ดีเดย์! 'บัตรคนจน' จ่ายค่ารถไฟฟ้า ก.ค. นี้ 2 เส้น "น้ำเงิน-ม่วง"

15 มิ.ย. 2561 | 03:47 น.
150661-1037

น.ส.สุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ได้หารือกับกรมบัญชีกลางและธนาคารกรุงไทย ว่า จะสามารถให้บริการบัตรสวัสดิการของรัฐในระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนได้ในเดือน ก.ค. โดยจะเริ่มจาก 2 เส้นทาง คือ สายสีน้ำเงิน หัวลำโพง-บางซื่อ และสายสีม่วง เตาปูน-คลองบางไผ่ เพราะได้ปรับปรุงระบบบัตร เพื่อรองรับบัตรสวัสดิการได้แล้ว แต่จะต้องไปอัพเวอร์ชันในสถานีรถไฟฟ้าตามที่บริษัทแจ้ง คือ วันที่ 6 ก.ค. - 30 ก.ย. นี้ก่อน เนื่องจากบัตรสวัสดิการเป็นเวอร์ชัน 2.0 แต่ระบบรถไฟฟ้าเป็นเวอร์ชัน 2.5 ซึ่งกรมบัญชีกลางได้เตรียมระบบใช้มาตั้งแต่มีบัตรที่ทำร่วมกับ สนข. แล้ว เป็นคอมพิวเตอร์สำหรับอัพเวอร์ชัน ซึ่งจะให้ทาง BEM ยืมไปใช้ 30 เครื่อง และทางบริษัทหาเพิ่มเติมอีก เพราะมีกว่า 30 สถานี เพื่อไปวางไว้ให้ครบตามสถานีต่าง ๆ

"เรามีเครื่องอัพเวอร์ชันอยู่แล้ว เรียกว่า เครื่องปิ้งบัตร ก็เพียงแต่เอาบัตรไปวางไว้บนเครื่อง ก็จะอัพจาก 2.0 เป็น 2.5 ก็สามารถใช้ในระบบรถไฟฟ้าได้เลย ซึ่งปัจจุบัน มีผู้ถือบัตรแมงมุมทั้งหมด 1.6 ล้านราย ใน 7 จังหวัด กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีวงเงิน 500 บาทต่อเดือน โดยระบบบัตรแมงมุมจะเรียกว่า เติมเงินหน้าบ้าน เมื่ออัพเวอร์ชันบัตรแล้วนำไปใช้ แตะกับเครื่องของรถไฟฟ้า จึงจะโชว์จำนวนเงินขึ้น หากใช้เต็มวงเงินก็จะไม่สามารถใช้ได้อีก จนกว่าจะเดือนถัดไป และหากทุกคนใช้ 1.6 ล้านราย จะเป็นเงินงบประมาณ 800 ล้านบาท แต่เฉพาะ กทม. เอง บัตรแมงมุมไม่ถึง 1 ล้านราย และทุกคนไม่ได้อยู่ในพื้นที่รถไฟฟ้า"


P1-ear

สำหรับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์และรถเมล์ ขสมก. ตามแผนจะเริ่มใช้ในวันที่ 1 ต.ค. นี้ เพราะต้องไปปรับระบบเครื่องอ่านบัตร โดยที่ผู้ถือบัตรเองไม่ต้องนำบัตรไปอัพเกรด ถ้าระบบพร้อมก็ใช้ได้เลย ซึ่งในส่วนของ ขสมก. จะต้องจัดหาเครื่องอ่านบัตรที่เป็นลักษณะเหมือนโมบายไว้กับกระเป๋ารถเมล์ ซึ่งกำลังหาเจ้าภาพว่า หน่วยงานไหนที่จะเป็นคนลงทุนซื้อเครื่องดังกล่าวให้กับ ขสมก. ดังนั้น อาจจะล่าช้ากว่าที่กำหนดวันที่ 1 ต.ค. ก็เป็นได้ เพราะแม้แต่รถไฟฟ้าเอง ที่กำหนดเริ่มใช้วันที่ 15 มิ.ย. ยังเลื่อนออกไป

