คปภ.เข้มตรวจสอบ‘สุทธิพล ’ยันไม่หย่อนกว่าธปท.-ก.ล.ต.

22 มิ.ย. 2561 | 03:12 น.
สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) ภายใต้การนำของ เลขาธิการ นายสุทธิพล ทวีชัยการ กำหนดให้ปี 2561 เป็นปีแห่งการยกระดับมาตรฐานการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยสู่มาตรฐานสากล(ICPs) ก่อนที่ปลายปีนี้ ประเทศไทยจะต้องเข้าสู่การประเมินของโครงการประเมินภาคการเงิน (Financial Sector Assessment Program-FSAP) ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลก (World Bank)

โดยเฉพาะภายใต้นโยบายไทยแลนด์ 4.0 บทบาทของคปภ.นอกจากเพิ่มประสิทธิ ภาพกำกับตรวจสอบควบคู่กับเพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับผู้บริโภคในยุค Insur Tech แล้ว คปภ.ยังอยู่ในช่วงของการพัฒนาปรับปรุงกฎระเบียบ เพื่อเปลี่ยนรูปแบบหรือวิธีการให้ทันต่อเหตุการณ์ การกำกับธุรกิจประกันภัยที่มีแนวโน้มจะขยายวงกว้างทุกช่องทางเพื่อให้ตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคและทัดเทียมกับกติกาของโลก

[caption id="attachment_290285" align="aligncenter" width="503"] สุทธิพล ทวีชัยการ copy สุทธิพล ทวีชัยการ[/caption]

 “สุทธิพล ทวีชัยการ” เลขาธิการ คปภ.เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า คปภ.ได้ปฏิรูปกฎระเบียบหลักๆ คือ  ยึดผู้บริโภคเป็นศูนย์กลาง ด้วยการเพิ่มความผิดฐานใหม่ เรื่องการฉ้อฉลประกันภัย เข้าไปอยู่ในกฎหมายโดยจะ นำเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)ภายในปีนี้ ขณะเดียวกัน ยังมีความคืบหน้าการแก้ไขกฎ หมายทั้งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ประกันชีวิตพ.ร.บ.ประกันวินาศภัยพ.ร.บ.ประกันภัยทางทะเล ซึ่งยกร่างใหม่ทั้งฉบับ และอยู่ในขั้นตอนรอเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ภายหลังจากกระทรวงการคลังได้พิจารณาแนะนำส่งคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว

นอกจากนั้น ยังมีประกาศต่างๆเช่น ให้บริษัทบริหารจัดการความเสี่ยง เรื่องฉ้อฉลประกันภัย ซึ่งคณะกรรมการ(บอร์ด)คปภ.เห็นชอบแล้ว เรื่องการเปิดเผยข้อมูล เรื่องประกันภัยต่อ โดยเห็นชอบในหลักการแล้ว และที่ต้องทำต่อในปีนี้ ซึ่งเป็นนโยบายรัฐบาลเรียกว่า “ Regular Guillotine” โดยต้องพิจารณาทบทวนกฎหมาย ระเบียบหรือกติกาที่มีอยู่เพื่อปรับปรุง ขณะนี้ให้แต่ละสายงานศึกษาเช่น กติกาเก่าที่ยังไม่ยกเลิกแม้ว่าจะมีกติกาใหม่แล้วหรือฉบับที่ไม่เป็นประโยชน์จะให้เสนอบอร์ด คปภ.เพื่อลดอุปสรรค หรือพิจารณายกเลิกกฎหมายที่ไม่ใช้แล้ว

รวมถึงนำแนวปฏิบัติมาช่วยตรวจบริษัทมีความเสี่ยงต่อการใช้เทคโน(IT Audit)  ซึ่งอยู่ระหว่างพัฒนา อีกทั้งการทำงานเพิ่มการมีส่วนร่วมมากขึ้น นอกจากการประชุมทุกเดือนกับธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)

สำหรับการขายกรมธรรม์ประกันภัยผ่านทางโทรศัพท์ของธนาคารนั้น เป็นช่องทางเพิ่มเติมที่คปภ.ต้องเข้าไปวางมาตรการกำกับให้เข้มข้นโดยประกาศกำหนดชัดเจนให้ธนาคารขายเฉพาะผลิตภัณฑ์ประกันที่ได้รับความเห็นชอบจากคปภ. ซึ่งเงื่อนไขต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่เข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อน เช่น ประกันอุบัติเหตุ หรืออัคคีภัย โดยต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ของลูกค้า จะบังคับขายไม่ได้คือ ต้องเป็นไปโดยสมัครใจและต้องแยกระหว่างผลิตภัณฑ์ประกัน กับเงินฝากหรือแยกสินเชื่อพ่วงประกัน

“พนักงานขายของธนาคาร ต้องปฏิบัติตามทั้งกติกาของคปภ. ธปท. และก.ล.ต. ประกอบกับในทางปฏิบัติ ธนาคารสามารถขายผลิตภัณฑ์ผ่านทางโทรศัพท์ ทั้งผลิตภัณฑ์ภายใต้กำกับของธปท.และก.ล.ต.แล้ว ยกเว้นในส่วนของคปภ.”

ดังนั้นร่างประกาศกำหนดชัดให้ธนาคารต้องขออนุญาตขายผลิตภัณฑ์ประกันภัยผ่านช่องทางโทรศัพท์ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีธนาคารไหนขออนุญาต เพราะประกาศจะมีผลในปีหน้า

           หน้า 23-24 หนังสือพมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่38 ฉบับที่ 3,375 วันที่ 17 - 20 มิถุนายน 2561

e-book-1-503x62