ประมูลคลื่น1800ล่ม เร่งเยียวยาลูกค้าซิมดับ4.7แสนราย

27 มิ.ย. 2561 | 05:57 น.
พลันที่ 3 ค่ายมือถือ คือ เอดับบลิวเอ็น หรือ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด ในเครือเอไอเอส, บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ในเครือดีแทค ออกมาประกาศชัดเจนไม่เข้าร่วมประมูลคลื่น 1800 MHz เป็นผลให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.ต้องยุติประมูลคลื่นดังกล่าวในวันที่ 4 สิงหาคม

ขู่ดับซิมลูกค้า 4.7 แสน

เหตุที่ทั้ง 3 ค่ายมือถือไม่เข้าร่วมประมูล คงจะวิเคราะห์แล้วว่าได้ไม่คุ้มเสียจึงตัดสินใจถอย งานนี้ กสทช.ต้องเป็นสายบัวรอเก้อไปในทันที เพราะเชื่อว่า “ดีแทค” เข้าร่วมประมูล เนื่องจากสัญญาสัมปทานคลื่น 1800MHz สิ้นสุดสัญญา 15 กันยายน 2561

เมื่อ เอไอเอส และ ดีแทค ประกาศออกมาไม่ร่วมตามรอย “ทรู” ที่ประกาศถอนตัวเป็นรายแรก ปรากฏว่า นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการสำนักงาน กสทช.ต้องออกมาแถลงข่าวด่วนพร้อมอาการที่ไม่สู้ดีนัก มิหนำซํ้ายังออกมาขู่ในทำนองจะตัดสัญญาณ 1800

MP20-3376-1-w “ฝันต่างๆ ที่หลายคนเห็นเข้าสู่มาตรการนั้นมาตรการนี้ถ้าคิดใกล้ๆ อาจไปไม่ถึงเพราะหลายเรื่องอาจเกิดพลิกผัน แต่เรื่องประมูล กสทช. ยังต้องเดินหน้าต่อไป วันนี้ไม่มีผู้เข้าประมูล แต่มั่นใจว่าเดินหน้าขอนโยบายจากบอร์ด กสทช.และรัฐบาล หากติดขัดตรงไหนต้องแก้ไขตรงนั้น เหตุใดไม่มีผู้เข้าประมูล ผมมีโจทย์ในใจทำปัญหาให้ออกไป ถ้าทำปัญหานี้ออกไปแล้วไม่มีคนเข้าประมูลอีกเดี๋ยวว่ากันอีกที” นายฐากร กล่าว

ยิ่งไปกว่านั้น นายฐากร ยังยํ้าอีกว่าการประมูลครั้งนี้ไม่ใช่เป็นกรณีของ กสทช.เปิดประมูลคลื่นความถี่ไม่ทันสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน แต่เปิดประมูลก่อนสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน จึงได้ออกมาตรการเยียวยาคุ้มครองผู้บริโภค แต่เมื่อ ดีแทค ไม่เข้าร่วมประมูลกรณีเรื่องมาตรการเยียวยาคลื่น 1800 อาจจะต้องนำเสนอรัฐบาลเพราะการไม่เข้าร่วมประมูลครั้งนี้ไม่สมเหตุสมผล

ไม่เยียวยาวุ่นแน่

การออกมาขู่ของ กสทช.ย่อมส่งผลกระทบต่อ ดีแทค และ ลูกค้า 4.7 แสนรายอย่างแน่นอนซึ่งในโลกโซเชียลต่างออกมาแสดงความคิดเห็นว่า “ถ้า กสทช.ทำแบบนี้โดนฟ้องแน่เพราะเป็นการทำ 2 มาตรฐาน”

