พลังงานเปิดทาง! 'โซลาร์ประชาชน' ผลิตขายกันเอง

16 มิ.ย. 2561 | 18:02 น.
170661-0050

กระทรวงพลังงานเตรียมผุดโครงการ "โซลาร์ภาคประชาชน" หวังดึงทุกภาคส่วนร่วมผลิตและขายไฟฟ้า คาดได้ข้อสรุปปลายปีนี้ ... 'ศิริ' ยัน! ค่าไฟจากพลังงานทดแทนราคาต่ำ ทำได้แน่ มีเอกชนเสนอโครงการมาแล้ว

นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"
 ว่า กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างการพิจารณาเพื่อเตรียมจัดทำโครงการ "โซลาร์ภาคประชาชน" ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับโครงการโซลาร์รูฟท็อปเสรี ที่ขณะนี้ ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะเปิดให้ดำเนินการหรือไม่

 

[caption id="attachment_290561" align="aligncenter" width="503"] ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ศิริ จิระพงษ์พันธ์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน[/caption]

ทั้งนี้ เนื่องจากต้องการให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เอง ส่วนไฟฟ้าที่เหลือยังสามารถขายเข้าระบบ โดยจะมีตลาดกลางซื้อขายรองรับ จึงไม่จำเป็นต้องขายเข้าระบบของรัฐก็ได้ คาดว่ารูปแบบและรายละเอียดจะชัดเจนภายในปลายปีนี้

"โครงการโซลาร์ภาคประชาชนนั้น กรอบสูงสุด คือ ดึงทุกคนเข้ามา ให้มีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ใช้เอง ส่วนที่เหลือก็ขายโดยมีตลาดรองรับ ไม่จำเป็นต้องขายเข้าระบบเท่านั้น แต่จะต้องมีระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) หรือ หากซื้อขายกันทันที ไม่ต้องกักเก็บ ก็จะได้ราคาต้นทุนที่ซื้อขายกันเอง ซึ่งกระทรวงพลังงานอาจจะมีมาตรการจูงใจทั้งภาคประชาชนและภาคของผู้ผลิตวัสดุอุปกรณ์ รวมทั้งผู้ผลิตแบตเตอรี่ในประเทศด้วย เพื่อให้ต้นทุนต่าง ๆ มีราคาถูกลง ทำให้ทุกคนเข้าถึงได้ ซึ่งโครงการนี้น่าจะสามารถทำได้ภายหลังจากโครงการไฟฟ้า 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เรียบร้อย" นายศิริ กล่าว


MP18-3328-1B

สำหรับความคืบหน้าการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ได้มีนโยบายออกไปแล้วว่า หากมีผู้ประกอบการสามารถขายไฟฟ้าพลังงานทดแทนได้ในราคาต่ำกว่า 2.44 บาทต่อหน่วย จะไม่มีการกำหนดโควตารับซื้อ กระทรวงพลังงานพร้อมพิจารณาเพื่อรับซื้อทันที ซึ่งการกำหนดราคารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในราคาต่ำลงนี้ เนื่องจากการศึกษาพบว่า ประเทศไทยยังมีปริมาณสำรองไฟฟ้าสูง และยังไม่มีความจำเป็นต้องรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนราคาแพงในช่วง 5 ปีข้างหน้า

ที่สำคัญ จากเปิดประมูล SPP Hybird Firm จำนวน 300 เมกะวัตต์ ในช่วงที่ผ่านมา ก็พบว่า ราคาขายไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 2.44 บาทต่อหน่วย ไม่เพียงเฉพาะจากพลังงานแสงอาทิตย์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงราคาค่าไฟจากชีวมวลด้วย ดังนั้น จึงเป็นบรรทัดฐานให้มีการกำหนดราคารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในระดับราคาไม่เกิน 2.44 บาทต่อหน่วย แบบไม่จำกัดโควตา เพราะเห็นว่า เทคโนโลยีมีการพัฒนามากขึ้น สามารถทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงประเภทต่าง ๆ ลดลงได้ ซึ่งปัจจุบัน ก็มีผู้ประกอบการมาเสนอขายไฟฟ้าจากโซลาร์ฟาร์มและชีวมวลแล้ว ในราคา 2.40 บาทต่อหน่วย ซึ่งกระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างการรวบรวมว่า จะออกนโยบายอย่างไรต่อไป เพราะตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (พีดีพี 2018) ต้องการให้มีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในสัดส่วน 40% ของการใช้ไฟฟ้า และวิธีการนี้เชื่อว่า จะสามารถนำพาไปยังเป้าหมายได้


