กกต. เปิดเว็บไซต์ฟังความเห็น ร่าง พ.ร.บ.เลือกตั้งสภาท้องถิ่นฯ

24 มิ.ย. 2561 | 13:25 น.
ประธาน กกต. เผย เปิดรับฟังความคิดเห็นร่าง พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น ทางเว็บไซต์ของ กกต. มีระยะเวลารับฟัง 30 วัน ก่อนเสนอให้รัฐบาลพิจารณา พร้อมระบุ ไม่สามารถยืนยันช่วงเวลาจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นได้ เนื่องจากต้องรอร่างกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. ประกาศใช้ก่อน




ศุภชัย

นายศุภชัย สมเจริญ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงการเปิดรับฟังความคิดเห็นร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. .... ว่า ขณะนี้ เว็บไซต์ กกต. เปิดให้ประชาชนได้ร่วมแสดงความคิดเห็นแล้ว โดยมีระยะเวลารับฟังความเห็น 30 วัน ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 หลังจากนั้น กกต. จะนำความเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจัดทำเป็นรายงานเสนอต่อรัฐบาล ทั้งนี้ หากมีประเด็นที่ประชาชนต้องการให้มีการปรับเปลี่ยน ผู้ที่จะปรับแก้ไขร่างกฎหมาย คือ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ส่วนร่างกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งท้องถิ่นอีก 5 ฉบับ กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ดำเนินการ

ทั้งนี้ การที่ กกต. เสนอให้มีการปรับแก้ไขร่างกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นฯ นั้น เนื่องจากการปฏิบัติงานที่ผ่านมา พบว่า มีอุปสรรคปัญหาจากความได้เปรียบเสียเปรียบกัน จึงเสนอให้มีการปรับแก้ไข เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งระดับใดก็ตาม ขณะนี้ ทางคณะกรรมการกฤษฎีกาและ กกต. ได้มีการแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง เรื่องใดที่สามารถปรับแก้ไขได้ก็รับไปดำเนินการต่อ

ต่อข้อถามว่า เมื่อ กกต. ปรับแก้ร่างกฎหมายฉบับนี้เรียบร้อยแล้ว หากรวมกับร่างกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งท้องถิ่นอีก 5 ฉบับ ที่กระทรวงมหาดไทยดำเนินการอยู่ การเลือกตั้งท้องถิ่นจะเกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้งทั่วไปหรือไม่

นายศุภชัย กล่าวว่า กกต. ไม่มีความกังวลในการจัดทำร่างกฎหมายท้องถิ่น แต่ยังไม่สามารถให้คำตอบได้ว่า การเลือกตั้งท้องถิ่นจะเกิดก่อนหรือหลังการเลือกตั้งทั่วไป เพราะขึ้นอยู่กับว่า ร่างกฎหมายฉบับใดจะมีผลประกาศใช้บังคับก่อน กล่าวคือ หากร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ประกาศลงราชกิจจานุเบกษาแล้ว ก็จะต้องรอไปอีก 90 วัน เมื่อครบกำหนดแล้วจึงจะมีผลใช้บังคับ และ กกต. ต้องจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 150 วัน ทั้งนี้ ส่วนตัวเห็นว่า การเลือกตั้งท้องถิ่นและการเลือกตั้งทั่วไป ไม่ควรอยู่ในช่วงเวลาเดียวกัน ควรทิ้งระยะเวลาห่างกันอย่างน้อย 3 เดือน เนื่องจากการเลือกตั้งท้องถิ่นทั่วประเทศจะมีเรื่องร้องเรียนจำนวนมาก ต้องใช้เวลาประมาณ 60 วัน ในการตรวจสอบ ไต่สวน และสืบสวน

อย่างไรก็ตาม กกต. ในฐานะผู้ปฏิบัติ ยืนยันว่า มีความพร้อมทุกระดับ หากกฎหมายฉบับใดมีผลใช้บังคับก่อน ก็ต้องปฏิบัติไปตาม สำหรับการเลือกตั้งท้องถิ่น กฎหมายกำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นผู้ดำเนินการจัดการเลือกตั้ง ภายใต้การควบคุมของ กกต. ซึ่งจะต้องดูแลให้การเลือกตั้งเป็นไปอย่างราบรื่น


……………….
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
กกต. ตั้งแท่นสอบ 'ทักษิณ' โยงยุบเพื่อไทย
'มีชัย' แนะ กกต. เร่งคลอดผังเงื่อนเวลาไพรมารีโหวต


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว