อัดงบหมู่บ้าน เพิ่ม 2 หมื่นล้าน ‘นที’ ปัดรัฐหาเสียงล่วงหน้า

17 มิ.ย. 2561 | 06:00 น.
วันที่ 13 มิถุนายน 2561 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เตรียมคิกออฟโอนเงินเพิ่มเติมอีก 2 หมื่นล้านบาท ให้กับกองทุนหมู่บ้านฯ

นายนที ขลิบทอง ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ(กทบ.) ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เป็นการประกาศว่า ทุกกองทุนที่มีความพร้อมประมาณ 66,000 กองทุน สามารถส่งโครงการได้ทันที ถ้าผ่านการพิจารณาจะสามารถโอนเงินจำนวน 3 แสนบาทต่อกองทุน ตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายน เป็นต้นไป ตามโครงการที่ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต ซึ่งต่อเนื่องจากปี 2559-2560 ที่ช่วยให้เกิดโครงการบริการประชาชนจำนวนมาก ทั้งลานตาก ยุ้งฉาง โรงสีของหมู่บ้านและชุมชน เพราะเป็นโครงการที่ชาวบ้านเสนอเอง เป็นเจ้าของโครงการในชุมชนของเขา โดยไม่ต้องกลัวว่ามาใช้บริการแล้วจะถูกเอาเปรียบ
609281272 “เขาเป็นเจ้าของโรงสีที่ผ่านกองทุนหมู่บ้านฯ เขาเป็นเจ้าของร้านค้าประชารัฐที่ดำเนินการโดยกองทุนหมู่บ้านฯ สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่บริการความต้องการเขาได้ หมายถึงลดต้นทุนในการบริโภค สร้างทางเลือกในการบริโภค และทำให้เขาได้ตรงความต้องการมากที่สุด และเชื่อว่าเขาจะไม่ถูกเอาเปรียบจากชุมชนของเขาเอง”

ส่วนวิธีการจัดสรรงบประมาณให้กับกองทุนหมู่บ้านฯ รัฐบาลได้จัดงบประมาณเป็น 2 มิติ ต่างจากอดีตที่ผ่านมาที่ให้เงินเพื่อเป็นธนาคารให้ประชาชน เป็นการกู้ยืมรายบุคคล โดยใช้งบประมาณ 1.8 แสนล้านบาทเป็นเงินทุนประเดิม ส่วนรัฐบาลปัจจุบันให้งบในกองทุน 2 มิติ มิติแรก เป็นเงินกู้ยืมเพิ่มเติม หรือการเพิ่มทุน 2 ระยะ ระยะที่ 1 ให้ 4 หมื่นล้านบาท ดอกเบี้ย 5% ให้กองทุนนำไปบริหารปล่อยให้กู้ยืมต่อ ระยะที่ 2 อีก 6 หมื่นล้านบาท ดอกเบี้ย 0% สรุปแล้วรัฐบาลนี้ให้เงิน 1 แสนล้านบาท แต่เป็นเงินกู้หมุนเวียนกับกองทุนไปดำเนินการต่อเนื่อง มิติที่ 2 รัฐบาลให้งบกับประชารัฐ รอบ 2 ปีที่ผ่านมาวงเงิน 5 หมื่นล้านบาท ส่วนรอบใหม่นี้ก็อีก 2 หมื่นล้านบาท
32363
วันที่ 25 กรกฎาคมนี้ จะครบ 17 ปี กองทุนหมู่บ้านฯ ซึ่งได้รับเงินกว่า 3 แสนล้านบาทจากรัฐบาล สำหรับความสำเร็จของกองทุนหมู่บ้านฯหากมองเฉพาะตัวเลขกว่าแสนล้านบาทที่รัฐบาลอนุมัติลงไป ต้องดูจากบัญชีของกองทุนหมู่บ้านฯที่ปรากฏในบัญชีธนาคารออมสิน  ธ.ก.ส. และธนาคารกรุงไทย ที่กองทุนหมู่บ้านฯจะนำเงินไปฝาก ปรากฏว่ามียอดเงินในบัญชีที่รัฐจัดไปให้ยังคงอยู่เท่านั้น แต่มีเงินงอกเงยจากการดำเนินการ คือการระดมเงินออม มีการขายหุ้น มีผลตอบแทนกลับคืนมา เป็นวงเงินไม่น้อยกว่า 5 หมื่นล้านบาท ที่เกิดขึ้น 17 ปีที่ผ่านมา

