บอลโลกกระตุ้นเศรษฐกิจจริงหรือ

09 ก.ค. 2561 | 05:54 น.
ก่อนหน้านี้ไม่กี่วัน ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย เจ้าภาพจัดการแข่งขันบอลโลก 2018 กล่าวกับสื่อท้องถิ่นที่สนามลุซนิกี ซึ่งเป็นหนึ่งในสนามที่จะใช้แข่งขันในกรุงมอสโกว่า การเป็นเจ้าภาพบอลโลกในปีนี้นับเป็นความสุขและเป็นเกียรติอย่างยิ่งสำหรับประเทศรัสเซีย เมื่อพูดถึงผลประโยชน์ที่ประเทศเจ้าภาพได้รับ “ความภาคภูมิใจ” เป็นสิ่งแรกและอาจจะเป็นสิ่งเดียวก็เป็นได้ เพราะในระยะหลังนี้ มีการตั้งคำถามกันอยู่เสมอว่าจริงๆแล้ว ประเทศผู้จัดได้ประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจมากน้อยเพียงใด เพราะจากต้นทุนค่าใช้จ่ายในการจัดที่พุ่งสูงขึ้นและกฎเกณฑ์ของฟีฟ่า (สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ) เจ้าของลิขสิทธิ์บอลโลกที่มีความ เข้มงวดมากขึ้น ผลพวงที่สะท้อนในค่าจีดีพีเฉลี่ยของประเทศในระยะ 5 ปี คือระยะ 2 ปีก่อนจัดงาน ปีที่จัด และ 2 ปีหลังจัดงาน แทบจะไม่มีปรากฏ มีแต่ผลกระตุ้น ระยะสั้นๆ ในช่วงที่มีการแข่งขัน
DSC_3896 สำหรับปีนี้ รัสเซียเป็นเจ้าภาพจัดแข่งบอลโลกเป็นครั้งแรก ข่าวระบุว่ามีการตั้งงบใช้จ่ายเพื่อการจัดงานประมาณ 11,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 371,200 ล้านบาท ซึ่งเป็นการสร้างหรือปรับปรุงสนามกีฬา 12 แห่งที่จะใช้ในการแข่งขัน (ระหว่างวันที่ 14 มิถุนายน-15 กรกฎาคม 2561) ถ้าเทียบกับงบที่บราซิล เจ้าภาพบอลโลกปี 2014 ใช้ ก็นับว่าเพิ่มขึ้น 3 เท่า (ข้อมูลจากธนาคารคอมเมิร์ซแบงก์ของเยอรมนี) และเอาเข้าจริงอาจจะสูงกว่านี้ ผู้จัดงานฝ่ายรัสเซียประเมินว่า ผลของการเป็นเจ้าภาพจัดบอลโลก 2018 ที่จะมีต่อเศรษฐกิจของประเทศรัสเซียนั้น น่าจะมีมูลค่าถึง 30,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า  9.8 แสนล้านบาท เป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ทำนายลากยาวไปจนถึงปีค.ศ. 2023 หรือ 5 ปีข้างหน้าเลยทีเดียว (ข้อมูลจากเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม)
DSC_3920 ทั้งนี้โดยทั่วไปแล้ว การประเมินผลพวงทางเศรษฐกิจจากการเป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมกีฬาใหญ่ๆนั้น จะมองจากโอกาสในด้านการท่องเที่ยว การใช้งบลงทุนในงานก่อสร้างสนามกีฬา บ้านพักนักกีฬา และอื่นๆ ซึ่งก่อให้เกิดการจ้างงานและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวเนื่อง รวมถึงโอกาสในการประชาสัมพันธ์ประเทศและเมืองที่ใช้เป็นสถานที่แข่งขัน ว่ามีความเจริญ ทันสมัย และน่าเข้าไปทำธุรกิจการค้า-การลงทุน และสำหรับตัวเลขข้างต้นของรัสเซียยังรวมถึงเงินที่จะประหยัดจากการไม่ต้องเจ็บป่วยและไม่ต้องลางานเพราะได้แรงจูงใจที่จะเล่นกีฬาและทำให้ร่างกายแข็งแรงขึ้น (จากการชมบอลโลก) สื่อรัสเซียรายงานว่า การก่อสร้างตระเตรียมสถานที่สำหรับการแข่งขันก่อให้เกิดการจ้างงานใหม่แล้ว 220,000 ตำแหน่ง
DSC_3905 กระนั้นก็ตาม นักวิเคราะห์จำนวนมากมองว่า โอกาสสร้างรายได้และกระตุ้นเศรษฐกิจมีมากก็จริง แต่หลายครั้งที่ผ่านมา ประเทศเจ้าภาพบางรายก็ขาดทุนเช่นกัน คือได้ไม่คุ้มเสีย สนามกีฬาหลายแห่งเมื่อหมดการแข่งขันก็ถูกทิ้งรกร้าง ไม่ได้มีการใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า นั่นเป็นประสบการณ์ที่เคยมีมา ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการก่อสร้างสนามกีฬาต้องใช้พื้นที่กว้างใหญ่ ลงทุนสูง การบริหารจัดการเพื่อสร้างกำไรในระยะยาวเป็นเรื่องที่ต้องมีการวางแผนอย่างดี ไม่เช่นนั้นก็จะมีผลกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นเฉพาะช่วงที่มีการแข่งขันเท่านั้น ยกตัวอย่างกรณีของบราซิลที่เป็นเจ้าภาพบอลโลกปี 2014 มีการทุ่มทุนจัดงานหลักหมื่นล้านดอลลาร์ แต่สุดท้ายสนามแข่งขันอันอลังการ ปัจจุบันถูกใช้เป็นที่จอดรถ!
DSC_3904 ส่วนรายได้จากการท่องเที่ยวนั้น บ่อยครั้งที่ตัวเลขคาดหมายจำนวนนักท่องเที่ยวมากเกินความเป็นจริง เช่นในการแข่งขันบอลโลก 2010 ที่แอฟริกาใต้เป็นเจ้าภาพ ตอนนั้นมีการคาดหมายว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติจะหลั่งไหลเข้ามาประมาณ 450,000 คน แต่เอาเข้าจริง ก็มาเพียงแค่ 2 ใน 3 ของตัวเลขดังกล่าว และรายได้จากการท่องเที่ยวก็วัดได้ยากว่า สุดท้ายแล้วใครเป็นผู้รับประโยชน์ที่ปลายทาง ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ประกอบการโรงแรม มากกว่าผู้ใช้แรงงานหรือผู้ให้บริการทั่วๆไป  ส่วนการจัดงานบอลโลกที่รัสเซียครั้งนี้ก็เช่นกัน นักวิเคราะห์มองว่า ผู้ได้ประโยชน์รายใหญ่คือ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ที่ประมาณการว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติหลั่งไหลเข้ามาถึง 500,000 คน

