ภัยไซเบอร์ทำเศรษฐกิจพัง "ไมโครซอฟท์-ฟรอสต์ฯ" เปิดตัวเลขผลกระทบ 2.86 แสนล้าน

09 ก.ค. 2561 | 06:41 น.
ไมโครซอฟท์ เผยงานวิจัยผลกระทบภัยไซเบอร์สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจมูลค่า 2.86 แสนล้านบาท หรือเท่ากับ 2.2% ของจีดีพีประเทศ องค์กรหวั่นทำแผนการปฏิรูปธุรกิจด้วยดิจิตอลช้าลง เร่งเสริมเทคโนโลยี AI ระบบรักษาความปลอดภัย

รายงานวิจัยของ ฟรอสต์ แอนด์ ซัลลิแวน ภายใต้ความร่วมมือกับไมโครซอฟท์ ภายใต้หัวข้อ “ภาพรวมภัยคุกคาม ทางไซเบอร์ในเอเชียแปซิฟิก : การปกป้ององค์กรในโลกยุคดิจิตอล” เพื่อให้ข้อมูลเชิงลึกกับผู้มีอำนาจตัดสินใจด้านธุรกิจและไอทีขององค์กร เกี่ยวกับมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจที่เกิดจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ทั่วภูมิภาค และชี้ให้เห็นช่องโหว่ในกลยุทธ์เชิงความปลอดภัยด้านไซเบอร์ขององค์กร
App43853175_s โดยรายงานวิจัยพบว่าความเสียหายทางเศรษฐกิจในประเทศไทยที่เป็นผลกระทบมาจากความปลอดภัยทางไซเบอร์สามารถส่งผลถึง 2.86 แสนล้านบาท หรือเท่ากับ 2.2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ ซึ่งคิดเป็นมูลค่า 14,360 ล้านล้านบาท

โดย 3 ใน 5 ขององค์กรในประเทศไทยเคยได้รับผลกระทบจากการโจมตีทางไซเบอร์ หรือไม่แน่ใจว่าเคยถูกโจมตีหรือไม่ เพราะยังขาดกระบวนการตรวจสอบหรือวิเคราะห์การคุกคามระบบอย่างเหมาะสม คิดเป็นสัดส่วน 47%  รายงานวิจัยดังกล่าวยังพบว่าองค์กรขนาดใหญ่ในประเทศไทยอาจประสบความเสียหายทางเศรษฐกิจเป็นมูลค่าสูงถึง 408 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าความเสียหายขององค์กรธุรกิจขนาดกลางถึง 450 เท่า (ราว 900,000 บาท) และใน 12 เดือนที่ผ่านมา ราว 3 ใน 5 ขององค์กรทั้งหมดต้องมีการปลดพนักงานออกในหลายตำแหน่งเนื่องจากผลกระทบของภัยคุกคามทางไซเบอร์

MSFT_security_th_lang-150618 นายณัฐชัย จารุศิลาวงศ์ ที่ปรึกษา และฝ่ายปฏิบัติการโมบิลิตีบริษัท ฟรอสต์ แอนด์ ซัลลิแวน (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่าการจู่โจมทางไซเบอร์สามารถก่อความเสียหายอีกมากมายที่อาจมองไม่เห็นในทันที ทั้งในทางอ้อมและในวงกว้าง จึงทำให้โดยทั่วไปแล้ว มูลค่าความเสียหายที่แท้จริงของภัยร้ายเหล่านี้มักถูกประเมินไว้ตํ่ากว่าความเป็นจริงอยู่เสมอ”

“ผลกระทบของภัยคุกคามทางไซเบอร์นั้น เปรียบได้กับภูเขานํ้าแข็ง โดยผลกระทบทางตรงจะเป็นส่วนที่เห็นได้ชัดมากที่สุด แต่ส่วนนี้กลับเปรียบเสมือนยอดเล็กๆ ของภูเขา ที่ยังมีส่วนที่มองไม่เห็นจมอยู่ใต้นํ้าอีกมาก”

[caption id="attachment_296391" align="aligncenter" width="503"] ณัฐชัย จารุศิลาวงศ์ ณัฐชัย จารุศิลาวงศ์[/caption]

นอกจากความสูญเสียด้านการเงินแล้ว ภัยคุกคามทางไซเบอร์ยังทำลาย ความสามารถขององค์กรไทยในการคว้าโอกาสทางธุรกิจในยุคแห่งเศรษฐกิจดิจิตอล โดยผลสำรวจเผยว่ากว่า 73% ของผู้เข้าร่วมการสำรวจพบว่าองค์กรของตนได้หยุดแผนการนำเทคโนโลยีดิจิตอลเข้ามาปฏิรูปธุรกิจ เนื่องจากความกังวลด้านภัยคุกคามทางไซเบอร์

และในขณะที่ช่องทางการโจมตียังคงเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI จึงเป็นเครื่องมือชิ้นสำคัญในการยับยั้งการโจมตีด้วยศักยภาพในการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อตรวจจับและหยุดยั้งการจู่โจมได้ โดยจากการสำรวจพบว่า 4 ใน 5 ขององค์กรในประเทศไทย หรือประมาณ 84% ได้นำ AI มาใช้เสริมความแข็งแกร่งของระบบด้านความปลอดภัยแล้ว หรือมีแผนที่จะนำมาใช้งานในอนาคตอันใกล้

ด้านนายโอม ศิวะดิตถ์ ผู้บริหารด้านนโยบายภาครัฐ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ในยุคที่คลาวด์และโมบายคอมพิวติ้งมีบทบาทในการทำหน้าที่เชื่อมต่อธุรกิจกับลูกค้า และช่วยเพิ่มศักยภาพในการทำงาน ทุกองค์กรจึงต้องเผชิญกับความเสี่ยงใหม่ๆ ไปพร้อมกัน

“เมื่อขอบเขตของระบบไอทีแบบดั้งเดิมหายไป ผู้ประสงค์ร้ายก็มีช่องทาง และเป้าหมายใหม่ๆ สำหรับการจู่โจมมากขึ้น ส่วนองค์กรที่ตกเป็นเป้าก็อาจประสบความเสียหายทางการเงินเป็นมูลค่ามหาศาล และยังสูญเสียความพึงพอใจของลูกค้าและความน่าเชื่อถือทางธุรกิจ ดังจะเห็นได้จากกรณีการรั่วไหลของข้อมูลของบางองค์กรที่อาจเป็นข่าวผ่านตาใครหลายคนไปในระยะหลัง”

e-book-1-503x62

.........................................................................................

หน้า 5 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3,376 ระหว่างวันที่ 21-23 มิ.ย.61