ซัมมิทประวัติศาสตร์! 'คิม-ทรัมป์' ถกสันติภาพคาบสมุทรเกาหลี

18 มิ.ย. 2561 | 09:26 น.
180661-1619

เช้าวันที่ 12 มิ.ย. 2561 โรงแรมแคเปลลา บนเกาะเซ็นโตซา ประเทศสิงคโปร์ คือ สถานที่นัดพบครั้งประวัติศาสตร์ระหว่าง ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐอเมริกา และ นายคิม จองอึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ โดยฝ่ายหลังซึ่งไม่ค่อยได้เป็นข่าวในสายตาชาวโลกบ่อยนัก ปรากฏตัวพร้อมกับคณะผู้ติดตามชุดใหญ่ ซึ่งรวมถึง นายคิม ยองซอล รองประธานคณะกรรมาธิการกลางพรรคคนงานเกาหลี ซึ่งเยือนกรุงวอชิงตันและพบกับประธานาธิบดีทรัมป์มาแล้ว ราว 1 สัปดาห์ก่อนหน้านี้ นอกจากนี้ ยังประกอบด้วย นายรี ซูยอง รองประธานกิจการวิเทศสัมพันธ์ของพรรคคนงานเกาหลี , นายรี ยองโฮ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ , นายพลโน ควางซอล รัฐมนตรีด้านกิจการกองทัพประชาชนเกาหลี (เคพีเอ) รวมทั้ง คิม โยจอง น้องสาวของ นายคิม จองอึน ที่มักปรากฏตัวในฐานะทูตสันถวไมตรีของเกาหลีเหนือในหลายวาระที่ผ่านมา


Screen Shot 2561-06-18 at 16.21.36

ผู้นำเกาหลีเหนือและผู้นำสหรัฐฯ เดินทางถึงประเทศสิงคโปร์เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. โดยประธานาธิบดีทรัมป์นั้น เพิ่งกลับจากการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มจี7 ที่ประเทศแคนาดา ส่วนนายคิมเดินทางมาถึงสิงคโปร์ก่อน และได้เข้าพบกับ นายลี เซียน ลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ผู้เป็นเจ้าภาพ ในบรรยากาศที่ชื่นมื่น สื่อเกาหลีเหนือรายงานว่า นายคิม จองอึน นั้น มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะใช้เวทีการพบปะครั้งนี้ เป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นที่ "หลากหลายและลึกซึ้ง" เกี่ยวกับการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีในรูปแบบใหม่ ไม่ว่าจะเป็น กลไกการสร้างสันติภาพที่ถาวรและยั่งยืนบนคาบสมุทรเกาหลี การตระหนักถึงกระบวนการปลดอาวุธนิวเคลียร์บนคาบสมุทรเกาหลี และอีกหลากหลายประเด็นที่ทั้ง 2 ฝ่าย มีความวิตกกังวลร่วมกัน นับเป็นการต่อยอดสิ่งที่ได้หารือไว้ในการประชุมสุดยอดระหว่างนายคิมกับผู้นำเกาหลีใต้ ที่มีขึ้นในช่วงปลายเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา โดยในการประชุมครั้งนั้น ฝ่ายเกาหลีเหนือ ระบุ จะยุติความขัดแย้งในคาบสมุทรเกาหลีและพร้อมที่จะปิดฐานทดลองอาวุธนิวเคลียร์ที่มีอยู่


10-3374-180661-1612

ในส่วนของสิงคโปร์ ซึ่งเป็นประธานอาเซียนในปีนี้ การได้เป็นเจ้าภาพจัดการพบปะนัดสำคัญครั้งประวัติศาสตร์ระหว่างผู้นำสหรัฐฯ และเกาหลีเหนือในครั้งนี้ ไม่เพียงฉายภาพที่โดดเด่นของสิงคโปร์ในฐานะประเทศที่ "เป็นกลาง" ซึ่งเป็นที่ยอมรับนับถือจากทั้ง 2 ฝ่าย (ก่อนหน้านี้ในปี 2558 สิงคโปร์เคยได้รับเกียรติเป็นสถานที่พบปะระหว่างคณะผู้นำจีนและไต้หวันครั้งแรกในรอบกว่า 60 ปีมาแล้ว) แต่ยังสามารถดึงความสนใจของประชาคมโลกสู่ภูมิภาคอาเซียนอีกด้วย เนื่องจากปีนี้ สิงคโปร์เป็นประธานอาเซียน และประเด็นการสร้างสันติภาพ ตลอดจนการรักษาสถานะปลอดอาวุธนิวเคลียร์ในภูมิภาค ก็เป็นประเด็นสำคัญในการประชุมด้านความมั่นคงในภูมิภาคอาเซียนมาโดยตลอด หากการประชุมสุดยอดสหรัฐฯ-เกาหลีเหนือครั้งนี้ มีข่าวดีและนำไปสู่การยุติความขัดแย้งในคาบสมุทรเกาหลี รวมทั้งสัมพันธภาพเชิงบวกระหว่างสหรัฐฯ และเกาหลีเหนือ สิงคโปร์และอาเซียนก็จะได้รับความชื่นชมและอานิสงส์ไปด้วยโดยอัตโนมัติ

