ตีกัน! กยท.ดึงเซสส์โปะขาดทุน ชาวสวนยางทวงสัญญา ‘กฤษฎา’ ดันยางโลละ65-75บาท

03 ก.ค. 2561 | 06:08 น.
ชาวสวนยางเชื่อสัญญาลูกผู้ชาย “กฤษฎา” ประกาศดันราคา 65-75 บาท/กก.เป็นจริงแน่ “อุทัย” ตีแผ่กลโกงเงินเซสส์ แฉบอร์ด กยท. แก้เกมมีแผนสำรองรวบรายได้หมวดต่างๆ ที่ใช้จ่ายไม่หมด นำไปจัดสรรในรอบปีงบถัดไป หวังหนีขาดทุนกว่า 600 ล้านบาท ดันประกันชีวิตชาวสวน 1.3 ล้านรายลดกระแสยี้

นับถอยหลังประมาณเดือนมีนาคม 2562 บอร์ดการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบแต่งตั้ง พล.อ.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) (วันที่ 12 ม.ค. 59) จะครบวาระแล้ว แต่ผลงานของบอร์ดที่ผ่านมาในสายตาชาวสวนเป็นอย่างไรบ้างนั้น

นายบุญส่ง นับทอง นายกสมาคมชาวสวนยาง จังหวัดกระบี่ และอดีตนายกสมาคมสมาพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า นับตั้งแต่นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เข้ามา และได้มีการเปลี่ยนตัวผู้ว่าการการยางฯเป็นนายเยี่ยมถาวโรฤทธิ์ นั้น

รักษาการผู้ว่าการ กยท.คนล่าสุดที่รับฟังการแก้ปัญหาของชาวสวนยาง รู้สึกพอใจและมีความหวังขึ้นมาว่าจะแก้ปัญหาราคายางตกตํ่าได้ และเชื่อมั่นในตัวรัฐมนตรีเกษตรฯที่รับปากกับชาวสวนยางทั้งประเทศที่เข้าไปพบที่กระทรวงว่าจะผลักดันราคายางแผ่นดิบให้ได้ที่ 65-75 บาทต่อกิโลกรัม ต้องทำได้แน่ๆ

กฤษฎา บุญราช1 ขณะที่นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ สภาเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย (สยยท.) กล่าวว่า ได้สืบทราบว่า ทางบอร์ดมีแผนสำรองการแก้ไขปัญหาการขาดทุนทางบัญชีของ กยท. 600 ล้านบาท โดยหากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความใช้เงินข้ามหมวดตามพ.ร.บ.การยางฯไม่ได้ ทางบอร์ดก็จะใช้วิธีรวบงบประมาณทั้งหมดที่ใช้ไม่หมดในปีนั้น เพื่อจัดสรรในรอบปีงบ ประมาณต่อไป หากทำอย่างนี้ชาวสวนไม่ยอมเด็ดขาด เพราะการเก็บเงินค่าธรรมเนียมส่งออกยางพารา (เซสส์) วัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนปลูกยางทดแทน สร้างความเข้มแข็งให้ชาวสวนยาง สถาบันเกษตรกร รักษาเสถียรภาพราคายาง และสวัสดิการ

แต่ปรากฏว่าที่ผ่านมาชาวสวนยางเข้าไม่ถึงเงินกองทุนพัฒนายางพาราตามมาตรา 49 วงเล็บ 3-6 เลย เพราะกฎระเบียบอ้างโน่นอ้างนี่ แต่ทางพนักงาน รวมไปถึงบอร์ด ใช้จ่ายเงินฟุ่มเฟือยทั้งการเบิกค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลเข้าโรงพยาบาลเอกชน ปีหนึ่งใช้ไม่ตํ่ากว่า 300 ล้านบาท ค่าเช่ารถเดือนละ 3.5-7.5 หมื่นบาท แต่กับชาวสวนแม้แต่เงินกู้ ดอกเบี้ยยังเก็บ 10% เทียบกับดอกเบี้ย ธ.ก.ส. 4% ถ้าเป็นอย่างนี้ก็ไม่ต้องเก็บแล้วเงินเซสส์ ยกเลิกไปเลย

นายอุทัย  กล่าวว่า การบริหารของ กยท.ล้มเหลว แทนที่จะต้องมานั่งคิดว่าจะทำอย่างไรให้ราคายางปรับตัวขึ้น เพราะปกติที่ผ่านมาราคานํ้ามันขึ้น ราคายางพาราจะขึ้นตาม แต่กลับไม่ขึ้น วันนี้ต้องมาระดมสมองเพื่อพลิกวิกฤติ  ไม่ใช่คิดที่จะหาทางใช้เงิน และจะต้องรัดเข็มขัด เพราะท้ายสุดถ้าชาวสวนอยู่ไม่ได้ กยท.ก็จบเช่นเดียวกัน

tp9-3375-a

“ข้อสังเกตการตั้งงบประมาณกองทุนพัฒนายางพารา มาตรา 49 ในวงเล็บต่างๆ (ดูกราฟิกประกอบ) วงเล็บ 3 เก็บแต่ละปี 35% แต่งบประมาณปี 2561 ตั้งไว้ 3,130 ล้านบาท แล้วยอดปีก่อนหน้านี้เหลือเท่าไร ถามไปทางเจ้าหน้าที่ก็ไม่ตอบ รู้สึกเป็นเรื่องที่แปลก เพราะมั่นใจว่า ตั้งแต่วงเล็บ 3-6 เกษตรกร/สถาบันเกษตรกร นับตั้งแต่มี พ.ร.บ. การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ.2558 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ใช้น้อยมาก จะยื่นเรื่องนี้ให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบความไม่ชอบมาพากล”

ขณะที่นายสังข์เวิน ทวดห้อย กรรมการในคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) (บอร์ด) กล่าวว่าที่ประชุมบอร์ดได้เห็นชอบตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม 2561 เรื่องประกันชีวิตให้กับเกษตรกรชาวสวนยาง โดยจ่ายค่าเบี้ยประกันให้คนละ 100 บาทต่อปี เฉพาะเกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนไว้กับ กยท. จำนวน 1.35 ล้านราย หรือ 135 ล้านบาท ความคืบหน้าผ่านมา 1 เดือน ได้ทำทีโออาร์เพื่อเสนอให้บริษัทประกันมาประมูล เรียบร้อยแล้ว แต่พอจะยื่นเรื่องให้รักษาการผู้ว่าฯกยท.เซ็นอนุมัติ เจ้าหน้าที่ได้ลาออกเสียก่อน ต้องแต่งตั้งใหม่ ทำให้เรื่องล่าช้า

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,375 วันที่ 17-20 มิถุนายน 2561

web-01