ขณะที่นายสืบศักดิ์ สืบภักดี นักวิจัยด้านโทรคมนาคม ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล่าวว่า กรณีที่ยังมีผู้ใช้บริการยังค้างอยู่ในระบบเดิม แม้จะเป็นหน้าที่ของเอกชนที่ต้องดำเนินการโอนย้าย หรือถ่ายโอนลูกค้า หรือแจ้งให้ลูกค้าทราบถึงการหมดสัมปทาน แต่ทั้งนี้หากเกิดกรณีโอนย้ายไม่ทันหรือไม่หมดตามกำหนด ดังนั้น กสทช. ในฐานะองค์กรกำกับดูแลฯ และมีหน้าที่ด้านคุ้มครองผู้บริโภคด้วย จะปัดความรับผิดชอบอย่างเดียวหรือไม่มีมาตรการรองรับเลยดูจะเป็นการบกพร่องในหน้าที่

“แม้เอกชนจะดำเนินการโอนย้ายหรือเร่งดำเนินการเเล้ว ก่อนหน้านี้ แต่การโอนย้ายเป็นเรื่องความสมัครใจของลูกค้า หากไม่มีมาตรการเยียวยาจริง เอกชนอาจหาทางออกโดยเจรจากับผู้ให้บริการรายอื่น เพื่อเสริมการรองรับกรณีลูกค้าไม่มีเครื่องลูกข่ายที่รองรับย่าน 2100 หรือ 2300 ที่ ดีแทคมีอยู่ในมือ แต่หากเป็นการเดินหน้าโดยเอกชนและ กสทช. ไม่แสดงท่าทีช่วยเหลือหรือรับผิดชอบ ก็จะยิ่งเป็นภาพสะท้อนไปยัง กสทช. ว่าใส่ใจกับปัญหากรณีนี้มากน้อยเพียงใด หรือผลักภาระให้เอกชนทั้งหมด”

นอกจากนี้แล้ว กรณีคลื่น 1800 MHz ที่ประกาศให้มีการประมูล เเละต่อมาไม่มีผู้สนใจยื่นเข้าประมูล กสทช. อาจใช้ยกเป็นเหตุผลไม่ต้องจัดให้มีมาตรการเยียวยาก็ได้ ตามที่อ้างว่าสามารถจัดการประมูลได้ก่อนหมดสัญญาสัมปทานต่างจากครั้งกรณีทรูมูฟ แต่ในกรณีคลื่น 850 ที่ไม่ได้นำออกประมูลในย่าน 900 MHz การสิ้นสุดสัมปทาน อาจต้องพิจารณามาตรการเยียวยา

ทั้งนี้สัญญาสัมปทานเดิมระบุว่าหากสิ้นสุดสัมปทานและเหลือลูกค้าในระบบที่ไม่ได้โอนย้ายออก ต้องโอนลูกค้า
กลับให้คู่สัญญาเดิม คือ CAT จะดำเนินการต่อ หรือเดินหน้าขอรับการใช้คลื่นต่อหรือจะโอนย้ายไปยังระบบ My ที่ตนเองมีได้หรือไม่

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6

พิษกฎ N-1

ส่วนหนึ่งที่ 3 ค่ายมือถือไม่เข้าร่วมประมูลนอกเหนือจากราคาตั้งต้น 37,457 ล้านบาทที่สูงเกินความเป็นจริงแล้ว และ การใช้ สูตร N-1 (ใบอนุญาตที่นำออกประมูลน้อยกว่าจำนวนผู้เข้าประมูล ถ้าประมูลทั้ง 3 ใบอนุญาตเมื่อมีผู้เข้าร่วมประมูลมากกว่า 3 ราย) ทั้งนี้นายสืบศักดิ์ ยังกล่าวต่ออีกว่า กสทช.สามารถออกใบอนุญาตให้กับเอกชนทั้ง 3 ใบอนุญาตขนาดความกว้างของคลื่น 15 MHz หากประมูลครบตามเงื่อนไข N-1 แต่ปรากฏว่า เอกชนที่มีคลื่นในมือมากพอต่อการให้บริการและเงื่อนไขการประมูลโดยเฉพาะราคาค่าคลื่นที่สูงไม่จูงใจและเป็นการสร้างภาระต้นทุนมากเกินไป