“ทำให้เรามั่นใจได้ว่า 17 ปีที่ผ่านมา ชาวบ้านเขารักษาเงินของรัฐอยู่ได้ อย่าดูถูกคนไทย อย่าดูถูกพี่น้องในชุมชนว่าไม่สามารถดูแลเงินได้ วันนี้กองทุนหมู่บ้านฯคือบทเรียนหนึ่งที่พิสูจน์ว่าเขารักษาเงินของแผ่นดินได้ มิหนำซํ้ายังทำให้เงินงอกเงยจากหลักฐานประจักษ์ชัดจากบัญชีหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้น”
337383
สำหรับการประเมินกองทุนหมู่บ้านฯว่ามีความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน นายนที ชี้แจงว่า มีการสุ่มตัวอย่างและการประเมินทุกกองทุนทั่วประเทศเป็นวงรอบ ซึ่งประเมินมาแล้ว 3 ครั้ง รอบปี 2546-2547 / 2551-2552 / และ 2554-2555 พบว่าทั้ง 3 ครั้ง ผลประเมินออกมาใกล้เคียงกัน คือกองทุนที่เดินไปได้ดีเกินความคาดหมาย มีเงินทุนหมุนเวียนในกองทุนหลายสิบล้านบาท อันดับ 1 มีมากถึง 200 ล้านบาท ซึ่งจำนวนนี้มี 30% ทั่วประเทศ ซึ่งกลุ่มนี้อยู่ในระดับ A ส่วนระดับ B ถือว่าเป็นระดับที่ดี ประมาณ 40% ดังนั้นรวม A กับ B แล้วมีจำนวน 70%

ระดับเฉลี่ยปานกลาง หรือ C เงินรัฐไม่หาย เงินผลตอบแทนกลับคืนมาพออยู่ได้ประมาณ 20% ส่วนระดับที่มีปัญหาจริงๆ มี 10% หรือกว่า 7 พันกองทุน ที่อยู่ในระดับที่ห่วงใย ยังต้องติดตามแก้ไขปัญหา เพราะมีความขัดแย้ง ปัญหาการฟ้องร้องดำเนินคดี หรือมีการดำเนินการที่เกิดความไม่สบายใจ ดังนั้นการเติมเงินรอบใหม่ 3 แสนบาท กองทุนใดก็ตามที่ไม่เข้มแข็งจะไม่ได้เงินก้อนนี้ เพราะอยู่ในผลการประเมินที่ไม่เข้มแข็งพอ ไม่ใช่ว่าตามแนวทางประชารัฐใครก็ได้ แต่ต้องเป็นผู้ที่ได้รับความเชื่อมั่นว่าได้ดำเนินการให้เกิดความมั่นใจ ไม่ทำลายเงินเหล่านี้ให้สูญเปล่า