ในส่วนของผู้จัด (ไม่ใช่ในแง่ประเทศ) รายได้ใหญ่สุดมาจากค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดการแข่งขันนั่นเอง แต่ผู้จัดในประเทศนั้นๆ ก็ยังได้ประโยชน์น้อยกว่าเจ้าของลิขสิทธิ์ตัวจริงต้นทาง (ซึ่งก็คือฟีฟ่า) นอกจากนั้นยังมีรายได้จากการจำหน่ายตั๋วเข้าชมการแข่งขัน รายได้จากการจำหน่ายสินค้าที่ระลึก การทำข้อตกลงใบอนุญาตและลิขสิทธิ์ต่างๆ รวมทั้งรายได้จากบรรดาผู้สนับสนุน (สปอนเซอร์) การแข่งขัน ในส่วนของฟีฟ่านั้น รายได้จากมหกรรมบอลโลกครั้งล่าสุดก่อนหน้านี้ (ปี 2014) อยู่ที่ราวๆ 5,000 ล้านดอล ลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 1.6 แสนล้านบาท (ตัวเลขจาก Economist.com) ในจำนวนนี้ประมาณครึ่งหนึ่งเป็นรายได้จากลิขสิทธิ์การถ่ายทอดการแข่งขันนั่นเอง
DSC_3919 อย่างไรก็ตาม การประเมินประโยชน์จากการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬานั้น นักวิเคราะห์มองว่าไม่ควรเล็งไปในเชิงตัวเลขหรือสถิติแต่เพียงด้านเดียว เพราะประโยชน์ในแง่ “จิตวิทยา” ซึ่งวัดได้ยากนั้นก็เป็นประโยชน์ที่สำคัญไม่แพ้กัน ยกตัวอย่าง การจัดแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาวครั้งล่าสุดที่เพิ่งผ่านพ้นไป ถือเป็นมหกรรมกระชับสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ที่ประเมินค่าไม่ได้ นอกจากนี้การแข่งขันกีฬายังให้ “สารสุข” หรือ feel good factor แก่ประชาชนหรือผู้ชมทั่วโลกอีกด้วย โดยเฉพาะการสร้างแรงจูงใจให้กับเด็กและเยาวชน แม้แต่ข้อมูลของบริษัทวิจัยโกลด์แมน ซากส์ ยังชี้ว่า บรรยากาศอันอบอวลความสนุกของบอลโลกนั้นมีผลทำให้ดัชนีตลาดหุ้นของประเทศที่เป็นเจ้าภาพ และประเทศที่ชนะการแข่งขันพุ่งขึ้นเช่นกัน อย่างน้อยก็ในระยะสั้นๆ

| รายงาน : โต๊ะข่าวต่างประเทศ
| หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ
| หน้า 10  ปีที่ 38 ฉบับ 3,381 วันที่ 8-11 กรกฎาคม 2561
|ภาพโดย : ยลรดี ธุววงศ์
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว