จัดแถวโรงแรมเถื่อน

19 มิ.ย. 2561 | 07:03 น.
จัดแถวโรงแรมเถื่อน กล่อม3บิ๊กOTAขายห้องพักถูกกฎหมาย

ททท.เร่งหารือ Agoda-Booking.com และ Expedia ขอความร่วมมือขายห้องพักโรงแรมถูกกฎหมาย ด้านทีเอชเอจ่อหารือคลังให้อินเซนทีฟดึงตั้งสำนักงานในไทย

การเติบโตของธุรกิจโรงแรมขยายตัวอย่างรวดเร็ว ประเมินว่ามีโรงแรมที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายทั่วประเทศอยู่ราว 20,000 แห่ง แต่พบว่ามีโรงแรมเถื่อนหรือไม่มีใบอนุญาตถูกต้องตาม พ.ร.บ. โรงแรมพ.ศ. 2547 อีกกว่า 10,000 แห่งทั่วประเทศ สร้างความไม่เป็นธรรมแก่ผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจอย่างถูกกฎหมายและเสียภาษีอย่างถูกต้อง ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งหารือเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว เพื่อจัดระเบียบโรงแรมใหม่ให้ตามทันการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

ยุทธศักดิ์ ศุภสร นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า หลังได้รับคำสั่งจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ททท. ได้ประสานงานเชิญออนไลน์ เทรเวล เอเยนต์ (โอทีเอ) ระดับโลก 3 ราย ประกอบด้วย Agoda, Booking.com และ Expedia ทันทีเพื่อร่วมหารือหาทางออกในการขายห้องพักโรงแรมที่ถูกกฎหมายซึ่งเบื้องต้นจะเป็นการขอความร่วมมือ ให้ขายห้องพักโรงแรมที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายโดยดูตามเอกสารการจดทะเบียนของกระทรวงมหาดไทยเป็นหลัก

“เราขอหารือความเป็นไปได้ เพราะเป็นห่วงในเรื่องความปลอดภัย ต้องเห็นแก่ธรรมาภิบาล และอาจมีการจัดดาวให้โรงแรมต่างๆ ด้วยเป็นการช่วยตรวจสอบคุณภาพอีกทางหนึ่ง  ส่วนโรงแรมที่ยังไม่ได้จดทะเบียนตามกฎหมายและอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการ ททท.ก็จะมีมาตรการช่วยเหลือ เช่นถ้ามีปัญหาเรื่องทางหนีไฟ เราอาจจะหาสถาบันการเงินของรัฐ เอสเอ็มอีแบงก์ หรือออมสิน เข้ามาช่วยสนับสนุนทางการเงิน และททท. จะช่วยเรื่องการตลาด เป็นต้น” ผู้ว่าการ ททท.กล่าว

ด้านนางสาวศุภวรรณ ถนอมเกียรติภูมิ นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) เผยว่าทีเอชเอ จะเร่งผลักดันโรงแรมที่ผิดกฎหมายให้เข้ามาอยู่ในระบบเพิ่มมากขึ้น และเร่งให้ภาครัฐบังคับใช้มาตรการทางกฎหมายควบคู่กันไป เนื่องจากเป็นเวลากว่า 5 ปีต่อเนื่องแล้ว ที่อัตราการเข้าพักโรงแรมที่ถูกกฎหมายมีอัตราการเข้าพักของนักท่องเที่ยวทั้งปีเฉลี่ยอยู่ที่ราว 55-60% ซึ่งสวนทางกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มสูงขึ้น โดยมีสัดส่วนนักท่องเที่ยวไทยอยู่ที่ 80% และนักท่องเที่ยวต่างชาติ 20%

ที่เป็นเช่นนี้เกิดจากปัญหาสะสมของห้องพักที่ไม่ได้จดทะเบียนโรงแรมถูกต้องตามกฎหมาย ส่งผลให้โรงแรมที่เป็นสมาชิกของสมาคม ได้รับผล กระทบโดยเฉพาะช่วงโลว์ซีซันอัตราการเข้าพักหายไปถึง 10-15% ยิ่งปัจจุบันการประชาสัมพันธ์ ของห้องพักผิดกฎหมายผ่านเว็บไซต์และโซเชียลมีเดีย มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในเมืองท่องเที่ยวชายทะเล ซึ่งหัวหินมีมากกว่า 1,000 ยูนิต ทำให้ผู้ประกอบการโรงแรมที่ดำเนินธุรกิจอย่างถูกต้องได้รับผลกระทบ และรัฐไม่สามารถจัดเก็บภาษีได้

“ขณะนี้จะเห็นภาครัฐมีการจับกุมผู้ประกอบการที่ผิดกฎหมายเพิ่มมากขึ้น รวมถึงการผลักดันให้ผู้ประกอบการออนไลน์ ทราเวล เอเยนต์ (โอทีเอ) ให้ความร่วมมือในการขายโรงแรมที่ถูกกฎหมาย”

นายสัมพันธ์ แป้นพัฒน์ ที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมาย ทีเอชเอ กล่าวเสริมว่า จากการที่รัฐไม่สามารถเก็บภาษีห้องพัก ผิด กฎหมายหรือแม้แต่ AirBnb ที่ขายห้องพักในไทย ทีเอชเอ ได้หารือกันใน คณะกรรมการฯเพื่อเสนอไปยังกระทรวงการคลังว่า หากรัฐบาลต้องการให้โอทีเอรายใหญ่เข้ามาตั้งบริษัทในไทย เพื่อเก็บภาษีได้ อาจจะต้องมีการลดภาษีให้เขาเป็นกรณีพิเศษ หรือมีมาตรการส่งเสริมให้เข้ามาลงทุนมากกว่าที่เป็นอยู่

“เนื่องจากก่อนหน้านี้ ทีเอชเอ เคยหารืออย่างไม่เป็นทาง การกับโอทีเอเหล่านี้ ถึงสาเหตุที่ไปตั้งสำนักงานที่ประเทศสิงคโปร์ ทั้งที่การขายส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในไทย ได้รับคำตอบว่าค่าใช้จ่ายในการตั้งสำนักงานที่สิงคโปร์ถูกที่สุดเพราะรัฐบาลเขาสนับสนุน”

ส่วนการแก้ปัญหาโรงแรมผิดกฎหมาย นอกจากการจับกุม ซึ่งบทลงโทษตามพระราชบัญญัติ โรงแรม พ.ศ. 2547 ไม่ถือว่ารุนแรง เพราะจับ ปรับ แล้วก็กลับมาเปิดใหม่ จึงได้นัดหารือกับอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมืองในวันที่ 19 มิถุนายนนี้ เพื่อขอให้มีการใช้พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ควบคู่ไปด้วย เพื่อปิดการใช้อาคาร เพราะถือว่าใช้อาคารผิดประเภท เพราะเหตุเกิดขึ้นแล้ว

หน้า 22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่38 ฉบับ 3,375 ระหว่างวันที่ 17 - 20 มิ.ย. 2561

e-book-1-503x62-7