'ทีทีเอ็ม พลัส 2018' จุดเปลี่ยน 'ทราเวล มาร์ท' เมืองไทย

26 มิ.ย. 2561 | 03:12 น.
การจัดงานไทยแลนด์ ทราเวล มาร์ท พลัส 2018 (ทีทีเอ็ม พลัส) ที่พัทยา เมื่อช่วงวันที่ 13-15 มิ.ย. ที่ผ่านมา ไม่เพียงเป็นเวทีสำคัญในการส่งเสริมการท่องเที่ยวในลักษณะ Business to Business (B2B) ที่ปีนี้มีผู้ซื้อจากต่างประเทศเข้าร่วมงาน 292 ราย จาก 48 ประเทศ เข้ามาร่วมเจรจาธุรกิจกับผู้ขาย ทั้งของไทยและประเทศเพื่อนบ้านในแถบลุ่มน้ำโขง รวม 336 บูธ จาก 313 หน่วยงานเท่านั้น




FB_IMG_1528952427851

บูมพื้นที่ท่องเที่ยวอีอีซี
ทีทีเอ็ม พลัส ในปีนี้ ยังนำมาซึ่งความแตกต่างในการจัดงานทราเวล มาร์ท ของไทยอีกด้วย จุดแรก คือ เป็นการจัดงานแบบเอาต์ดอร์ แทนที่จะจัดกันอยู่แต่เฉพาะในศูนย์ประชุมในเมืองท่องเที่ยวหลักเป็นสำคัญ ทำให้ผู้ซื้อและผู้สื่อข่าวต่างประเทศได้มาสัมผัสแหล่งท่องเที่ยวจริง ทั้งสถานที่จัดเจรจาธุรกิจ ซึ่งอยู่ที่โอเชียน มารีน่า ยอช์ต คลับ พัทยา และงานเลี้ยงรับรองจัดขึ้นที่สวนน้ำการ์ตูนเน็ตเวิร์ค

การได้สัมผัสพื้นที่จริง ทำให้ผู้ซื้อและสื่อต่างชาติเห็นภาพว่า วันนี้พัทยาไม่มีเพียงแหล่งบันเทิง แต่ยังมีมารีน่า รองรับกลุ่มลักชัวรี ธีมพาร์กใหม่ ๆ เกิดขึ้นหลายแห่งในพัทยา ทั้งยังมีการจัดทริปพรี-โพสต์ทัวร์แก่ผู้ซื้อและสื่อต่างชาติที่มาร่วมงาน โดยเชื่อมโยงการท่องเที่ยวในพื้นที่อีอีซีพ่วงไปด้วย


414338

ไม่ว่าจะเป็น การเชื่อมโยงการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและชุมชน อย่าง สวนผลไม้ จ.จันทบุรี , จ.ระยอง เที่ยววิถีชีวิตชุมชน หรือแม้แต่การไปเยือนแหล่งท่องเที่ยวชุมชนในพัทยา อาทิ บ้านตะเคียนเตี้ย ชุมชนดงมะพร้าว หรือประมงชายฝั่ง ที่จะกระตุ้นให้เกิดการบรรจุลงในโปรแกรมเสนอขายที่จะเกิดขึ้นอีกด้วย


คาด 4 ปีนี้ เที่ยวอีอีซีโต 1.8 เท่า
การเชื่อมโยงการท่องเที่ยวรอบพื้นที่อีอีซีที่เกิดขึ้น ทำให้ต่างชาติเห็นว่า วันนี้พื้นที่นี้ไม่ได้มีภาพจำเฉพาะในโครงการอีสเทิร์น ซีบอร์ด อย่างในอดีต แต่การขับเคลื่อนโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ของรัฐบาล ยังเป็นการรักษาสมดุลภาคการผลิตไฮเทคใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย กับบริการท่องเที่ยวและการลงทุนด้านโครงการพื้นฐาน รวมมูลค่าราว 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (6-7 แสนล้านบาท) อาทิ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) มอเตอร์เวย์ การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง การขยายศักยภาพสนามบินอู่ตะเภา ที่จะเกิดการร่วมลงทุนระหว่างรัฐ-เอกชนอีกกว่า 2 แสนล้านบาท

โครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ ส่งผลต่อการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวในพื้นที่อีอีซี ที่คาดว่า ในอีก 4 ปีนี้ การเดินทางท่องเที่ยวในพื้นที่นี้จะเติบโตเพิ่มขึ้น 1.5 เท่า จาก 29.89 ล้านคน เพิ่มเป็น 46.72 ล้านคน และสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวในพื้นที่นี้ขึ้นอีก 1.8 เท่า คือ จาก 2.85 แสนล้านบาท เป็น 5.05 แสนล้านบาท


นำร่องทั้งงานไม่ใช้พลาสติก
อีกทั้งการจัดงานทีทีเอ็มในปีนี้ ยังเป็น ทราเวล มาร์ท งานแรกที่ ททท. มีส่วนร่วมรักษาสิ่งแวดล้อม โดยไม่ใช้พลาสติกตลอดทั้งงาน และจะมีการขยายผลต่อไปในทุกงาน ทราเวล มาร์ท ของ ททท. ที่จะจัดขึ้น

