการนี้มีสมาชิกผู้ประกอบการของสมาคมเข้าร่วม 11 ราย โดย 2 บริษัท (บจก.เจียไต๋ “กระต่าย” และ บมจ.ไทยเซ็นทรัลเคมี “หัววัว-คันไถ”) จำกัดปริมาณขาย 4.5 แสนตัน ส่วน 9 บริษัทไม่จำกัดปริมาณ โดยจะลดราคาปุ๋ยนาสูตรต่างๆ กระสอบละ 5-10 บาทจากราคาปกติ ประเมินเบื้องต้นเมื่อสิ้นสุดโครงการคาดจะช่วยลดต้นทุนเกษตรกรได้กว่า 183 ล้านบาท

หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,376 วันที่ 21-23 มิถุนายน 2561