สำหรับความคืบหน้าในการติดเครื่องรับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (อีดีซี) ล่าสุด ณ วันที่ 4 มิ.ย. รวม 30,393 จุด โดยแยกเป็นร้านธงฟ้าประชารัฐและกองทุนหมู่บ้านฯ 28,910 จุด โดยเป็นกองทุนหมู่บ้านฯ 2,000 จุด ที่เหลือเป็นร้านธงฟ้า ซึ่งติดตั้งครบตามกำหนดหมดแล้ว เหลือกองทุนหมู่บ้านฯ อีก 8,000 จุด ก็จะครบ 1 หมื่นจุด ตามเป้าหมายได้ ส่วนที่เหลือเป็นร้านก๊าซหุงต้ม 828 จุด , บขส. 121 จุด และรถไฟ 534 จุด เหลืออีก 8,000 จุด ที่เป็นกองทุนหมู่บ้านฯ ซึ่งจะดำเนินการให้เสร็จภายในเดือนนี้ ก็จะทำให้เครื่องอีดีซีครบ 38,000 จุด ตามเป้าหมายของรัฐบาลได้


Desktop-EDC

สำหรับการใช้บัตร เริ่มใช้เดือน ต.ค. 2560 - 31 พ.ค. 2561 รวม 8 เดือน มีการใช้เงินงบประมาณไปแล้ว 27,349 ล้านบาท โดยเป็นร้านธงฟ้าประชารัฐ 93,494,280 รายการ คิดเป็นเงิน 27,078 ล้านบาท รวมการเติมเงินเข้าบัตรเฟส 2 อีกเดือนละประมาณ 1,000 ล้านบาท จากเดิมที่ใช้ประมาณ 3,000 ล้านบาท ส่วนก๊าซหุงต้มใช้ไป 761,532 รายการ คิดเป็นเงิน 34.24 ล้านล้านบาท , บขส. 231,679 รายการ เป็นเงิน 80 ล้านบาท และรถไฟ 1,457,644 รายการ เป็นเงิน 155,92 ล้านบาท

นอกจากนั้น จากการลงทะเบียนเพื่อฝึกอาชีพ มีจำนวนผู้ถือบัตรสวัสดิการมาลงทะเบียนทั้งสิ้น 6,587,759 คน รวมเป็นเงินที่จะต้องใส่เข้าไปในบัตรเพิ่มอีก 100 บาท และ 200 ราย เป็นเงินทั้งสิ้น 1,152,713 ล้านบาท


433647

"กรมบัญชีกลางยังไม่มีแนวคิดที่จะนำระบบ QR Code มาใช้กับบัตรสวัสดิการรัฐ เพราะยังมีเรื่องที่ต้องแสดงตัวตนในบัตรด้วย ขณะนี้ มีเพียงการเพิ่มวงเงินที่ได้รับอนุมัติในเรื่องการฝึกอาชีพ และเร่งติดตั้งเครื่องในกองทุนหมู่บ้านให้ได้ตามเป้าหมาย 10,000 จุด ให้เสร็จภายในเดือนนี้ ซึ่งหากติดตั้งเครื่องอีดีซีครบ จะทำให้การใช้บัตรสวัสดิการสะดวกขึ้น เพราะเท่าที่ประเมินพบว่า คนเริ่มคุ้นเคยจากการใช้บัตร จากเดิมที่ใช้ 1-2 พันล้านบาทต่อเดือน ขณะนี้ เต็มเพดานที่กำหนดไว้ 3 พันล้านบาท และยังมีเงินที่ใส่เพิ่มเข้าไปอีก 1 พันล้านบาทต่อเดือน ตั้งแต่ มี.ค. ที่ผ่านมา ถือว่าเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐบาลที่ต้องการช่วยเหลือค่าครองชีพ เพราะส่วนใหญ่เป็นการใช้เงินเพื่อซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค"


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,374 วันที่ 14-16 มิ.ย. 2561 หน้า 15

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
คลังจัดแก้ปัญหาหนี้นอกระบบและมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตบัตรคนจนจ.บุรีรัมย์
'กุลณี' เร่งสปีดผลงาน! ลุยบัตรคนจน เฟส 2 แจ้งเกิดธุรกิจใหม่ 7.5 หมื่นราย


e-book-1-503x62-7