“แต่ไม่ใช่ว่าเราจะให้เงินรอบใหม่เฉพาะกลุ่ม A และ B เราให้ทุกกองทุน แต่ต้องมีผลการดำเนินงานมาแสดง ว่าผ่านเกณฑ์หรือไม่ ปรากฏว่ามียังไม่ถึง 7 หมื่นกองทุน ที่ผ่านเกณฑ์ ซึ่งเป็นกลุ่ม C และ กลุ่ม D ที่ยังห่วงใยกังวลต้องแก้ปัญหาตัวเอง สร้างความเข้มแข็งก่อนถึงจะไปบริการและดูแลคนอื่น ซึ่งกลุ่ม C และกลุ่ม D นอกจากจะต้องไปทำความเข้าใจแล้ว รัฐบาลยังกระตุ้นให้เขาเกิดความพยายามว่าจะต้องพิสูจน์ตัวเอง เพราะเขาไม่ได้เงินไปช่วยเหลือประชาชน เขาก็เกิดคิดว่าเขาจะทำอย่างไรให้ผ่านตรงนี้ไปได้ จะได้รับประชารัฐกับเขาบ้าง กลายเป็นแรงจูงใจแรงกระตุ้น ทำให้กระตือรือร้น ขวนขวาย ยืนยันว่าการมีประชารัฐเป็นแรงจูงใจการแก้ปัญหาของกองทุนอีกลักษณะ ทำให้กองทุนที่อ่อนแอลุกกลับขึ้นมาเพื่อสร้างความเข้มแข็งมากขึ้น”
337386 นอกจากนี้ นายนที ชี้แจงกรณีที่มีการวิจารณ์กันว่านโยบายประชารัฐรอบนี้ที่เติมเงินลง 3 แสนบาท เป็นมาตรการหาเสียงรองรับการเลือกตั้งหรือไม่ ว่า ต้องให้คนที่พูดหรือใครที่คิดเรื่องนี้ อยากให้มอง 3 ประเด็น คือ 1. เงินที่ให้กับกองทุนหมู่บ้านฯ ไม่ใช่เงินไปแจกแบ่งกัน แต่กองทุนนำเงินไปทำงาน และเป็นประโยชน์กับส่วนรวม ไม่ใช่เงินบริโภคส่วนตัว เอาเงินไปดำเนินการเพื่อส่วนตัว แต่เอาเงินไปทำงาน ฉะนั้นต้องเป็นการให้งานโดยเงิน จึงถามว่านำไปหาเสียงได้หรือ ในเมื่อไม่ได้เอาเงินไปแจก

2. ไม่ใช่เพิ่งเป็นการให้เงินในปีนี้ แต่รัฐบาลนี้ให้มาทุกปี ตั้งแต่ปี 2558 เพราะฉะนั้นรัฐบาลมองประโยชน์ของกองทุนหมู่บ้านฯในกระบวนการดำเนินการมาตั้งแต่เริ่มต้น ไม่ใช่เพิ่งมามองในปีนี้ ดังนั้นก็บอกไม่ได้ว่าเพิ่งมาให้ปีนี้เพื่อหาเสียง

3. เราบอกให้ทุกกองทุนก็จริง แต่ไม่ได้หลับตาให้ กองทุนต้องพิสูจน์โครงการ ประโยชน์ที่ได้รับ ว่ากองทุนเข้มแข็งจริง ดำเนินการได้จริง ประชาชนได้ประโยชน์จริงก่อน
443124 “ถ้าหากหาเสียงเอาเงินไปแจก ทุกคนก็คงจะได้ และไปทำอะไรก็ได้ แต่วันนี้ไม่ใช่ โครง การประชารัฐที่กำลังทำตรงนี้หวังผลให้พี่น้องประชาชนทุกคนได้ประโยชน์ เพียงแต่ให้กองทุนหมู่บ้านฯเป็นตัวขับเคลื่อนโครง การเท่านั้น และอยากจะบอกว่าเป็นการช่วยพัฒนาหมู่บ้านและชุมชนโดยใช้กระบวนการของเงินทำให้การทำงาน เกิดความปรองดอง การพูดคุยกันภายในหมู่บ้านและชุมชน เพื่อให้เกิดประชาคม โครงการจะไม่เกิดถ้าไม่มีการพูดคุยกัน เงินตรงนี้ไปกระตุ้นให้คนหันหน้าคุยกัน เกิดเสียงส่วนใหญ่ ทำให้เกิดความต้องการ ความคิดในการแก้ปัญหาร่วมกัน ผมขออนุญาตใช้คำว่าเป็นเครื่องมือให้กำลัง ส่งเสริมความดี” นายนที ระบุ

|สัมภาษณ์พิเศษ : นที ขลิบทอง ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ(กทบ.)
|โดย : ทีมข่าวการเมือง
|เซกชั่นการเมือง หน้า 16 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ
|ฉบับ 3374 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 14-16 มิ.ย.2561
e-book-1-503x62-7