นั่นจึงเป็นที่มาที่ทั้ง 3 ค่ายมือถือไม่เข้าร่วมประมูลโดยเฉพาะ ดีแทค พยายามเรียกร้องให้ กสทช.ยกเลิกกฎ N-1 พร้อมทั้งให้ซอยใบอนุญาตจาก 3 ใบอนุญาตจำนวน 15 เมกะเฮิรตซ์ มาเป็น 9 ใบอนุญาตจำนวน 5 เมกะเฮิรตซ์ แต่สุดท้ายก็ไร้ผล

มั่นใจ “ซิมไม่ดับ”

ก่อนหน้านี้นายลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของ ดีแทค ออกมาเปิดเผยภายหลังจาก ดีแทค และ แคท ได้ยื่นแผนความคุ้มครองลูกค้าในกรณีสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ต่อ กสทช. และพร้อมปฏิบัติตามประกาศ กสทช. ตามมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายใต้สัญญาให้บริการเดิม จากการที่คลื่นความถี่ 1800 MHz และ 800 MHz ที่ถือครองกำลังจะสิ้นสุดสัมปทาน เพื่อให้ลูกค้าดีแทคที่ยังอยู่ในระบบสัมปทานเดิม “ซิมไม่ดับ” และมั่นใจในการใช้บริการอย่างต่อเนื่อง

web-01-ad

ส่วนเหตุผลที่ ดีแทค ไม่เข้าร่วมประมูลเพราะว่า ถือครองความถี่ย่าน 2100 เมกะเฮิรตซ์จำนวน 2x15 เมกะเฮิรตซ์และมีคลื่นใหม่ความถี่ 2300 เมกะเฮิรตซ์จำนวน 1x60 เมกะเฮิรตซ์ซึ่งเป็นคลื่นความถี่เดียวที่กว้างที่สุดในประเทศไทย ซึ่งถ้าหมดสัมปทานคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์และสิ้นสุดระยะเวลาเยียวยาแล้ว ดีแทค ยังมีคลื่นย่านความถี่สูงเพิ่มมากกว่าเดิม 10 เมกะเฮิรตซ์จากคลื่นใหม่ 2300 เมกะเฮิรตซ์ที่จะนำมาให้บริการสำหรับคลื่นย่านความถี่สูงอย่างพอเพียง

ทั้งนี้ คลื่น 2300 เมกะเฮิรตซ์ได้ถูกนำมาให้บริการ 4G TDD เพื่อตอบสนองการใช้งานดาต้าที่เน้นการดาวน์โหลด สอดคล้องกับพฤติกรรมลูกค้าที่หันมานิยมการรับชมวิดีโอผ่านสมาร์ทโฟนจำนวนหลายชั่วโมงต่อวัน ถึงแม้ว่าดีแทคจะสิ้นสุดสัมปทานคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์และ 850 เมกะเฮิรตซ์ดีแทคยังมีปริมาณคลื่นความถี่ที่จะให้บริการต่อจำนวนลูกค้ามากกว่าผู้ประกอบการรายอื่น (ดีแทคมีจำนวนคลื่นเฉลี่ย 2.75 เมกะเฮิรตซ์ต่อจำนวนลูกค้า 1 ล้านราย ในขณะผู้ให้บริการรายอื่นมีจำนวน 1.37 เมกกะเฮิรตซ์และ 1.99 เมกะเฮิรตซ์)

รอลุ้นว่า กสทช.จะใช้บทลงโทษด้วยวิธี ยกเลิกคุ้มครองคลื่น 1800 MHz ตามที่ออกมา “ขู่” เพราะเมื่อใด “ซิมดับ” ผู้ใช้บริการออกมาฟ้องร้องตามกฎหมาย และจะเกิดความโกลาหล

รายงาน | หน้า 20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่38 | ฉบับ 3,376 ระหว่างวันที่ 21-23 มิ.ย.61 e-book-1-503x62