นายลี เซียน ลุง ผู้นำสิงคโปร์ ระบุว่า มีความเป็นไปได้ที่ผลพวงจากการประชุมสุดยอดครั้งนี้จะก่อให้เกิดความคืบหน้าในคาบสมุทรเกาหลีในทิศทางใหม่ ๆ ทั้งยังเป็นผลดีทุก ๆ ฝ่าย รวมทั้งสิงคโปร์ที่ได้ประชาสัมพันธ์ประเทศ เรียกได้ว่า คุ้มยิ่งกว่าคุ้มกันงบ 20 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (ราว 480 ล้านบาท) ที่ทุ่มไปกับการจัดประชุมสุดยอดครั้งนี้


645x344-trump-kim-hail-historic-summit-despite-vague-agreement-1528790552018-1

สำหรับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ นั้น แม้จะโปรยยาหอมไว้ล่วงหน้าว่า เชื่อมั่นว่า นายคิม จองอึน อยากจะลงมือทำ "บางสิ่งบางอย่าง" ทำให้เกิดขึ้นเพื่อสันติภาพและผลประโยชน์ของประชาชนชาวเกาหลีเหนือ แต่ก็ไม่วายขู่คุกคามตามสไตล์ว่า นี่คือ โอกาสดีที่มาถึงผู้นำเกาหลีเหนือแล้ว แต่มันจะเป็นโอกาสดีที่มีมาเพียงครั้งเดียวเท่านั้น เพราะในนาทีแรกที่พบกัน เขาก็สามารถประเมินสถานการณ์แล้วว่า การประชุมจะประสบความสำเร็จหรือไม่ ถ้าเห็นแววว่า ไม่มีความเป็นไปได้ เขาเองก็จะไม่เสียเวลาทั้งของตัวเองและของฝ่ายเกาหลีเหนือ ไม่ว่าผลการพบกันครั้งนี้จะออกมาเป็นอย่างไร การดำเนินการต่อยอดนับจากนี้ไป ก็คงจะต้องใช้เวลาและความอดทนอย่างสูง" ผู้นำสหรัฐฯ กล่าว และยังย้ำว่า ความสำเร็จของการหารือนั้น ขึ้นอยู่กับทัศนคติของแต่ละฝ่ายเป็นสำคัญ

ในอดีตที่ผ่านมา ผู้นำสหรัฐฯ เคยได้รับคำเชิญเพื่อพบปะกับผู้นำเกาหลีเหนือมาแล้ว คือ ในสมัยของ ประธานาธิบดีบิล คลินตัน ที่เขาได้รับคำเชิญจาก นายคิม จองอิล บิดาของผู้นำเกาหลีเหนือคนปัจจุบัน ให้พบปะหารือกันในปี 2543 แต่ครั้งนั้น คลินตันมอบหมายให้ นางเมเดลีน อัลไบรต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นตัวแทนไปเจรจา ณ กรุงเปียงยาง ทำให้อัลไบรต์เป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงสุดคนแรกของสหรัฐฯ ที่ได้เยือนเมืองหลวงของเกาหลีเหนือ


singapore-trump-kim-summit_55760918-6dde-11e8-bbf6-b72314b60444-1

เช้าวันที่ 12 มิ.ย. 2561 ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ จะบันทึกว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ คือ ผู้นำสหรัฐฯคนแรกที่ได้พบกับผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ แต่เขาจะเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯคนแรกที่เจรจาสันติภาพในคาบสมุทรเกาหลีได้สำเร็จให้ประวัติศาสตร์ได้จารึกไว้หรือไม่ หรือจะทำให้สถานการณ์เป็นไปในทิศทางตรงข้าม อีกไม่นานก็คงได้รู้กัน


……………….
รายงานพิเศษ โดย โต๊ะข่าวต่างประเทศ

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,374 วันที่ 14-16 มิ.ย. 2561 หน้า 10

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
"คิม-ทรัมป์" ลงล็อก! โลกโล่ง 'ปลดนุก'
"บิ๊กป้อม" เชื่อ "ทรัมป์-คิม" พบกัน สร้างบรรยากาศปรองดองโลก


e-book-1-503x62