สนช. เสนอเพิ่มโทษผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร-ความงามใส่ 'ไซบูทรามีน'

25 มิ.ย. 2561 | 09:59 น.
กมธ.สาธารณสุข สนช. เตรียมเสนอเพิ่มบทลงโทษผู้ประกอบการที่ผสม 'สารไซบูทรามีน' ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและความงาม ชงเพิ่มค่าธรรมเนียม อย. ตั้งกองทุนสอดส่องผลิตภัณฑ์ผิดกฎหมาย วอนศิลปินรับรีวิวสินค้าต้องมีคุณธรรม ให้ข้อมูลผู้บริโภคอย่างถูกต้อง

วันที่ 19 มิ.ย. 2561 เว็บไซต์ www.radioparliament.net/parliament เผยแพร่ข่าวว่า นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แถลงข่าวถึงผลการพิจารณาข้อมูลข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำเนินคดีกับบริษัทผู้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและผลิตภัณฑ์เสริมความงาม สาเหตุการเสียชีวิตและผลการชันสูตรศพของผู้บริโภคผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ตกเป็นข่าว รวมถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคที่เกี่ยวข้อง ว่า ตามที่มีผู้บริโภคผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ยี่ห้อ เมจิกสกิน ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 4 ราย และมีผู้เจ็บป่วยจำนวนมาก พบว่า สาเหตุการเสียชีวิตเกิดจากการบริโภคสารไซบูทรามีน ซึ่งเป็นสารที่อยู่ในวัตถุอันตราย แม้ว่าประเทศไทยมีกฎหมายห้ามไว้ แต่กลับมีบทลงโทษน้อยเกินไป จึงยังคงมีผู้ลักลอบนำสารดังกล่าวเข้ามาใช้ในผลิตภัณฑ์ลดความอ้วน หรือ ลดน้ำหนัก


org_4197712675

ดังนั้น กมธ. มีข้อเสนอให้ปรับแก้ไขกฎหมาย โดยเพิ่มโทษให้กับผู้ที่นำสารเหล่านี้มาใช้ในผลิตภัณฑ์อาหารที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค รวมทั้งกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎหมายฟอกเงินและกฎหมายภาษี นอกจากนี้ ยังพบว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังขาดการควบคุมสารอันตราย และตำรวจต้องรับภาระค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเพื่อสุขภาพกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่ต้องใช้งบประมาณค่อนข้างมาก การดำเนินการล่าช้าเป็นอุปสรรคในการทำงาน

ผศ.นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธาน กมธ. คนที่ 2 กล่าวว่า ควรมีมาตรการป้องปราม โดยให้ความรู้ความเข้าใจกับศิลปินดาราที่มีชื่อเสียง ต้องมีคุณธรรมในการหารายได้จากการรีวิวสินค้า รวมทั้งให้ความรู้กับผู้บริโภคให้เข้าใจวิธีการดูแลสุขภาพที่ถูกต้องและปลอดภัย นอกจากนี้ รัฐบาลจำเป็นต้องจัดตั้งตำรวจไซเบอร์ ทำหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลข่าวสารในสื่อสังคมออนไลน์เพื่อให้เกิดการป้องปรามได้อย่างแท้จริง

ด้าน พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า แนวทางดังกล่าวจะช่วยแก้ไขปัญหาได้ที่ต้นเหตุอย่างทันเวลา มีข้อเสนอแนะให้เก็บค่าธรรมเนียมในการจดแจ้งผลิตภัณฑ์อาหารและยาให้สูงขึ้น เพื่อไม่ให้ผู้ประกอบการที่จดแจ้ง อย. ทำผิดกฎหมาย และนำงบประมาณส่วนนี้ไปใช้ในการตรวจสอบสินค้าที่ผิดกฎหมาย นอกจากนี้ ควรนำค่าปรับที่ได้จากผู้กระทำผิดไปตั้งกองทุนให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ นำไปใช้ในการสอดส่องกำกับดูแลผลิตภัณฑ์ผิดกฎหมายร่วมกับภาคประชาชนต่อไป ซึ่งจะทำให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ขณะที่ นพ.เจตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กมธ. จะรวบรวมข้อมูลและข้อเสนอแนะที่ได้มา ประกอบกับรายงานของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อเสนอไปยังกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการผลักดันให้มีการเพิ่มโทษให้รุนแรงยิ่งขึ้นในกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป


……………….
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
กสทช.ผนึกอย.ตรวจเข้มโฆษณาอาหารเสริม-เครื่องสำอางผิดกม.ไม่พบทีวีดิจิตอลทำผิด
'อย.-กสทช.' ตรวจเข้มโฆษณาอาหารเสริม-เครื่องสำอางผิดกฎหมาย


e-book-1-503x62