ตั้งเป้า! จบ ป.ตรี 1 แสนคน มีงานทำภายใน 3 เดือน

24 มิ.ย. 2561 | 16:49 น.
'อดุลย์' เผย กระทรวงแรงงานออกมาตรการช่วยเหลือผู้จบปริญญาตรีว่างงานเร่งด่วน ตั้งเป้า 100,000 คน มีงานทำใน 3 เดือน ตั้งศูนย์ OSS ทั้งในภูมิภาคและส่วนกลางบูรณาการทำงานกับทุกภาคส่วน เดินหน้าแนะแนว ส่งเสริมอาชีพ




001

พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมแนวทางแก้ไขการว่างงานของผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ณ ห้องประชุมประสงค์ รณะนันทน์ ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน โดยได้เปิดเผยถึงข้อมูลภาวการณ์มีงานทำของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในเดือน พ.ค. 2561 ว่า มีจำนวนคนว่างงานที่จบปริญญาตรีมากที่สุด จำนวน 170,900 คน กระทรวงแรงงานเห็นว่า เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่จะแก้ไขปัญหาการว่างงานของผู้จบปริญญาตรี ซึ่งจะต้องร่วมมือกับหลายหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชน โดยมีสาเหตุหลัก อาทิ การเปลี่ยนงานบ่อย รองาน เนื่องจากลาออกจากงานเดิม การเลือกเรียนและจบในสาขาที่ไม่ตรงกับตลาดแรงงาน เลือกเรียนตามกระแส ค่านิยม หรือ เรียนตามเพื่อน เลือกงาน รวมทั้งพฤติกรรมเด็กรุ่นใหม่ไม่ชอบทำงานที่อยู่ในกรอบ เป็นต้น

พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวต่อว่า กระทรวงแรงงานมีแนวทางการแก้ไขปัญหาว่างงานของผู้จบปริญญาตรี ซึ่งกำหนดไว้ 2 ระยะ คือ ระยะเร่งด่วนภายใน 3 เดือน โดยจัดตั้งศูนย์ OSS ทั้งในภูมิภาคและส่วนกลาง ที่ จ.เชียงใหม่ พิษณุโลก ขอนแก่น นครราชสีมา ระยอง ชลบุรี สุราษฎร์ธานี สงขลา และกรุงเทพมหานคร เพื่อบูรณาการทำงานกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยมีผู้ว่าราชการแต่ละจังหวัดเป็นผู้อำนวยศูนย์ฯ มีกรมการจัดหางาน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เป็นเลขานุการ โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. นี้ นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานยังแนะแนวอาชีพและส่งเสริมอาชีพอิสระให้บัณฑิตมีงานทำ มีรายได้ จำนวน 2,000 อัตรา จับคู่ตำแหน่งงาน (Matching) ระหว่างผู้ที่กำลังหางานทำกับนายจ้างสถานประกอบการ ผ่านศูนย์บริการจัดหางานเพื่อคนไทย เว็บไซต์ http//:smartjob.doe.go.th และ Job Box ของกรมการจัดหางาน 20,000 อัตรา ตำแหน่งงานในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ (EEC) 4,500 อัตรา จัดนัดพบแรงงานในสถานศึกษา (Job Fair) 20,000 อัตรา ตำแหน่งงานในเครือข่าย อาทิ JobDB , BKK Job , Jobtopgun , Adecco รวม 28,000 อัตรา ความร่วมมือกับ Line Jobs เพิ่มช่องบริการรับสมัครงานผ่านไลน์ 20,000 อัตรา ตำแหน่งงานในต่างประเทศอีก 500 อัตรา และกรมพัฒนาฝีมือแรงงานจะบูรณาการกับสถานศึกษาเพื่อเพิ่มทักษะ (Up Skill/Re-Skill) แก่บัณฑิตที่แจ้งความประสงค์ฝึกอาชีพ เพื่อให้ตรงกับความต้องการของสถานประกอบการ ในหลักสูตรระยะสั้น ฝึกอบรมอย่างน้อย 10 วัน อาทิ หลักสูตรภาษาอังกฤษ คอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีดิจิทัล อินโฟกราฟิก เทคนิคการนำเสนอ เป็นต้น เป้าหมาย 5,000 คน

"ในระยะยาวภายใน 1-2 ปี กระทรวงแรงงานจะบูรณาการทำงานร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการในการแนะแนวอาชีพให้แก่นักเรียน ตั้งแต่ระดับประถมศึกษา รวมทั้งปรับหลักสูตรให้สอดคล้องกับความต้องการของสถานประกอบการ การเชื่อมโยงฐานข้อมูลกำลังคนระหว่างภาครัฐด้วยกันและภาคเอกชน การสร้างจิตสำนึกนักเรียน นักศึกษา และครอบครัว ให้มีทัศนคติในการเลือกศึกษาต่อ หรือ เลือกประกอบอาชีพตามความรู้ ความสามารถ เพื่อให้สามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานได้เร็ว สร้างนิสัยการเรียนรู้ตลอดชีวิต และการทำงานที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ ผลักดันกฎหมายส่งเสริมการมีงานทำ ปรับปรุงหลักสูตรให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน"


……………….
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ผู้ดำเนินการสปาต้องจบป.ตรีหรือผ่านหลักสูตร 100 ชั่วโมง
“จ๊อบไทย”เผยเงินเดือนสาขาอาชีพยอดนิยม นักศึกษา ป.ตรี จบใหม่ เฉลี่ยเริ่มต้นที่ 1.5-2.8 หมื่นบาท


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว