เฟดฉุดตลาดหุ้นเกิดใหม่โยกลงทุนตราสารหนี้แนวโน้มดอกเบี้ยขยับ

20 มิ.ย. 2561 | 06:25 น.
ตลาดหุ้นเกิดใหม่ทั่วโลกทรุด รับเฟดขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ตามคาด โยกเงินลงทุนในตราสารหนี้แทน หลังเฟดส่งสัญญาณปรับดอกเบี้ยขึ้น 4 ครั้งปีนี้ชัดเจนขึ้น จากเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างแข็งแกร่ง

สิ่งที่ตลาดจับตาการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน(FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด)เมื่อวันที่ 13 มิถุนายนที่ผ่านมา ไม่ใช่มติการปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25% เพราะตลาดคาดการณ์ไว้แล้ว แต่เป็นถ้อยแถลงมากกว่าว่า เฟดจะแสดงท่าทีอย่างไร ซึ่งก็พบว่า เฟดปรับเปลี่ยนการใช้ถ้อยคำในแถลงการณ์เพื่อแสดงว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯปรับตัวดีขึ้น

โดยเฟดระบุว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจ “ได้ปรับตัวขึ้นในอัตราที่แข็งแกร่ง” จากเดิมที่ใช้คำว่า“ได้ปรับตัวขึ้นปานกลาง”ในการประชุมเดือนมีนาคม ส่วนอัตราการว่างงาน “ได้ลดลง” จากเดิมที่ใช้คำว่า “อยู่ในระดับตํ่า” และการใช้จ่ายของภาคครัวเรือน “ได้ปรับตัวขึ้น” จากเดิมที่ใช้คำว่า “ได้ชะลอตัวลง”

นายวิทัย รัตนากร เลขาธิการ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ(กบข.)เปิดเผยว่า ถ้อยแถลงของเฟดทำให้ตลาดเชื่อมั่นว่า จะมีการปรับดอกเบี้ยขึ้นเป็นครั้งที่ 4 ในปีนี้ จากเดิมที่ความเชื่อมั่นอาจจะอยู่ที่ 20-30% ก็เพิ่มเป็น 50% ดังนั้นจึงเกิดการเทขายในสินทรัพย์เสี่ยงคือ หุ้นและสินค้าโภคภัณฑ์ และหันไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ปลอดภัยคือ พันธบัตรและตราสารหนี้ ทำให้เห็นว่าหลังจากที่เฟดขึ้นดอกเบี้ย ทำให้ตลาดหุ้น โดยเฉพาะตลาดเกิดใหม่ทั่วโลกปรับตัวลง โดยเฉลี่ยประมาณ 1%     Print

“ตลาดหุ้นไทยเองก็ปรับลง และหุ้นลงรอบนี้ไม่เหมือนเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อนที่ Downside risk มีจำกัด เมื่อหุ้นลงก็จะมีแรงรับเข้ามา แต่รอบนี้มีโอกาสที่จะปรับลงอีกพอควร แต่ก็ยังสามารถทยอยเข้ามาซื้อได้ แต่สภาพคล่องที่ไหลเข้าตราสารหนี้ ก็จะเป็นตัวเร่งให้ดอกเบี้ยพันธบัตรขยับขึ้นก่อนที่สภาพคล่องจะไปผลักให้ดอกเบี้ยในตลาดอื่นๆ อย่างตลาดเงินขยับขึ้นตาม” นายวิทัยกล่าว

ด้านนางชวินดา  หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน)กล่าวว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา นักลงทุนสถาบันและนักลงทุนต่างชาติได้เข้ามาซื้อสุทธิในตลาดตราสารหนี้ไทยประมาณ 35,437 ล้านบาท ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ในประเทศปรับตัวลดลงทุกช่วงอายุ ขณะที่อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกช่วงอายุตามแรงขาย เพื่อลดความเสี่ยงหลังตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนพฤษภาคมออกมาดีกว่าคาด รวมถึงเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นตามอัตราผลตอบแทนในฝั่งยูโรโซน หลังธนาคารกลางยุโรป(ECB) มีแนวโน้มจะลดขนาดการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ(QE)เร็วกว่าคาด

web-01-ad

ขณะเดียวกันการที่เฟดส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในช่วงที่เหลือของปีนี้ โดยคาดว่าจะปรับขึ้นในเดือนกันยายน และ ธันวาคม ส่งผลให้มีการคาดการณ์ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรวม 4 ครั้งในปีนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯมีการปรับตัวดีขึ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ปรับตัวขึ้นในอัตราที่แข็งแกร่ง ส่วนอัตราการว่างงานลดลงและการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนปรับตัวขึ้น โดยเฟดปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯในปีนี้ สู่ระดับ 2.8% จากเดิมที่ 2.7%

            หน้า 19 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,375 วันที่ 17-20 มิ.ย. 2561 e-book-1-503x62-7