MP18-3328-2B

นายศิริ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ เพื่อให้การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเดินหน้าต่อไปได้ โดยภาครัฐจะดำเนินการให้เห็นว่า การผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนในต้นทุนต่ำนั้น สามารถดำเนินการได้ ซึ่งล่าสุด การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้นำเสนอที่จะดำเนินโครงการโซลาร์ลอยน้ำในเขื่อนของ กฟผ. ที่มีอยู่ทั่วประเทศ โดยจะมีโครงการนำร่องร่วมกับทางกลุ่มเอสซีจี ผลิตกระแสไฟฟ้าขนาดกำลังการผลิตประมาณ 30-40 เมกะวัตต์ ที่เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี ก่อน และขยายผลในเขื่อนต่าง ๆ ต่อไป ที่คาดว่าจะผลิตไฟฟ้าได้ถึง 500-1,000 เมกะวัตต์ ตามที่ กฟผ. เสนอมา ซึ่งส่วนตัวมองว่า โครงการโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำในเขื่อนไม่เสียพื้นที่ ไม่ต้องลงทุนสายส่งและหม้อแปลงใหม่ เนื่องจากมีอยู่แล้ว

"เวลานี้มีผู้ประกอบการเสนอขายไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน อาทิ โซลาร์ฟาร์ม ชีวมวล ในระดับราคา 2.10-2.18 บาทต่อหน่วย หรือหากผู้ประกอบการรายใดสามารถขายไฟฟ้าได้ระดับต่ำกว่า 2.40 บาทต่อหน่วย กระทรวงพลังงานก็พร้อมรับพิจารณาทั้งหมด ซึ่งยืนยันว่า ไม่ได้ทำร้ายพลังงานทดแทน แต่มองว่า การขายไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเป็นการทำร้ายตนเอง เพราะหากรับซื้อในราคาสูง ผู้บริโภคก็รับไม่ได้ที่ราคาค่าไฟจะสูง 4-5 บาทต่อหน่วย จะถึงจุดที่สังคมไม่ยอมรับจากค่าไฟฟ้าแพง ไม่ใช่แค่กระทบค่าไฟ แต่ในอนาคต จะกระทบถึงงานของลูกหลานที่จะได้ทำงาน เพราะค่าไฟฟ้าขึ้นจาก 3.50 บาทต่อหน่วย เป็น 4-5 บาทต่อหน่วย" นายศิริ กล่าว


appsolar

ส่วนความคืบหน้าโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ปัตตานี , ยะลา และนราธิวาส) ในรูปแบบประชารัฐ คาดว่าจะมีความชัดเจนเร็ว ๆ นี้ โดยเบื้องต้น พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จะมีเขตไฟฟ้าอิสระ จะไม่มีระบบผลิต ระบบส่ง และจำหน่าย แต่จะรวมเป็นหน่วยเดียวกันทั้งหมด ทั้งด้านการผลิต ระบบส่ง และจำหน่ายไปยังประชาชนในราคาค่าไฟฟ้าที่ 3.50 บาทต่อหน่วย ซึ่งโครงการดังกล่าวจะเป็นโครงการประชารัฐ โดยประชารัฐจะมามีส่วนร่วมกับการไฟฟ้าฯ คนละครึ่ง เบื้องต้น รัฐจะใช้เงินจากกองทุนเพื่อการส่งเสริมอนุรักษ์พลังงานสร้างไปก่อน และเมื่อประชารัฐมีความพร้อมก็สามารถซื้อหุ้นได้ในราคาทุน


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,373 วันที่ 10-13 มิ.ย. 2561 หน้า 01+15

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
3 การไฟฟ้าผนึกเปิดตัวมาตรการอนุรักษ์พลังงานสำหรับผู้ผลิต-จำหน่าย
พพ.หนุนเอกชนติด “ฉลากประหยัดพลังงานประสิทธิภาพสูง”


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว