"5 ชาติ CLMVT" ผนึกพลัง! ดันซัมมิต ACMECS ผงาด จัดทำแผนแม่บทเชื่อมโยงทุกมิติใน 5 ปีข้างหน้า

17 มิ.ย. 2561 | 09:10 น.
ระหว่างวันที่ 15-16 มิ.ย. 2561 ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดผู้นำยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง หรือ ACMECS ครั้งที่ 8 ซึ่งชาติสมาชิกประกอบด้วย กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม และไทย หรือที่รู้จักกันดีในนามกลุ่มประเทศ CLMVT




amecs2

ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของโลก ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ประเทศ ACMECS จำเป็นต้องเร่งปรับตัว ทั้ง 5 ชาติสมาชิก ซึ่งถือเป็นประเทศหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา (Development Partners) เห็นพ้องในการจัดทำแผนแม่บท ACMECS หรือ ACMECS Master Plan ขึ้น เพื่อปรับโครงสร้างและจัดทำยุทธศาสตร์ความร่วมมือ โดยมุ่งเน้นสร้างความเชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อในอนุภูมิภาค ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐานทางคมนาคม ดิจิทัล พลังงาน การเชื่อมโยงกฎระเบียบทางการค้า การลงทุน การเงิน ตลอดจนส่งเสริมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และนวัตกรรม


ไทยเป็นประธานเสนอจัดทำแผนแม่บทฉบับแรก
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงข่าวหลังการประชุมว่า ผู้นำชาติสมาชิกได้หารือถึงเป้าหมายและทิศทางที่จะเดินไปข้างหน้า เพื่อลดช่องว่างทางเศรษฐกิจ และส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนของประเทศในอนุภูมิภาคนี้ เป็นที่น่ายินดีที่ ACMECS ได้รับความสนใจและการสนับสนุนจากประเทศหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาองค์การระหว่างประเทศ รวมทั้งสถาบันการเงินระหว่างประเทศกว่า 30 ภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น , มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีต่างประเทศของจีน , รัฐมนตรีต่างประเทศของเกาหลีใต้ , ออสเตรเลีย และผู้แทนระดับสูงจากธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (AIIB) และธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ที่ได้ส่งสารแสดงความยินดีต่อการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งนี้ของไทย


am1

ที่ประชุมผู้นำต่างเห็นพ้องถึงการปรับภาพลักษณ์และโครงสร้างของ ACMECS ให้ทันสมัย ตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมทางภูมิรัฐศาสตร์ภายในอนุภูมิภาคและของโลก และสนับสนุนไทยที่ได้เสนอแนวคิดที่จะจัดทำแผนแม่บทฉบับแรกของอนุภูมิภาค เพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินงานของ ACMECS ในระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า ภายใต้วิสัยทัศน์ "เสริมสร้าง ACMECS ที่เชื่อมโยงกัน ภายในปี 2023" โดยมีเป้าหมาย 3 ประการ ได้แก่ (1) การเสริมสร้างความเชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อในอนุภูมิภาค โดยเน้นการเติมเต็มโครงสร้างพื้นฐานและเส้นทางคมนาคมขนส่งที่ยังขาดหาย ตลอดจนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลและการเชื่อมโยงโครงข่ายด้านพลังงาน (2) การสอดประสานด้านเศรษฐกิจ โดยเน้นการปรับแก้กฎระเบียบด้านการค้าและการลงทุนให้สอดคล้องกัน และความร่วมมือทางการเงิน และ (3) การพัฒนาภูมิภาคในลักษณะยั่งยืนและมีนวัตกรรม โดยเน้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ และความร่วมมือในสาขายุทธศาสตร์ต่าง ๆ อาทิ สิ่งแวดล้อม การเกษตร การท่องเที่ยว สาธารณสุข การพัฒนา Smart City และความมั่นคงไซเบอร์ รวมทั้งการส่งเสริมความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมในสาขาต่าง ๆ เช่น การจัดการทรัพยากรน้ำ , การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ , การจัดการความเสี่ยงด้านภัยพิบัติ , การส่งเสริมประสิทธิภาพการใช้พลังงานและพลังงานหมุนเวียน


หนุนระเบียงเศรษฐกิจและการเชื่อมโยงทุกมิติ
นอกจากนี้ ผู้นำ ACMECS ยังเห็นชอบให้ดำเนินโครงการตามระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor : EWEC) และระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้ (Southern Economic Corridor : SEC) ในระยะแรก (Early Harvest / Phase 1) ในช่วง 2 ปีข้างหน้า เพื่อพัฒนาความเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐานและเส้นทางคมนาคมขนส่ง โครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลและพลังงาน รวมทั้งการปรับแก้กฎระเบียบและระบบศุลกากร เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุนระหว่างกัน

ประเทศไทยยังให้ความสำคัญต่อการจัดหาแหล่งเงินทุนที่มีความยั่งยืน โดยริเริ่มแนวคิดในการจัดตั้งกองทุน ACMECS ซึ่งไทยจะมอบทุนเริ่มต้นในการก่อตั้งจำนวนหนึ่ง ซึ่งขณะนี้ กำลังอยู่ในกระบวนการพิจารณาของรัฐบาลให้ถูกต้องและเป็นไปตามกฎหมาย และได้รับความเห็นชอบจากประเทศสมาชิกให้จัดการประชุมเจ้าหน้าที่การเงินอาวุโส เพื่อหารือในรายละเอียดเกี่ยวกับรูปแบบการจัดตั้งและขอบเขตการทำงานของกองทุนภายในปีนี้ นอกจากนี้ ที่ประชุมได้เห็นพ้องถึงความสำคัญของบทบาทและการเข้าร่วมสมทบกองทุนจากประเทศหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา ทั้งที่ปัจจุบัน มีความร่วมมือในกรอบอนุภูมิภาคแม่น้ำโขงดั้งเดิม รวมถึงประเทศที่มีศักยภาพ ทั้งในเอเชีย ยุโรป องค์กรระหว่างประเทศ รวมถึงสถาบันการเงินต่าง ๆ โดยความสมัครใจ


a2

"แผนแม่บท นอกจากจะช่วยกำหนดแนวทางความร่วมมือของสมาชิก ACMECS แล้ว ยังจะช่วยเติมเต็มแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน 2025 (Master Plan on ASEAN Connectivity 2025) ด้วย ผู้นำ ACMECS มุ่งสร้างประชาคม ACMECS ที่เกื้อหนุนต่อกระบวนการสร้างประชาคม ASEAN ตลอดจนสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในอนาคต" นายกรัฐมนตรี กล่าว

ทั้งนี้ นอกจากแผนแม่บทแล้ว ที่ประชุมยังได้รับรองปฏิญญากรุงเทพฯ (Bangkok Declaration) ซึ่งเป็นเอกสารแสดงเจตนารมณ์ของประเทศสมาชิกที่จะใช้ประโยชน์จากความแข็งแกร่งและความหลากหลายของประเทศสมาชิก ที่จะร่วมมือกันในลักษณะหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์เพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน โดยมีแผนแม่บท ACMECS เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนความร่วมมือ พร้อมทั้งการกระชับความร่วมมือกับประเทศหุ้นส่วนทางการพัฒนา รวมทั้งสถาบันการเงิน เพื่อการบรรลุเป้าหมายของแผนแม่บท

การประชุมครั้งนี้ ยังได้ให้ความสำคัญและเห็นชอบกับนโยบายของไทยที่คำนึงถึงประเทศเพื่อนบ้าน ในการดำเนินกิจกรรมทุกประเภท ภายใต้นโยบาย Thailand +1 เพื่อให้ประชาคม ACMECS เป็นประชาคมที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง สำหรับการประชุมผู้นำ ACMECS ครั้งต่อไป จะมีขึ้นที่ประเทศกัมพูชา


a5

ชูบทบาทเอกชนสร้างการเติบโต
ในส่วนของการประชุม ACMECS CEO Forum ภายใต้หัวข้อ "บทบาทของภาคเอกชนในการสร้างประชาคมลุ่มน้ำโขง" ซึ่งมีขึ้นในวันที่ 15 มิ.ย. ที่ผ่านมา ชาติสมาชิก ACMECS เห็นพ้องว่า ภายใต้แผนแม่บทที่กำลังจัดตั้งขึ้นนี้ ภาคเอกชนของทุกชาติสมาชิก คือ ส่วนสำคัญในการพัฒนา เป็นผู้ขับเคลื่อนการเชื่อมต่อห่วงโซ่การผลิตในภูมิภาค เพื่อให้เศรษฐกิจทุกภาคส่วนเดินทางไปพร้อม ๆ กัน โดยระบุถึงบทบาทของภาคเอกชนไว้ ดังนี้