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เผยว่า ทีทีเอ็ม พลัส ปีนี้เป็นงานทราเวล มาร์ท งานแรกที่จะไม่มีพลาสติกในงาน โดยเราแจก Tumbler และตั้งจุดกดน้ำดื่ม ไม่มีการแจกขวดน้ำ พลาสติก ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายที่ ททท. จะร่วมพันธมิตร เช่น สนามบิน , โรงแรมต่าง ๆ ร่วมมือกันลดการใช้พลาสติกลง 50% ในปี 2563 ภายใต้โครงการลดโลกเลอะ ที่จะเริ่มจากการรณรงค์ในองค์และการจัดงานทราเวล มาร์ท ของ ททท. ก่อน

ททท. ไม่ได้รณรงค์ให้เลิกใช้พลาสติก เพราะมันก็ยังมีข้อดี แต่เน้นว่า การลดขยะพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง เพราะวันนี้จากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ พบว่า คนใช้ถุงพลาสติก 2 ถุงต่อวัน มีถุงพลาสติกมากถึง 4.8 หมื่นล้านใบต่อปี มีแก้วพลาสติก 9,750 ล้านใบต่อปี ขวดพลาสติก 8 พันล้านใบต่อปี หลอดพลาสติก 5 พันล้านหลอดต่อปี และ ททท. จะเน้นสร้างนักท่องเที่ยวสายพันธุ์ใหม่ "Less Waste Traveller" ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม


mp22-3376-c

วางธีมโฟกัสจุดขายลักชัวรี
สำหรับบรรยากาศในการซื้อขาย-บริการท่องเที่ยวที่เกิดขึ้น การจัดงานทีทีเอ็ม พลัส ในปีนี้ ยังเป็นครั้งแรกในรอบ 17 ปีของการจัดงาน ที่มีการวางธีมชัดเจน ซึ่งจัดขึ้นภายใต้แนวคิด "Million Shades of Romance" ทำให้การคัดเลือกผู้ขายและผู้ซื้อจึงโฟกัสไปที่กลุ่มลักชัวรีและโปรดักต์ กลุ่มคู่รัก เพื่อให้สอดรับกับการเจาะกลุ่มนิช มาร์เก็ต ซึ่ง ททท. คาดหวังว่าจะเกิดรายได้จากการเจรจาธุรกิจราว 1,400 ล้านบาท เพิ่มจากการจัดงานในปีที่ผ่านมา อยู่ที่ 1,200 ล้านบาท

ดังนั้น สินค้าที่นำมาเสนอขายส่วนใหญ่จะเป็นรีสอร์ต-โรงแรมหรู และกิจกรรมท่องเที่ยวในแบบลักชัวรี เช่น ยอชต์ชาร์เตอร์ ขณะเดียวกัน ภายในงานก็ยังมีการเปิดบูธสำหรับเสนอขายแหล่งท่องเที่ยวชุมชน ซึ่งดำเนินการโดยสมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย (สทอ.) ที่นำสมาชิกมาขายแพ็กเกจอีโค ลักชัวรี (พักโรงแรมแต่เน้นเที่ยวแหล่งท่องเที่ยวชุมชน)

นายเดวิด คีแวน เจ้าหน้าที่ด้านโปรดักต์ บริษัท ชิก โลเคชั่นส์ จำกัด เผยว่า จากที่เดินทางมาร่วมงานทีทีเอ็ม พลัส ในไทยหลายครั้ง แต่รูปแบบการจัดงานในปีนี้ถือว่าชอบมากที่สุด เพราะบรรยากาศการเจรจาธุรกิจรู้สึกรีแลกซ์กว่าอยู่ภายในคอนเวนชัน ฮอลล์ เหมือนทุกครั้ง และสินค้าที่นำเสนอขายก็เหมาะกับกลุ่มลูกค้าที่เน้นตลาดลักชัวรี โดยเดสติเนชันที่บริษัทสนใจ คือ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ เชียงราย เกาะเสม็ด เกาะกูด

นายเรน ยู เฟ่ย ผู้แทนบริษัท ซีอาน อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์วิสฯ กล่าวว่า เป็นครั้งแรกที่มางานทีทีเอ็ม โปรดักต์ ที่สนใจจะเป็นเกาะสมุย กรุงเทพฯ เกาะล้าน พัทยา โดยมาเน้นมองหาโรงแรมใหม่และอัพเดตโปรดักต์ในตลาด ซึ่งในแต่ละปีบริษัทส่งนักท่องเที่ยวจีนมาเที่ยวไทยราว 2-3 พันคนต่อปี เป็นตลาดเอฟไอทีและกรุ๊ปทัวร์ในสัดส่วน 50:50 โดยจะขายแพ็กเกจมาไทยราว 6-8 วัน ราคาอยู่ที่ 5 พัน ถึง 1 หมื่นหยวน

นี่เป็นภาพรวมงานทีทีเอ็ม พลัส กับมุมมองและรูปแบบใหม่ในการจัดทราเวล มาร์ท ของไทยที่เกิดขึ้น


……………….
รายงานพิเศษ โดย ธนวรรณ วินัยเสถียร

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,376 วันที่ 21-23 มิ.ย. 2561 หน้า 22

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
'โมโนทราเวล' ผนึกช่อง 29 ทำโฮมช้อปปิ้ง
ทราเวล อินสเปกชัน | 'ไทยสมายล์' Smile Lounge Service

e-book-1-503x62-7