1.ภาคเอกชน ACMECS ต้องร่วมมือกับภาครัฐในการขับเคลื่อนการลงทุนใน ACMECS เพื่อเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตในอนุภูมิภาคนี้ ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ และเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกอย่างครบวงจร เช่น การลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย โครงสร้างพื้นฐานในรูปแบบ Public-Private Partnership (PPP) ไทยในฐานะเจ้าภาพ ได้ผลักดันให้บรรจุเรื่องการเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐานอย่างไร้รอยต่อ เป็นหนึ่งในเสาหลักของทิศทางการพัฒนา ACMECS ในอนาคต และจะผลักดันให้มีการจัดตั้งกองทุน ACMECS ขึ้น

2.ภาคเอกชนจำเป็นต้องเพิ่มบทบาทในการเตรียมพร้อมให้ ACMECS สามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลก ทั้งจากเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ โดยไทยพร้อมที่จะร่วมมือกับภาคเอกชนในการพัฒนาเกษตรกรยุคใหม่ (Smart Farmer) ตลอดจนผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSME) รวมทั้งวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อน Smart ACMECS ในการนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวเชิญชวนภาคเอกชนให้เข้ามาร่วมกำหนดเป้าหมายเร่งด่วน ในด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และนวัตกรรม ตลอดจนประเด็นที่ต้องการให้ภาครัฐช่วยอำนวยความสะดวก หรือ ปรับเปลี่ยนกฎระเบียบให้มีความยืดหยุ่นและสอดประสานกันมากขึ้น

3.ภาคเอกชน ACMECS ต้องร่วมมือกัน เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจ ที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์จากการพัฒนา สามารถเจริญเติบโตไปได้พร้อมกัน และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (Leave No One Behind) ประเทศไทยพร้อมจะให้ความช่วยเหลือด้านวิชาการต่อประเทศสมาชิก ACMECS โดยเฉพาะในหลักสูตรการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อส่งเสริมการพัฒนาท้องถิ่นให้เข้มแข็ง เกิดการพัฒนาภาคเกษตรจากภายในสู่ภายนอก และพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาที่จำเป็น โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของความต้องการและสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ ทั้งในระดับประเทศและในระดับชุมชน


a4

นอกจากนี้ ไทยมองว่า ภาคธุรกิจยังสามารถช่วยเร่งรัดการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวภายในอนุภูมิภาค ACMECS และการจ้างงานแรงงานจากชาติสมาชิก ACMECS ได้อีกด้วย โดยไทยพร้อมร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อให้ ACMECS เป็นจุดหมายปลายทางในการท่องเที่ยวร่วมกัน โดยอาศัยศักยภาพของประเทศไทย ที่เป็นจุดหมายลำดับต้น ๆ ของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ในการกระจายนักท่องเที่ยวไปสู่ประเทศสมาชิก ACMECS อื่น ๆ ตามนโยบาย Thailand +1

ทั้งนี้ รัฐบาลไทยยังได้ริเริ่มนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง เพื่อกระจายนักท่องเที่ยวไปยังชุมชนท้องถิ่นต่าง ๆ รวมถึงพื้นที่บริเวณชายแดนด้วย ในการจ้างแรงงาน ไทยมีนโยบายเปิดกว้าง โดยรัฐบาลได้จัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจำนวนทั้งสิ้น 10 แห่ง ตามบริเวณแนวชายแดน ซึ่งเป็นเขตพื้นที่ที่ได้รับการคัดเลือกแล้วว่า มีความเหมาะสมและมีศักยภาพ อีกทั้งยังมีมาตรการการอำนวยความสะดวกในการจ้างงานแรงงานต่างด้าวในพื้นที่เหล่านี้

นายกรัฐมนตรี ย้ำว่า ประเทศไทยและรัฐบาลมีนโยบายต้อนรับแรงงานต่างด้าวที่เดินทางมาทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพราะตระหนักดีถึงบทบาทของแรงงานเหล่านี้ในการพัฒนาเศรษฐกิจ และพร้อมที่จะให้การดูแลแรงงานเหล่านี้ให้ได้รับสิทธิต่าง ๆ อย่างเป็นธรรม


……………….
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
นายกฯเปิดการประชุมผู้นำ ACMECS ครั้งที่ 8 -หนุนกองทุน "อิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง" ไทยประเดิมเงินก้อนแรก
พาณิชย์ผลักดันการค้าการลงทุนกับเพื่อนบ้านผ่านกรอบ ACMECS


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว